Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ຈิ้งຈกຜงกหัว
•
ติดตาม
19 ส.ค. 2019 เวลา 12:12 • ประวัติศาสตร์
การปกครองแบบ"มณฑลเทศาภิบาล"
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปฏิรูปการปกครองประเทศทำโดยการยกเลิกธรรมเนียมการจัดเมืองเป็นเมืองชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ตามความสำคัญของเมืองและระบบ “กินเมือง” ที่ให้เจ้าเมืองซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นนั้นหรือสืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองคนก่อน ทำหน้าที่บริหารปกครองและเก็บภาษีอากรจากราษฎรในท้องถิ่นโดยส่งเงินภาษีที่เก็บได้ส่วนหนึ่งให้แก่รัฐบาลกลาง (ราชสำนัก) เปลี่ยนเป็นการปกครองแบบ “เทศาภิบาล” ที่รวมหัวเมืองหลายเมืองเข้าด้วยกันเป็น “มณฑล” โดยมีข้าราชการที่รัฐบาลกลาง (กรุงเทพฯ) แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลทำหน้าที่บริหารราชการภายในมณฑลนั้นๆ
การจัดการปกครองด้วยระบบมณฑลเทศาภิบาลจึงได้เริ่มมีขึ้นในปี พ.ศ. 2437 โดยแบ่งระดับการปกครองจากสูดสุงไปหาต่ำสุดเป็นมณฑล, เมือง (เทียบเท่าจังหวัด), อำเภอ, ตำบล และหมู่บ้าน มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้กำกับดูแลมณฑล การก่อตั้งมณฑลนั้นจะเป็นไปตามลำดับโดยขึ้นอยู่กับความเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ด้วย วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดการปกครองเช่นนี้ ก็เพื่อให้ส่วนกลางสามารถควบคุมดูแลหัวเมืองและจัดการผลประโยชน์แผ่นดินได้อย่างใกล้ชิด และริดลอนอำนาจและอิทธิพลของเจ้าเมืองในระบบเดิมลงอย่างสิ้นเชิง
รายชื่อมณฑลเทศาภิบาล
ภาคเหนือ
มณฑลพายัพ หรือ มณฑลลาวเฉียง หรือมณฑลลาวพุงดำ ในปี พ.ศ. 2442 มณฑลนี้ได้ถูกเรียกว่า "มณฑลฝ่ายตะวันตกเฉียงเหนือ" ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 จึงได้เปลี่ยนชื่อให้สั้นลงเป็น"มณฑลพายัพ" ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่าตะวันตกเฉียงเหนือครอบคลุมอาณาเขตของอดีตอาณาจักรล้านนา ประกอบด้วย 6 หัวเมือง ได้แก่ เมืองนครเชียงใหม่ (ครอบคลุมพื้นที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และเชียงราย) เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน เมืองน่าน เมืองแพร่ และเมืองเถิน (ต่อมา พ.ศ. 2446 ยุบลงรวมเข้ากับลำปาง)
มณฑลมหาราษฎร์ เป็นมณฑลที่แยกออกมาจากมณฑลพายัพในปี พ.ศ. 2459 ครอบคลุมพื้นที่ทางตะวันออกของมณฑลพายัพเดิม ประกอบด้วย 3 หัวเมือง เมืองนครลำปาง เมืองนครแพร่ และเมืองนครน่าน ต่อมา พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยุบมณฑลมหาราษฎร์ รวมกันมณฑลพายัพตามเดิม
มณฑลนครสวรรค์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2438 ซึ่งเป็นมณฑลแรก ๆ ที่จัดตั้งขึ้นมา มีพื้นที่ครอบคลุมเมืองนครสวรรค์ เมืองชัยนาท เมืองกำแพงเพชร เมืองมโนรมย์ เมืองพยุหะคีรี เมืองสรรคบุรี เมืองตาก และเมืองอุทัยธานี
มณฑลพิษณุโลก ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2437 มีพื้นที่ครอบคลุมเมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตร เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย (จังหวัดอุตรดิตถ์) และเมืองสวรรคโลก
มณฑลเพชรบูรณ์ เป็นมณฑลที่แยกออกมาจากมณฑลนครราชสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2442 ตอนแรกประกอบด้วย 2 เมือง คือเมืองหล่มสักและเมืองเพชรบูรณ์ ภายหลังเมืองหล่มสักได้ถูกยุบลงเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นกับเมืองเพชรบูรณ์ จึงทำให้มณฑลนี้มีอยู่เมือง (จังหวัด) เดียว ซึ่งต่อมามณฑลเพชรบูรณ์ก็ได้ถูกรวมเข้ากับมณฑลพิษณุโลกในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2446-2450 ก่อนที่จะถูกยุบลงเป็นหัวเมืองในมณฑลพิษณุโลกอย่างถาวรในปี พ.ศ. 2459
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มณฑลนครราชสีมา หรือ มณฑลลาวกลาง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2436 เป็นมณฑลแรกของประเทศสยาม มีพื้นที่ครอบคลุมเมืองนครราชสีมา เมืองชัยภูมิ เมืองบุรีรัมย์และบริเวณตอนใต้ของจังหวัดขอนแก่นคือเมืองชลบถวิบูลย์ ในช่วงแรกมีเมืองเพชรบูรณ์และเมืองหล่มสักรวมอยู่ด้วย แต่ได้แยกออกไปเป็นมณฑลเพชรบูรณ์ในปี พ.ศ. 2442
มณฑลอีสาน หรือ มณฑลลาวกาว ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2443 โดยตั้งกองบัญชาการมณฑล ณ เมืองอุบลราชธานี ภายหลังได้แยกออกเป็น 2 มณฑล ได้แก่ มณฑลร้อยเอ็ดและมณฑลอุบล เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2455 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
มณฑลร้อยเอ็ด แยกออกมาจากมณฑลอีสานเมื่อปี พ.ศ. 2455 ประกอบด้วยเมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม และเมืองกาฬสินธุ์
มณฑลอุบล แยกออกมาจากมณฑลอีสานเมื่อปี พ.ศ. 2455 ประกอบด้วยเมืองอุบลราชธานี เมืองขุขันธ์ เมืองศรีสะเกษ และเมืองสุรินทร์
มณฑลอุดร หรือ มณฑลลาวพวน ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2442 เมืองที่ขึ้นกับมณฑลนี้ประกอบด้วยเมืองอุดรธานี เมืองขอนแก่น เมืองเลย เมืองนครพนม เมืองหนองคาย และเมืองสกลนคร
ภาคใต้
มณฑลภูเก็ต ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2441 เมืองในมณฑลนี้ประกอบด้วยเมืองภูเก็ต เมืองถลาง เมืองระนอง เมืองพังงา เมืองตะกั่วป่า เมืองกระบี่ เมืองตรัง และเมืองสตูล ซึ่งเมืองสตูลเดิมเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลไทรบุรีทางทิศใต้ ได้มารวมอยู่กับมณฑลนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2451 หลังจากที่ยกพื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลไทรบุรีให้อังกฤษ
มณฑลชุมพร ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2439 เมืองในมณฑลนี้ได้แก่ เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองกาญจนดิษฐ์ เมืองหลังสวน และเมืองบ้านดอน ภายหลังเมืองไชยาและเมืองกาญจนดิษฐ์ ถูกรวมเข้าเป็นเมืองไชยา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2448 เมืองไชยากับเมืองบ้านดอนถูกรวมเข้าเป็นเมืองสุราษฎร์ธานี จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลสุราษฎร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 จึงได้ถูกยุบรวมกับมณฑลนครศรีธรรมราช
มณฑลนครศรีธรรมราช ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2439 ประกอบด้วย เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลา
มณฑลปัตตานี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2449 มีอาณาเขตครอบคลุมบริเวณ มลายูเจ็ดหัวเมืองได้แก่ เมืองปัตตานี (ตานี) เมืองยะลา เมืองสายบุรี เมืองยะหริ่ง เมืองหนองจิก เมืองรามัน เมืองระแงะ (จังหวัดนราธิวาส)
มณฑลไทรบุรี หรือ มณฑลเกอดะฮ์ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2440 มีพื้นที่ครอบคลุมเมืองไทรบุรี เมืองปลิศ และเมืองสตูล แต่ภายหลังเสียดินแดนส่วนนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมลายูในเครือจักรภพอังกฤษเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2451 จึงเหลือเมืองสตูลซึ่งเป็นส่วนที่เหลือของมณฑลไทรบุรีในอาณาเขตสยาม และเมืองนี้จึงถูกรวมเข้ากับมณฑลภูเก็ต
ภาคกลาง
