16 ส.ค. 2019 เวลา 13:07 • ประวัติศาสตร์
ความขัดแย้งทางศาสนาของ 2 นิกายในล้านนา
จุดเริ่มต้นเมื่อปีพ.ศ. 1912 สมัยพญากือนา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ได้นิมนต์พระสุมนเถระจากสุโขทัยให้มาเผยแผ่พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์นิกายรามัญ(ฝ่ายสวนดอกหรือคามวาสี)ในเมืองเชียงใหม่ โดยครั้งแรกให้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระยืน ในเมืองหริภุญชัย ภายหลังเมื่อปีพ.ศ. 1914 พญากือนาสร้างวัดสวนดอกแล้วเสร็จจึงได้นิมนต์พระสุมนเถระมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสวนดอกแห่งนี้ ช่วงระยะเวลาที่พระสุมนเถระจำพรรษาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ได้เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ จนเป็นที่ยอมรับนับถือและเลื่อมใสศรัทธา กระทั่งชาวเมืองเชียงใหม่ส่งกุลบุตรมาบวชเรียนในสำนักของพระสุมนเถระเป็นจำนวนมาก และความเลื่อมใสศรัทธาดังกล่าวจึงมีการอุทิศถวายข้าวของ ทรัพย์สินเงินทอง ที่ดินนาจังหันและข้าวัดมากมายให้กับวัด ซึ่งส่วนใหญ่กษัตริย์และพระมหาเทวี(พระชนนี)จะเป็นผู้ถวายโดยเฉพาะวัดสำคัญๆ ด้วยเหตุนี้้พุทธศาสนาลังกาวงศ์นิกายรามัญฝ่ายสวนดอกหรือคามวาสีจึงได้เจริญรุ่งเรืองและแพร่หลายไปทั่วล้านนา ส่วนพระสงฆ์ในล้านนามีความตื่นตัวในการศึกษาพระธรรมวินัยมากขึ้นและเชื่อว่าพุทธศาสนาลังกาวงศ์นิกายรามัญ เป็นพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ อย่างไรก็ตามได้มีคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งนำโดยพระมหาญาณคัมภีร์เกิดความสงสัยเคลือบแคลงพระธรรมวินัยคำสอนของฝ่ายพระสุมนเถระ จึงได้รวมกลุ่มคณะสงฆ์จำนวน 39 รูปเดินทางไปศึกษาพระธรรมวินัยที่ลังกาทวีป(ประเทศศรีลังกา)เพื่อให้เกิดความถ่องแท้ในพระธรรมวินัยและวัตรปฏิบัติที่ถูกต้อง เมื่อศึกษาสำเร็จฝ่ายพระมหาญาณคัมภีร์ได้นำเอาพุทธศาสนาลังกาวงศ์นิกายสีหล(ฝ่ายป่าแดงหรืออรัญวาสี)ซึ่งเป็นอีกนิกายหนึ่งมาเผยแผ่ในเมืองเชียงใหม่เมื่อปีพ.ศ. 1974 สมัยพญาสามฝั่งแกน การเข้ามาของพุทธศาสนาลังกาวงศ์นิกายสีหลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหมู่คณะสงฆ์และเริ่มมีการเปรียบเทียบว่าฝ่ายไหนที่มีความเคร่งครัดวัตรปฏิบัติมากกว่ากันเพื่อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาต่อชาวพุทธให้ยอมรับนิกายของตน คณะสงฆ์ทั้งสองฝ่ายจึงเร่งใฝ่ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉานเพื่อจะนำมาโต้แย้งกัน จากความคิดเห็นที่แตกต่างกันนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดทั้งสองฝ่าย กระทั่งลุกลามกลายเป็นการกล่าวหากันอย่างรุนแรงแต่ละฝ่ายว่า เป็นพุทธศาสนาที่ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งฝ่ายนิกายสีหลกล่าวหาว่า พระสงฆ์ฝ่ายรามัญเป็นพวกอลัชชีเช่น ถือไม้เท้าบิณฑบาตร สะสมเงินทอง มีนาจังหันมาก เสียงสวดไม่ถูกต้องเช่น พุทธัง สรณัง ออกเสียงเป็น พุทธัม สรณัม พระสงฆ์ฝ่ายนิกายรามัญสืบสายมาจากพระอุปัชฌาย์ที่บวชไม่ครบองค์สงฆ์มาตั้งแต่สมัยตั้งสำนักแล้วคือ สมัยที่พระมหาสวามีอุทุมพรแห่งเมืองพัน(ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระสุมนเถระ)พร้อมศิษย์ 4 รูปไปศึกษาพระธรรมวินัยที่ีลังกา เมื่อเดินทางกลับเมืองพัน ระหว่างที่อยู่ในเรือสำเภาได้มีพระภิกษุมรณภาพไป 1 รูปจึงเหลือเพียง 4 รูป เมื่อไม่ครบองค์คณะ( 5 รูป)จึงไม่สามารถจะบวชพระภิกษุใหม่ได้ แต่พระมหาสวามีอุทุมพรจึงได้นำพระพุทธรูปมาตั้งแทนพระภิกษุสงฆ์ที่มรณภาพไปเพื่อให้ครบองค์ในการบวชลูกศิษย์ที่ติดตามไปด้วยเป็นพระภิกษุ ทางฝ่ายนิกายสีหลได้ตำหนิว่าไม่ถูกต้องและพระภิกษุที่บวชจากสำนักพระมหาสวามีอุทุมพรจึงไม่มีสภาวะเป็นพระสงฆ์ที่สมบูรณ์แม้แต่สักรูปเดียว รวมทั้งพระสุมนเถระ ส่วนฝ่ายนิกายรามัญก็กล่าวหาว่า ฝ่ายนิกายสีหลของพระมหาญาณคัมภีร์เป็นพวกทำลายศาสนา และขณะที่อยู่ลังกาไปเรียนพวกอวิชชากับชีเปลือยซึ่งเป็นโจรลักขโมยทองจังโกจากเจดีย์จนพระสงฆ์ที่ลังกาขับไล่
ความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายไม่สามารถจะปรองดองกันได้ แม้ว่าสมเด็จพระมหาโพธิธรรมกิตติ สังฆราชาเมืองเชียงใหม่พยายามจะไกล่เกลี่ยแล้วก็ตาม
(มีต่อ)
ในภาพคือ วัดพระญาร่วงในเมืองพะเยาซึ่งเป็นวัดในสังกัดนิกายสีหลฝ่ายอรัญวาสี สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2019 พระญายุทธิษฐิระเป็นผู้สร้าง
โฆษณา