19 ส.ค. 2019 เวลา 02:33 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ก่อนเครื่องบินขึ้นและลง ผู้โดยสารจะต้องทำอะไรบ้าง?
บทความเรื่องนี้เป็นงานชิ้นที่สองแล้วครับ
ผมจะพยายามเขียนเรื่องราวใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบิน ในสไตล์ที่อ่านง่ายๆ ครับ
กดไลค์ คอมเมนท์ หรือติดตามเพื่อให้กำลังใจได้นะครับ
ขอบคุณมากครับผม
ช่วงก่อนที่เครื่องบินจะขึ้นและลง ทำไมต้องมีข้อห้ามสำหรับผู้โดยสารเยอะจัง?
เชื่อว่าปัจจุบันพวกเราเกือบทุกคนเคยมีประสบการณ์ในการเดินทางด้วยเครื่องบิน และหลายคนน่าจะโดยสารเครื่องบินแทบจะเป็นประจำ
เมื่อประตูเครื่องถูกปิดลงและเครื่องบินพร้อมเดินทาง Flight Attendant หรือแอร์โฮสเตส ก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบความพร้อมและความปลอดภัยก่อนเครื่องขึ้นบิน
สิ่งที่จำเป็นต้องทำเหล่านี้มีอะไรบ้าง และเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมต้องทำให้มันยุ่งยากด้วย
ภาพจาก https://www.dailymail.co.uk/travel/travel_news/article-2860566/Exercising-aisle-demanding-water-asking-upgrades-class-Flight-attendants-reveal-irritating-passenger-habits.html
สิ่งหนึ่งที่ทุกคนน่าจะเคยพบ คือ การสาธิตการใช้งานอุปกรณ์ฉุกเฉินและอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยต่างๆ
เรื่องนี้น่าจะค่อนข้างเข้าใจได้ครับว่าทำไมต้องสาธิต ที่ต้องสาธิตก็เพื่อให้เราใช้งานอุปกรณ์ได้อย่างถูกต้อง และพร้อมใช้งานหากมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น
แต่หลายคนก็อาจมีข้อสงสัยว่าทำไมเคยขึ้นเครื่องของบางสายการบิน แต่ไม่มีการสาธิต แล้วจะผิดข้อบังคับทางการบินหรือไม่
อ้างอิงข้อมูลจาก ICAO ในส่วนของ การประชุม APRAST ครั้งที่ 9 (จัดที่กรุงเทพมหานคร เมื่อ 31 ต.ค. – 4 พ.ย.59)
ในหัวข้อ 4.2.12.1 กำหนดให้สายการบินจะต้องทำให้มั่นใจ (เค้าใช้คำว่า Ensure) ว่าผู้โดยสารทุกคนมีความคุ้นเคยและสามารถใช้งานอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น เข็มขัดนิรภัย ประตูฉุกเฉิน เสื้อชูชีพ หน้ากากอ๊อกซิเจน เป็นต้น
ดังนั้นแต่ละสายการบินจึงสามารถใช้วิธีที่ต่างกันได้ เช่น บางสายการบินจะมีการสาธิตการใช้งาน บางสายการบินใช้วิธีการเปิดคลิปวีดีโอให้ดู หรือบางสายการบินแค่แจ้งให้ผู้โดยสารอ่านเอกสารความปลอดภัยซึ่งมีข้อมูลการใช้งานของอุปกรณ์ต่างๆ อธิบายอยู่
หากแต่ข้อมูลจาก ICAO เป็นเพียงแนวทางเพื่อความปลอดภัยทางการบินไม่มีผลบังคับทางกฏหมายต่อแต่ละประเทศ
โดยแต่ละประเทศจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ออกกฎหมายควบคุมของตนเอง เช่น FAA ของสหรัฐอเมริกา CAAT ของประเทศไทย
ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องดูด้วยว่าประเทศนั้นๆ มีระเบียบ หรือกฏหมายบังคับเช่นไร
นอกจากนี้ สายการบินเอง ก็สามารถออกระเบียบใช้ในสายการบินของตนได้ ถ้าไม่ขัดกับกฏหมาย (ประมาณว่า เข้มงวดกว่าที่กำหนดได้ แต่ห้ามน้อยกว่า)
นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมสายการบินต่างๆ จึงสามารถใช้วิธีการที่ไม่เหมือนกันได้
อีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องเจอคือการบังคับให้ผู้โดยสารเปิดม่านหน้าต่างให้สุด (ที่แอร์เค้าจะเดินตรวจนั่นแหละครับ) และมีการหรี่ไฟ (Dim) ของห้องโดยสารในเวลากลางคืน (ที่นักบินประกาศว่าจะหรี่ไฟ และใครจะอ่านหนังสือให้สามารถเปิดไฟตรงที่นั่งได้)
ในช่วงที่เครื่องบินทำการ Take Off และ Landing นับว่าเป็นช่วงที่เครื่องบินมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างมาก (ยกตัวอย่างเช่น การเกิด Bird Strike ตามที่ได้เล่าไว้ในบทความก่อน สามารถอ่านได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5d57a171f68bf70cb483e649)
ซึ่งการเปิดม่านหน้าต่างจะช่วยให้ Cabin Crew หรือผู้โดยสาร สามารถมองเห็นสภาพภายนอกเครื่องบิน ทำให้สามารถทราบได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น
และในกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นต้องทำการอพยพผู้โดยสารออกจากเครื่องบิน
โดยปกติเครื่องบินจะได้รับการออกแบบและทดสอบว่าสามารถทำการอพยพผู้โดยสารทั้งหมดออกจากเครื่องให้ได้ภายใน 90 วินาที (โดยใช้ทางออกแค่ครึ่งนึงของที่มี) ใช่ครับ เวลาเพียงนาทีครึ่ง ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นมาก
ดังนั้นลองนึกภาพดูว่า ในเวลากลางวันที่มีแสงภายนอกสว่างจ้า ถ้าคนในเครื่องบินปิดม่านไว้ ภายในห้องโดยสารก็จะมืดกว่า
เมื่อผู้โดยสารเริ่มอพยพมาถึงประตูเครื่องบิน ก็ต้องเสียเวลาเพื่อให้สายตาของผู้โดยสารแต่ละคนสามารถปรับสภาพให้เคยชินกับแสงจ้า
ในทางตรงกันข้ามในเวลากลางคืนที่ข้างนอกมีสภาพค่อนข้างมืด หากในห้องโดยสารเปิดไฟสว่าง ก็จะต้องปรับสภาพสายตากันอีก
จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะรักษาสภาพความสว่างภายใน/ภายนอกห้องโดยสารให้ใกล้เคียงกัน เพื่อให้สายตามีความคุ้นเคยและไม่ต้องเสียเวลาปรับสภาพกันอีก จะได้อพยพออกนอกเครื่องบินได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง
อีกเรื่องที่จะมีการเดินตรวจ คือ การปรับพนักเก้าอี้ตั้งตรง พับเก็บถาดวางของ และห้ามวางกระเป๋าหรือสัมภาระไว้ที่ตัก (ให้เก็บไว้ในช่องเก็บของด้านบนหรือใต้เก้าอี้หน้า)
จากที่ทราบว่าในช่วง Take Off และ Landing เป็นช่วงที่มีโอกาสที่เกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ผู้โดยสารจะต้องอยู่ในสภาพและท่านั่งที่พร้อมรับแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้น เช่น จากการลงจอดฉุกเฉิน
ท่านั่งที่เหมาะสมคือการนั่งโดยโน้มตัวไปข้างหน้าให้ต่ำที่สุด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องทำให้พื้นที่ด้านหน้าของผู้โดยสารทุกคนมีที่ว่างเพียงพอนั่นเอง
ภาพจาก http://www.traveller.com.au/flight-safety-instructions-does-the-brace-position-save-lives-during-a-plane-crash-gjidb8
อีกสิ่งที่เป็นประเด็นถกเถียงกันค่อนข้างมาก นั่นคือ การปิดโทรศัพท์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ
หากจะทำความเข้าใจในประเด็นนี้ ต้องขอแยกพูดถึงเป็นสองประเด็นนั่นคือ อุปกรณ์สื่อสาร ได้แก่กลุ่มอุปกรณ์ที่สามารถปล่อยคลื่นสัญญาณที่ใช้ในการสื่อสาร รวมถึงโทรศัพท์มือถือที่เราใช้งานกัน กับกลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยคลื่น หรือสามารถเรียกได้ว่า Portable Electronic Devices (PEDs)
ลองดูข้อกำหนดของสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้อง ในส่วนแรกที่เป็นอุปกรณ์สื่อสารจะเป็นข้อกำหนดของ FCC (Federal Communications Commission)
ได้กำหนดอย่างชัดเจนว่าห้ามใช้งานโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาจเกิดการรบกวนการติดต่อสื่อสารของเครื่องบิน
แปลว่าเราไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือ (แบบ Cellular)ในช่วงนี้ได้
แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็น Airplane Mode โทรศัพท์ของเราก็จะไม่มีการส่งคลื่นสัญญาณ และจะเปลี่ยนไปอยู่ในกลุ่ม PEDs เหมือนกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ
ซึ่งก็จะต้องเปลี่ยนมาดูข้อกำหนดของ FAA (Federal Aviation Administration) ซึ่งแต่ก่อนได้ระบุการห้ามใช้ในช่วงเครื่องบินทำการ Take Off และ Landing
แต่ใน ค.ศ.2013 FAA ได้มีการ Update ระเบียบโดยอนุญาตให้สามารถใช้อุปกรณ์ PEDs บนเครื่องบินได้ในทุกช่วงเวลาของการบิน (ยกเว้นในช่วงสาธิตการใช้งานอุปกรณ์ความปลอดภัย)
หากแต่สายการบินนั้นๆ จะต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับอนุญาตจาก FAA ให้เรียบร้อยก่อน
ทำให้ในปัจจุบันมีหลายสายการบินที่อนุญาตให้งานอุปกรณ์ PEDs ได้ในทุกช่วงเวลาของการบิน เช่น สายการบิน Emirates, ANA, KLM เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้นอย่างที่แจ้งไปด้านบน แต่ละประเทศสามารถออกกฏระเบียบของตนเองได้ เช่น ในบางประเทศห้ามมีการถ่ายรูปบนเครื่องบินเด็ดขาด ทำให้ส่งผลถึงการใช้อุปกรณ์บางอย่างบนเครื่องบิน เช่น Smartphone หรือ กล้องถ่ายรูป
หรือในระดับสายการบินเอง ก็อาจจะกำหนดข้อห้ามต่างๆ เพิ่มเติมได้ เช่น ในบางสายการบิน ช่วงเวลา Take Off และ Landing สามารถใช้โทรศัพท์ที่เปลี่ยนเป็น Flight Mode ได้ แต่ห้ามมีการเสียบชาร์จ เป็นต้น
อีกหนึ่งประเด็นที่อยากจะพูดถึง คือ เรื่องเกี่ยวกับ Socially Disturbing Act หรือการกระทำที่เป็นการรบกวนคนรอบข้าง การใช้เสียงจากอุปกรณ์เหล่านี้ของแต่ละบุคคล โดยอยากใหเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงด้วยนะครับ
ภาพจาก https://www.dailydot.com/debug/what-is-airplane-mode/
สุดท้ายขอพูดถึงในส่วนของประเทศไทยของเรา หากพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.๒๕๕๘
ในมาตรา ๘ ห้ามใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเวลาที่ห้ามใช้ โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และในมาตรา ๗ ห้ามมิให้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติการคำสั่งของผู้ควบคุมอากาศยาน โดยเฉพาะหากกระทบต่อความปลอดภัยจะกำหนดโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้นเมื่อทำการโดยสารเครื่องบิน อยากให้ทุกคนทำตามระเบียบและตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และศึกษาเอกสารความปลอดภัยในกระเป๋าหน้าที่นั่งของท่านนะครับ
มากไปกว่านั้น อยากให้เข้าใจว่าข้อกำหนดหรือข้อห้ามต่างๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกบ้างนั้น มีไว้เพื่อให้การเดินทางของเราเป็นไปได้ด้วยความปลอดภัยสูงสุดแก่ทุกฝ่าย
โฆษณา