มณฑลกรุงเทพ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2440 โดยตอนแรกเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงนครบาล ประกอบด้วยจังหวัดในเขตปริมณฑล ได้แก่ เมืองพระนคร เมืองธนบุรี เมืองมีนบุรี เมืองธัญญบุรี เมืองปทุมธานี เมืองนนทบุรี เมืองพระประแดง (เมืองนครเขื่อนขันธ์) และเมืองสมุทรปราการ โดยในปี พ.ศ. 2458 มณฑลนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรุงเทพพระมหานคร" และเมื่อมีการรวมกระทรวงนครบาลเข้ากับกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2465 กรุงเทพพระมหานครจึงมาอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทยเหมือนกับมณฑลอื่น ๆ
มณฑลอยุธยา หรือ มณฑลกรุงเก่า ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2436 เมืองในมณฑลนี้ได้แก่กรุงเก่า เมืองอ่างทอง เมืองสิงห์บุรี เมืองอินทร์บุรี เมืองพรหมบุรี เมืองลพบุรี และ เมืองสระบุรี
มณฑลราชบุรี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2438 เมืองในมณฑลนี้ได้แก่เมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี และเมืองปราณบุรี(เมืองประจวบคีรีขันธ์)
มณฑลนครชัยศรี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2438 เมืองในมณฑลนี้ได้แก่เมืองนครชัยศรี เมืองสุพรรณบุรี และเมืองสมุทรสาคร
ภาคตะวันออก
มณฑลปราจีนบุรี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2436 เมืองในมณฑลนี้ได้แก่เมืองปราจีนบุรี เมืองชลบุรี เมืองนครนายก เมืองฉะเชิงเทรา เมืองบางละมุง เมืองพนัสนิคม และเมืองพนมสารคาม
มณฑลบูรพา ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2446 มณฑลนี้ประกอบด้วยเมืองเสียมราฐ เมืองพระตะบอง เมืองพนมศก และเมืองศรีโสภณ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน ดินแดนส่วนนี้เสียไปเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 เพื่อแลกกับเมืองตราดและเมืองด่านซ้าย
มณฑลจันทบุรี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2449 หลังจากที่สยามเสียมณฑลบูรพาไปให้กับฝรั่งเศส และฝรั่งเศสคืนดินแดนเมืองตราดและเกาะต่าง ๆ กลับมาสู่อำนาจอธิปไตยของสยาม เมืองในมณฑลนี้ได้แก่เมืองจันทบุรี เมืองระยอง เมืองตราด
การยกเลิกมณฑลเทศาภิบาล เหลือเป็นจังหวัด
หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ระบบมณฑลเทศาภิบาลถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2476 ทำให้จังหวัดกลายเป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคระดับสูงสุด
และตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ก็ได้มีการจัดตั้งจังหวัดเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง โดยการตัดแบ่งอาณาเขตบางส่วนจากจังหวัดที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น ในปี พ.ศ. 2515 ได้มีการแบ่งพื้นที่บางส่วนของจังหวัดอุบลราชธานีมาจัดตั้งเป็นจังหวัดยโสธร ในปี พ.ศ. 2520 มีการแบ่งพื้นที่บางส่วนของจังหวัดเชียงรายมาจัดตั้งเป็นจังหวัดพะเยา ในปี พ.ศ. 2525 ได้มีการแบ่งพื้นที่บางส่วนของจังหวัดนครพนมมาตั้งเป็นจังหวัดจังหวัดมุกดาหาร ในปี พ.ศ. 2536 ได้มีการตั้งจังหวัดขึ้นมาพร้อมกัน 3 จังหวัดคือจังหวัดหนองบัวลำภู (แยกจากจังหวัดอุดรธานี) จังหวัดสระแก้ว (แยกจากจังหวัดปราจีนบุรี) และจังหวัดอำนาจเจริญ (แยกจากจังหวัดอุบลราชธานี) และจังหวัดล่าสุดของประเทศไทยคือจังหวัดบึงกาฬซึ่งแยกออกมาจากจังหวัดหนองคายในปี พ.ศ. 2554
ในปี พ.ศ. 2514 ได้มีการรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีขึ้นเป็นเขตปกครองรูปแบบพิเศษชื่อ "นครหลวงกรุงเทพธนบุรี" และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรุงเทพมหานคร"
ที่มา1. ดร.โดม ไกรปกรณ์ /สถาบันพระปกเกล้า
2.บทความจังหวัดคือ?
https://sites.google.com/site/ict5720710227/thailand
บันทึก
3
2
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย