17 ส.ค. 2019 เวลา 23:32 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
จีนใช้เทคโนโลยี VR บำบัดผู้ป่วยที่ติดสารเสพติด
สำนักข่าว China Xinhua News รายงานว่า คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเซี่ยงไฮ้ได้เปิดเผยว่า เร็วๆ นี้ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในเซี่ยงไฮ้เริ่มใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality หรือ VR) เข้ามาช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดเป็นแห่งแรกในประเทศจีน
คณะกรรมการอธิบายว่า คนไข้จะสวมหน้ากาก VR ซึ่งมีระบบติดตามการเคลื่อนไหวของดวงตา จากนั้นก็จะ “เดินเข้าไป” ในฉากจำลองที่มียาเสพติดอยู่ การเคลื่อนไหวของดวงตาและปัจจัยบ่งชี้ทางชีววิทยาอื่นๆ อย่างเช่น จังหวะการเต้นของหัวใจและการนำไฟฟ้าของผิวหนัง จะถูกบันทึกไว้เพื่อบ่งชี้ว่าคนไข้เสพติดยาในระดับใด โดยเป็นวิธีวินิจฉัยที่เที่ยงตรง
“ปัจจุบัน มีผู้ติดยาเสพติดประมาณ 700 รายในศูนย์ฟื้นฟู 2 แห่ง จากทั้งหมด 5 แห่งในนครเซี่ยงไฮ้ที่เริ่มใช้ระบบใหม่นี้มาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน” คณะกรรมการกล่าว ระบบใหม่นี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่เข้าใจสภาวะทางจิตใจของผู้ติดยาเสพติดและช่วยเจ้าหน้าที่ปรับแผนการรักษาให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละราย
ระบบดังกล่าวพัฒนาโดยศูนย์สุขภาพจิตเซี่ยงไฮ้ โดยร่วมกับสำนักจิตวิทยาและวิทยาการปัญญา มหาวิทยาลัยอีสต์ไชน่านอร์มอล (ECNU) และบริษัทเซี่ยงไฮ้ชิงเทค (Shanghai Qingtech) ซึ่งเชี่ยวชาญเทคโนโลยีติดตามการควบคุมดวงตา
รองผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูเผยว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการเลิกยาก็คือ เจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่ตัวผู้ติดยาเอง ยากจะรู้ได้ว่าพวกเขาติดยาเสพติดมากในระดับใด
“เมื่อก่อนเวลาคนไข้โดนถามว่าอยากยาไหม พวกเขาจะปฏิเสธโดยไม่ลังเล ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่คำตอบที่ซื่อสัตย์” เธอกล่าว “ตอนนี้เราสามารถพึ่งพาระบบใหม่ได้แล้ว”
นอกจากนี้ ระบบใหม่ยังสามารถจัดสรรวิธีการรักษาโดยลดความอ่อนไหวของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขากลับไปใช้ยาอีก
ทั้งนี้ สถิติจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติจีนระบุว่า หลังจากรับการรักษาจากเจ้าหน้าที่เป็นเวลา 2 ปี มีผู้เลิกยามากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ที่กลับไปเสพยาอีกภายใน 1 ปี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา