21 ส.ค. 2019 เวลา 11:00 • กีฬา
"Beckham Law ของอิตาลี"
ในยุค 80-90s มีคำกล่าวสำหรับวงการฟุตบอลอิตาลีที่ว่าถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม
สโมสรในกัลโช่ เซเรีย อา เป็นจุดหมายปลายทางของยอดนักเตะทั้งโลกตั้งแต่อเมริกาใต้จนถึงเอเชีย
ไม่ใช่แค่ 2 ทีมมิลาน และ 2 ทีมจากกรุงโรม แต่ยังมี ปาร์ม่า, ฟิออเรนติน่า, โบโลนญ่า ไปจนถึง อูดิเนเซ่ ที่ต่างก็มีตัวเก่งๆ ประดับทีมในตำแหน่งแตกต่างกัน เหมือนการ์ตูนญี่ปุ่น
เศรษฐกิจในวงการฟุตบอลอิตาลีถึงยุคฟองสบู่แตกในราวต้นปี 2000 เป็นต้นมาเมื่อการซื้อตัวแพง ค่าจ้างมหาศาล เริ่มส่งผลเป็นวงกว้าง เพราะหลายสโมสรก็ใช้วิธี เอาเงินสู้เงิน ด้วยกันทั้งนั้น มึงทุ่มกูทุ่ม
หลายสโมสรหนี้ท่วม อีกทั้งสปอนเซอร์หลักของบางสโมสรถึงคราวล้มละลาย ยกตัวอย่าง Parmalat กับปาร์ม่า พาทำให้สโมสรล้มไปด้วย
ยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่นการโตขึ้นมาของมหาอำนาจจากฝั่งอังกฤษอันมี แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นหัวหอก เข้ามาแย่งชิงความยิ่งใหญ่ในยุโรป ไหนจะมี เรอัล มาดริด ในยุคกาลาคติกอสอีก
สนามฟุตบอลในอิตาลีเองส่วนใหญ่ก็เก่า ไม่มีการปรับปรุง สิ่งอำนวยความสะดวกย่ำแย่
ความรุนแรงของกลุ่ม ULTRAs รวมทั้งการเหยียดผิวก็ไม่ได้รับการแก้ไขจริงจัง
หลังผ่านกลางทศวรรษที่ 2000s มาแล้ว ก็ดูเหมือนจะเหลือแค่ เอซี มิลาน ที่สายป่านเดิมยังยาว ด้วยขุมกำลังเดิมๆ ที่พอจะต่อสู้กับทีมใหญ่รายอื่นๆ ในยุโรปได้
ก่อนการมาถึงของ โชเซ่ มูรินโญ่ เมื่อเข้าสู่ปี 2010 และการคัมแบ็กอีกครั้งของ ยูเวนตุส หลังจากนั้นเป็นต้นมา แต่ก็แค่ทีมเดียวโดดๆ
ปัญหาทุจริต กัลโช่โปลี ในปี 2006 ก็ยิ่งตอกย้ำความตกต่ำของวงการฟุตบอลอิตาลี
แม้ทีมชาติอิตาลีของ มาร์เชลโล่ ลิปปี้ จะเป็นแชมป์โลก แต่ทุกคนตระหนักดีว่านั้นคือปลายทางแล้ว ความนิยมตกต่ำ นักเตะที่ใช้คือพวกที่เกิดมาตั้งแต่เกือบ 10 ปีก่อนนั้น ในช่วงปลายของความนิยม ไม่มีการต่อยอด
จุดหมายปลายทางของนักเตะเก่งๆ ดังๆ ใน 10 กว่าปีหลัง จึงย้ายไปอยู่ที่สเปน และอังกฤษแทน
กัลโช่ เซเรีย อา เสื่อมความนิยม นักเตะเก่งจากที่นี่กลับโดนดึงไปอยู่ลีกอื่น กัลโช่ เซเรีย อา กลายเป็นลีกเบอร์รอง หรือบันไดสู่ลีก หรือทีมที่ใหญ่กว่าเสียแล้ว
เริ่มจากสเปน พวกเขาได้เปรียบในเรื่องของภาษี ที่เชิญชวนให้ดาวดังอยากย้ายไปเล่นที่นั่น
มันเริ่มขึ้นในปี 2005 ในชื่อเรียกเล่นว่า "Beckham Law" เพราะ เดวิด เบ็คแฮม คือคนแรกๆ ที่ได้ประโยชน์จากข้อกฏหมายนี้
พระราชกฤษฎีกา 687/2005 ถูกออกมา มันเกี่ยวกับภาษี
ตอนนี้ อิตาลี เองก็ผ่านร่างกฏหมาย Beckham Law ในแบบของพวกเขาแล้วเช่นกัน เพื่อดึงดูดดาวเตะเก่งๆ ให้สนใจย้ายมาเล่นใน เซเรีย อา มากยิ่งขึ้น ยกระดับกัลโช่ให้ผงาดขึ้นมาอีกครั้ง
ในปี 2004 รัฐบาลสเปน มีแผนจะดึงให้คนเก่ง คนรวยต่างชาติเข้ามาอาศัย ทำมาหากินในสเปน โดยเฉพาะ นักวิทยาศาสตร์, ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และนักลงทุน เลยออกพระราชกฤษฎีกานี้ออกมา
มันเอื้อแก่คนต่างชาติ โดยเฉพาะคนต่างชาติที่รายได้เยอะๆ
เดิมที คนที่มาอาศัยทำกินในสเปน 183 วันขึ้นไปในรอบปีภาษี จะกลายเป็น Tax Resident มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษี และรายได้ไม่ว่าจะมาจากในสเปน หรือจากต่างประเทศทั่วโลก ก็ต้องเอามาคิดรวมภาษีทั้งหมดในอัตราก้าวหน้า 19% ไล่ไปจนถึง 43% (ภายหลังเป็น 45%)
แต่พระราชกฤษฎีกาที่ออกมาใหม่ บังคับใช้เมื่อ 10 มิถุนายน 2005 นี้ บอกว่า คุณสามารถเลือกได้ว่าจะเป็น Spanish Resident ซึ่งก็จ่ายภาษีแบบคนสเปน อย่างที่ว่ามา หรือจะเลือกเป็น Non-Spanish Resident ก็ได้
แบบหลัง ข้อดีคือ จะคิดภาษีแค่รายได้ที่มาจากในสเปนอย่างเดียวและคิดอัตราคงที่ที่ 24% เท่านั้น ส่วนรายได้ที่มาจากนอกประเทศสเปนจะไม่เอามาคิด ไม่เกี่ยวข้องด้วย
อ่านเจอข้อดีแบบนี้ ไม่แปลกใจที่นักเตะดังๆ ค่าจ้างแพงๆ มีเงินจากค่าภาพลักษณ์หรือสปอนเซอร์ที่อยู่นอกสเปน จะยินดีเลือกมาหากินที่นี่ พร้อมใช้สิทธิ์เลือกจ่ายภาษีแบบ Non-Spanish Resident
จะมีข้อกำหนดบางอย่างที่คุณต้องเข้าล็อกจึงจะยื่นขอแบบนี้ได้ แต่ถ้านักเตะต่างชาติ ส่วนใหญ่ก็ขอได้หมด
เดวิด เบ็คแฮม เป็นคนแรกๆ ที่ได้ประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกา ฉบับนี้ เป็นที่มาให้คนทั่วไปรวมถึงสื่อเรียกมันว่า Beckham Law
อย่างไรก็ดี ทางการสเปน เริ่มเห็นว่าพระราชกฤษฎีกา ดูจะทำให้นักฟุตบอลเอาไปใช้ประโยชน์กันจนเต็มเม็ดเต็มหน่วยเกินไป เรียกได้ว่าเป็นช่องทางให้จ่ายภาษีกันแบบน้อยสุดๆ เลยมีการทบทวนในปี 2009
หลังจากวันที่ 1 มกราคม 2010 คนที่จะได้รับการคิดภาษีแบบนี้ จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 600,000 ยูโรต่อปี แน่นอนว่านักเตะดังๆ ได้เกินไปมหาศาล
รัฐบาลสเปน มีการเปลี่ยนข้อกำหนดอีกครั้งในปี 2015 หนนี้ ไม่มีลิมิตขั้นต่ำ แต่ 600,000 ยูโรแรกจะจ่าย 24% เหมือนเดิม ส่วนเกินจากนั้นจะคิดที่ 45% เต็ม
แต่ที่ทำให้พวกนักฟุตบอลเซ็งกันที่สุดคือ ผู้จะลงทะเบียนเพื่อเลือกจ่ายภาษีแบบนี้ได้ จะต้อง "ไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ"
เรียกได้ว่าเป็นการตัดนักบอลออกจากสารบบการจ่ายภาษีแบบนี้ไปโดยปริยาย
แม้ว่านักเตะที่ย้ายมาหลังจากปี 2015 จะหมดสิทธิ์ได้ประโยชน์แต่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาก็ทำให้สเปน มีแรงดึงดูดสำหรับดาวดังได้จริงๆ
สำหรับ Beckham Law ในเวอร์ชั่นของอิตาลีนั้น จะเป็นการลดการจ่ายภาษีได้แบบครึ่งต่อครึ่ง สำหรับคนต่างชาติที่มาทำงานในอิตาลี แต่ตลอด 2 ปีก่อนหน้าลงทะเบียนต้องไม่เคยมาพำนักอาศัยหรือทำงานที่นี่มาก่อน
ปกติ นักบอลรายได้เยอะๆ จะต้องจ่ายภาษีที่ 47% แต่ด้วยกฏหมายนี้ เมื่อคำณวนดูแล้ว จะเหลือเพียงแค่ 26% เท่านั้น
กฏหมายนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 แล้วเราลองมาดูกันว่า มันจะช่วยให้ถนนสายต่างๆ มุ่งสู่กรุงโรมได้อีกครั้งหรือไม่
.
ทุกท่านสามารถติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ ..
.
และเพิ่มเพื่อนไลน์แอด "เพื่อเด้งเตือน" ให้คุณได้อ่านก่อนใคร กดที่ลิงค์นี้ครับ
ขอบคุณครับ
โฆษณา