14 ส.ค. 2019 เวลา 22:00 • การศึกษา
ทำไมอาหารรสเค็มถึงอร่อย?
ทำไมอาหารรสเค็มถึงอร่อย?
เคยสงสัยกันไหมครับว่า ทำไมอาหารรสเค็มถึงอร่อย และบ่อยครั้งก็ทำให้เราติดจนเกิดโรค?
จริงๆคำถาม ทำไมอาหารรสเค็มถึงอร่อยนี่หลายคนสามารถรู้ได้เลยทันที นั่นก็เพราะ"ในความเค็มมีโซเดียม แล้วโซเดียมมันจำเป็นกับร่างกาย"
แต่ แต่ แต่...คำถามที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ...
ทำไมหลายคนถึงติดกินเค็มจนเป็นโรคไต?
ทำไมเรากินเลย์หมดถุง ทั้งๆที่รู้ว่าโซเดียมเยอะๆมันไม่ดีต่อสุขภาพ?
มันก็ดูขัดแย้งหน่อยๆตรงที่ร่างกายเราต้องการถึงขนาดยอมเป็นโรคเลยเหรอ?
เราจะมีวิวัฒนาการให้ชอบกินเค็มแล้วป่วยตายไปเพื่ออะไร?
หรือมีอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังกันแน่?!!
เกลือที่เราคุ้นเคย
ถ้าคำตอบแบบรวบรัดก็คือ "เราอยู่ผิดที่ผิดทางครับ" ถามว่าผิดที่ผิดทางยังไง เดี๋ยว WDYMean จะเล่าให้ฟัง
เมื่อประมาณ 30 ล้านปีที่แล้ว แหล่งโซเดียมที่พอจะหาได้ของบรรพบุรุษเราตอนที่เป็นลิงกินพืชก็คือ ต้นไม้และต้นพืชต่างๆซึ่งก็ไม่เยอะเท่าไหร่
และเมื่อบรรพบุรุษของเรา เริ่มที่จะเดินสายเป็นผู้ล่าอย่างเต็มตัวเมื่อประมาณ 5 ล้านปีที่แล้ว ทำให้เราได้โซเดียมเพิ่มมากขึ้นจากเนื้อสัตว์ ซึ่งมากกว่าพืชผักที่เรากินในตอนนั้นพอสมควร
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อประมาณ 7 ถึง 8 พันปีที่แล้วนี้เอง สายพันธุ์ของเราแสดงแสนยานุภาพของสติปัญญาด้วยการผลิตเกลือกินเองจากกรรมวิธีพื้นๆ(นาเกลือ)
แล้วทั้งหมดที่พูดมามันเกี่ยวกับอยู่ผิดที่ผิดทางยังไง?
เกี่ยวก็ตรงที่ ในอดีตเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว การที่เราจะเอาโซเดียมเข้าสู่กระแสเลือดไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
เพราะการที่เราจะได้รับโซเดียมแต่ละครั้งจากมื้ออาหารนั้น เรากับเพื่อนๆในแก็งต้องรวมตัวกันไปล่ากวาง ล่าวัวป่าซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในที่โล่งกว้าง
ที่สำคัญคือ ไม่ใช่แค่บรรพบุรุษเราที่ต้องการจะเอาชีวิตกวางตัวน้อยๆที่กำลังเล็มหญ้าอยู่
แต่มีศัตรูมากมายนับไม่ถ้วนที่พร้อมจะแย่งเหยื่อไปจากเรา ไม่ว่าจะเป็น เสือดาว เสือชีตาร์ สิงโตเจ้าถิ่น หรือแม้แต่มนุษย์เราเอง(อีกเผ่านึง)
ซึ่งไม่ง่ายเลยที่แต่ละครั้ง เราจะได้เนื้อกลับมาพร้อมชีวิตและอวัยวะที่ครบ 32
เพราะบางครั้งเนื้อก็กลับมา แต่มากับเพื่อนไม่ได้มากับเรา
กวาง
นั่นทำให้เห็นว่า สารอาหารที่สำคัญอย่าง"โซเดียม"ไม่ได้หาง่ายเหมือนหยิบแล้วก็จ่ายตังอย่างในซูปเปอร์มาร์เกต
ปัจจัยที่โซเดียมหายากนี่แหละ ที่ทำให้"สมองของเรา"(และสมองสัตว์อื่นๆด้วยนะครับ) ไวต่อปริมาณโซเดียมในสารอาหารทุกชนิด
พอสมองเราไวต่อปริมาณโซเดียม หมายความว่าระดับความต้องการโซเดียมจะเพิ่มถึงขีดสุด(สัตว์ป่าไม่ได้มาให้ล่าบ่อยๆ) ตามมาด้วยการ"ชอบอาหารรสเค็ม" เพราะรสเค็มสื่อถึงปริมาณโซเดียมได้ดี
แต่แล้วหายนะก็เกิดขึ้น เมื่อมนุษย์เราสามารถที่จะผลิตเกลือได้เองจากน้ำทะเลเมื่อประมาณ 7 ถึง 8 พันปีที่แล้ว
ในอดีต ปริมาณโซเดียมจะสมดุลก็ต่อเมื่อ เราอยากที่จะกินเค็มสุดๆ เพราะโซเดียมแต่ก่อนมีน้อย ถ้าเราอยากกินมากๆก็ไม่เกิดผลเสียอะไร(แถมดีซะอีก)
อารมณ์เหมือน ขอเงินแม่ไปมากกว่า 100 บาท แต่แม่มีให้แค่ 10 บาทก็จะได้แค่ 10 บาทเท่านั้น ไม่มีทางได้เยอะไปกว่านี้
กลับกันคือ ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก สมองเราอยู่กับการที่โซเดียมหายากมาหลักสิบล้านปี แต่เราเพิ่งจะผลิตเกลือกินเองได้แค่ไม่กี่พันปีนี้เอง
นาเกลือ
สิ่งที่กิดขึ้นคือ สมองเราปรับตัวไม่ทัน สมองเรายังคิดว่าโซเดียมยังหายากอยู่
สมองเราก็เลยบอกให้เราตักตวงโซเดียมจากอาหารทุกมื้อ
จากขนมขบเคี้ยวและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกยี่ห้อ
จากน้ำจิ้มซีฟูดรสเด็ด
จากเฟรนช์ฟรายแสนอร่อย
จากอะไรอีกมากมายที่มีรสเค็มปนอยู่ในนั้น ให้มากที่สุด รสเค็มก็เลยอร่อย
จากเมื่อก่อนคือต้องการ 100 ได้ 10 แต่ทุกวันนี้กลายเป็น ต้องการ 100 ได้ 1,000 เผลอๆเป็นแสนเป็นล้าน
ผลที่ตามมาคือ โรคต่างๆก็จะพากันมารุมเร้า ซึ่งพี่ใหญ่สุดก็คือ ไตวาย ไตเสื่อม ตามมาด้วยน้องรักอย่าง ความดันสูง และโรคหัวใจ
ที่หลายคนชอบกินเค็มแล้วหยุดตัวเองไม่ได้จนทำให้เกิดโรคก็เพราะ
"สมองของเราเข้าใจผิดคิดว่าโซเดียมยังขาดแคลนอยู่นั่นเอง"
ขอบคุณที่อ่านกันจนจบครับผม😄
#WDYMean
หลังจากที่เรารู้สาเหตุที่เราชอบกินเค็มกันไปแล้ว เคยสงสัยไหมครับว่า
ทำไมเราชอบกินของหวาน?
ก็รู้ว่ากินเยอะแล้วไม่ดี แต่อะไรหล่ะที่เป็นเหตุให้เราชอบของหวานกันสุดๆ
อะไรที่ทำให้"สมอง"มองหาของหวาน"เสมอ"?
...ตอนหน้ามีคำตอบครับ...
ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับ BOOK IDEA เรื่องอาหารเค็ม
ถ้าชอบหรือถูกใจ ฝากกดไลค์เป็นกำลังใจให้กันด้วยนะครับ😄
#รูปภาพประกอบจาก
และ pixabay
#อ้างอิงและสรุปจาก
โฆษณา