20 ส.ค. 2019 เวลา 08:54
แสดงเป็น ยักษ์ใหญ่ ในเวที
มีฤทธี สูงศักดิ์ เป็นนักหนา
มีร่างกาย แข็งแรง แกร่งโยธา
มีพารา ลือเลื่อง เมืองบาดาล
มีไพร่พล มากมาย คณานับ
มีสินทรัพย์ นับค่า มหาศาล
มีเวียงวัง ใหญ่โต มโหฬาร
มีทหาร รับใช้ ให้สบาย
แต่พอม่าน เวที คลี่ปิดฉาก
ที่หลายหลาก มากนั้น พลันสลาย
อันหัวโขน เคยชิด สวมติดกาย
มอดมลาย หายวับ ไปกับตา
หวนสู่โลก ความจริง ทุกสิ่งสรรพ
ต้องยอมรับ ผลกรรม ตามยถา
อันวิถี โลกียะ โชคชะตา
ให้รู้ว่า ชีวี มีขึ้นลง
ดังพระธรรม ย้ำบท "กฎไตรลักษณ์"
จงตระหนัก อย่าได้ มัวใหลหลง
เมื่อถึงคราว รันทด ควรปลดปลง
ไม่ยืนยง คงอยู่ อย่างยาวนาน
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ธรรมดา ชี้ชัด วัฏสงสาร
วันเวลา ล่วงไป ดั่งสายธาร
อย่าปล่อยผ่าน ชีวิต ควรคิดเป็น
คือเท่าทัน "สังขาร" การปรุงแต่ง
และรู้แรง "วิญญาณ" รับรู้เห็น
ด้วยตาดู รูปร่าง อย่างที่เป็น
หูมุ่งเน้น ใช้ฟัง เสียงแผ่วพาน
จมูกใช้ สำหรับ รับดมกลิ่น
เราใช้ลิ้น ลิ้มรส ของอาหาร
กายสัมผัส ร้อนเย็น เป็นอาการ
จิตประสาน ก่อเกิด "เวทนา"
รักชอบจริง ชิงชัง ฤๅเฉยเฉย
ด้วยคุ้นเคย รู้สึก ตามตัณหา
ความจำได้ หมายรู้นั้น คือ"สัญญา"
รวมเรียกว่า ๕กอง ของขันธ์เรา
"อคติ ทั้ง๔" ควรตระหนัก
แจ้งประจักษ์ รู้ไว้ ไม่ขลาดเขลา
รักโลภโกรธ หลงผิด คิดมัวเมา
เป็นดั่งเงา เผาผลาญ ลาญทรวงใน
สติทัน เวทนา คราสัมผัส
จิตรู้ชัด จับได้ ไม่เผลอไผล
ย่อมก่อเกิด ธรรมะ ขึ้นกลางใจ
คือหลักชัย ปฏิบัติ วิปัสสนา...
อภิรติ์
๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๒
กลอนสุภาพ
"นักแสดงสวมหัวโขน
พญายักษ์ไมยราพ เจ้าแห่งเมืองบาดาล"
*กฎไตรลักษณ์ : อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
*ขันธ์ ๕ : หมายถึงส่วนหนึ่งๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น ๕ กอง ได้แก่
รูป คือ สิ่งที่รับรู้ได้ด้วยตา คือส่วนที่ผสมกันของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ
เวทนา คือความรู้สึก ได้แก่ ทุกข์ สุข เฉยๆ(ไม่ทุกข์ไม่สุข)
สัญญา คือความจำได้หมายรู้ ได้แก่ จำสิ่งที่ได้รับและรู้สึกนั้นๆ
สังขาร คือการคิดปรุงแต่ง เช่นการแยกแยะสิ่งที่รับรู้ การคิดวิเคราะห์
วิญญาณ คือ ความรับรู้ ได้แก่ ระบบรับรู้สิ่งนั้นๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
*ผัสสะ ๖ : สัมผัส หรือ ผัสสะ มี ๖ อย่าง คือ ตา(รูป) หู(เสียง) จมูก(กลิ่น) ลิ้น(รส) กาย(สัมผัส) ใจ(นึกคิด)
*อคติทั้ง ๔ : รัก โลภ โกรธ หลง
*สติปัฏฐาน ๔ : ฐานหรือที่ตั้งอันเป็นที่รองรับของการกำหนดสติ เป็นการตามระลึกรู้อารมณ์(รูป-นาม) ได้แก่
๑ กายานุปัสสนา – การมีสติตามดูรูปกาย อายตนะทั้ง ๕ ได้แก่ ตา(รูป) หู(เสียง) จมูก(กลิ่น) ลิ้น(รส) กาย(สัมผัส)
๒ เวทนานุปัสสนา –การมีสติตามดูความรู้สึก สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์
๓ จิตตานุปัสสนา – การมีสติตามดูนิวรณ์ ซึ่งแปลว่าเครื่องกั้น คือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี ไม่ให้เข้าถึงจิต เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ปฏิบัติไม่สามารถบรรลุธรรมได้ หรือทำให้เลิกล้มความตั้งใจปฏิบัติไป โดยนิวรณ์มี ๕ อย่าง คือ
กามฉันทะ คือ ความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง
พยาบาท คือ ความไม่พอใจ
ถีนมิทธะ คือ ความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กำลังทั้งกายใจ ไม่ฮึกเหิม ง่วง
อุทธัจจะกุกกุจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน คิดซัดส่ายตลอดเวลา ไม่สงบนิ่ง
วิจิกิจฉา คือ ความลังเลใจ สงสัย ไม่แน่ใจ กังวล กล้าๆ กลัวๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ
๔ ธัมมานุปัสสนา - การมีสติไม่ลืมว่าโลกิยธรรมทั้งปวงเกิดจากเหตุปัจจัยมากมาย เห็นความเกิดดับ และเห็นว่าธรรมที่เกิดจากเหตุปัจจัยล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
ขอบคุณเจ้าของภาพ : Pinterest
โฆษณา