19 ส.ค. 2019 เวลา 00:44
มาทำความรู้จัก Active Listening หรือการฟังเชิงรุกกัน
“Active Listening” คืออะไร?
.
สมาพันธ์การโค้ชนานาชาติ (ICF) ได้ให้ความหมายของการฟังแบบ Active Listening ว่าเป็น “ความสามารถในการให้ความสนใจอย่างจดจ่อต่อทั้งคำพูด และสิ่งที่อีกฝ่ายไม่ได้พูดออกมา เพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพยายามจะสื่อความหมาย” ซึ่งถือว่าเป็นทักษะที่มีความสำคัญมากพอๆ กับทักษะการตั้งคำถามทรงพลัง (Powerful Question) เพราะคำถามที่ดีมาจากการฟังที่มีคุณภาพ เราสามารถแบ่งระดับของการฟังได้ เป็น 5 ระดับดังนี้
ระดับ 1 ไม่สนใจฟัง (Non-Listening)
เช่น การไม่สบตาผู้พูด หรือทำท่าทางกริยาที่ยุ่งๆ อยู่ไม่สนใจคนที่อยู่ตรงหน้า การฟังไปเล่นโทรศัพท์ไป เหมือนกับคนพูดยืนพูดคนเดียวอยู่หน้ากระจก
ระดับ 2 แกล้งฟัง (Pseudo listening)
รับคำ พยักหน้า แต่ไม่ได้ฟังจริง เป็นการทำกริยาท่าทางเหมือนฟัง มีตอบรับ ค่ะ อ้อ พยักหน้า แต่พอให้ทบทวนว่า ได้ยินอะไรบ้าง กลับตอบไม่ได้เพราะไม่ได้ฟังจริงๆ
1
ระดับ 3 เลือกฟัง (Defensive Listening)
เลือกฟังเฉพาะสิ่งที่อยากฟัง หรือคิดว่าเป็นประโยชน์ เป็นการฟังเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ใคร่รู้ เรื่องที่ตนเองคิดว่ามีประโยชน์ เรื่องใดไม่สนใจ ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ก็ไม่ใส่ใจ
3
ระดับ 4 ตั้งใจฟัง (Appreciative Listening)
ฟังเฉพาะที่อยากรู้ พอได้ข้อมูลก็ไม่ฟังต่อ แต่ว่าเป็นการตั้งใจฟัง เป็นการฟังที่ดีขึ้นมาอย่างมาก รับรู้รับฟัง เรื่องราวเนื้อหาของคนตรงหน้า มีการตอบสนองทางคำพูด หรือตอบรับคำว่า ได้เข้าใจและรับรู้เรื่องราวต่างๆ ฟังเก็บข้อมูลได้ครบเนื้อหาทุกสิ่งอย่าง
ระดับ 5 ฟังแบบเข้าอกเข้าใจ (Listening with Empathy)
เป็นการฟังแบบเข้าใจองค์รวมทั้งเนื้อหา อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด โดยผู้ฟัง ฟังในกรอบของผู้พูด โดยไม่ใช่ความเป็นตัวตนของตัวเองไปตัดสินหรือประเมินใดๆ เป็นการฟังด้วยหัวใจ (listen with heart) ฟังอย่างเข้าใจในตัวตนของผู้พูดจริงๆ การฟังระดับนี้นอกจากผู้ฟังจะสามารถเก็บข้อมูลได้ครบถ้วนแล้ว ยังสามารถสะท้อนความรู้สึก ความคิด หรืออารมณ์ของผู้พูดในขณะที่ผู้พูดพูดออกมา แต่ไม่รู้ตัวว่าได้แสดงอารมณ์ หรือความรู้สึกอะไรออกมาบ้าง
แล้วการฟังแบบเข้าอกเข้าใจ มันดีอย่างไร?
.
จริงๆ แล้วมันเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งที่เราสามารถนำมาใช้กับการทำงานได้ หากเราฟังอย่างเข้าใจ โดยไม่ไปรีบด่วนตัดสินในเรื่องนั้นๆที่ผู้พูดต้องการจะพูด ถึงแม้ว่าบางครั้งเราอาจจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้พูดพูดกับเราก็ตาม และเป็นไปได้ว่าเราจะเกิด Confirmation bias คือ การพยายามไปหาตัวอย่าง หรืออะไรก็ตามที่พิสูจน์ความเชื่อของเราเหล่านั้น โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่มันขัดแข้งกับความคิดของเราเลย
Active Listening เป็นสิ่งที่สามารถไปประยุกต์ใช้ได้กับทั้งการทำธุรกิจ เช่น การรับฟังลูกค้าอย่างเข้าอกเข้าใจ รู้ไปถึงความต้องการของลูกค้าที่แท้จริง เมื่อเรารู้ความต้องการที่แท้จริงและเราสามารถแก้ปัญหาบางอย่างให้กับเขาได้ สิ่งเรานี้มันดีมากต่อธุรกิจของคุณ
.
หรือแม้แต่การนำ Active Listening ไปใช้กับความสัมพันธ์ในครอบครัว การฟังอย่างเข้าใจของสามี/ภรรยา หรือแม้แต่สิ่งที่ลูกพยายามจะบอกกับเรา ทำให้เราทราบความต้องการ ความรู้สึก อารมณ์ของเขาอย่างแท้จริง และทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น เมื่อเข้าใจกันมากขึ้นแล้ว ชีวิตเราก็จะยิ่งมีความสุขมากขึ้นด้วย
ที่มา
-ICF ย่อมาจาก International Coach Federation หรือ สหพันธ์โค้ชนานาชาติ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองวิทยฐานะของสถาบันด้านการโค้ชทั่วโลก และ ออกใบประกอบวิชาชีพโค้ชในระดับสากล (ที่มา http://www.coachthai.com)
-ทฤษฎีการฟังจาก www.changemakers.com
โฆษณา