เพชรบูรณ์ เกือบเป็น “เมืองหลวง” ของประเทศไทย
ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ราวปี ๒๔๘๕ ถึง ๒๔๘๖ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีโครงการเร่งด่วน เตรียมย้ายเมืองหลวงไปอยู่จังหวัดเพชรบูรณ์
โดยได้วางแผนจะย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่เพชรบูรณ์ เพราะประเทศไทยกำลังตกอยู่ในภาวะสงคราม กรุงเทพฯ ถูกโจมตีจากการทิ้งระเบิดอย่างหนักจากฝ่ายสัมพันธมิตรและเห็นว่าเพชรบูรณ์มีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ เพราะมีชัยภูมิเหมาะสม มีภูเขาล้อมรอบ มีเส้นทางคมนาคมเข้าออกเพียงทางเดียว มีภูมิประเทศสวยงาม อากาศดี อยู่ตรงกลางของประเทศเป็นศูนย์กลางภาคเหนือกับภาคอีสาน และกรุงเทพฯ ทั้งยังต้องการสร้างเพชรบูรณ์ให้เป็นฐานทัพลับเพื่อซ่องสุมกำลังไว้เพื่อรบขับไล่ญี่ปุ่นอีกด้วย
ในการดำเนินการก่อสร้าง “นครบาลเพชรบูรณ์” รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกคำสั่งครั้งแรกในวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๘๖ และดำเนินการร่าง พ.ร.ก. จัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ กำหนดให้ราชการบริหารส่วนภูมิภาคจังหวัดเพชรบูรณ์เป็น “นครบาลเพชรบูรณ์”
และดำเนินการอพยพราษฎรมาตั้งหลักแหล่งที่เพชรบูรณ์ พร้อมกับย้ายที่ทำการรัฐบาลตลอดจนสถานที่ ราชการมาตั้งที่เพชรบูรณ์ มีการทำพิธีสร้างหลักเมือง “นครบาลเพชรบูรณ์” ที่บ้านบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก และได้มีการย้ายส่วนราชการสำคัญต่าง ๆ ไปที่เพชรบูรณ์ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น
ในด้านการทหาร ได้ย้ายโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร. มาตั้งที่บ้านป่าแดง ตำบลป่าเลา อำเภอเมืองฯ มีการตั้งค่ายทหาร ที่ตำบลหนองไขว่ อำเภอหล่มสัก ตั้งกระทรวงกลาโหม ย้ายกองทัพอากาศ กรมยุทธโยธา คลังแสงและโรงงานช่างแสง กรมพลาธิการ กรมยุทธศึกษา กรมเสนาธิการทหารบก กรมเสนารักษ์ทหารบก กรมเชื้อเพลิง ฯลฯ ต่างก็มีการโยกย้ายมาอยู่ที่เพชรบูรณ์ และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างเมืองหลวงใหม่ตามนโยบายของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้วาดผังเมืองใหญ่ ๒ แห่ง คือ บริเวณเพชรบูรณ์ และบริเวณหล่มสักและหล่มเก่า มีการกำหนดให้กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ได้กระจายตั้งกันอยู่ทั่วจังหวัด โดยมิให้กระจุกตัวกันอยู่ในเมืองเหมือนกรุงเทพฯ มีการสร้างสำนักนายกรัฐมนตรี และศาลารัฐบาล ตั้งกระทรวงพาณิชย์
และเมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๘๖ ได้มีการปรับปรุงเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ให้เป็น “นครบาลเพชรบูรณ์” เพื่อรองรับการก่อสร้างและการขยายตัวของเมืองหลวงใหม่ของประเทศไทย
และได้มีคำสั่งย้ายกรมโยธาธิการ จัดการวางผังสร้างกรมไปรษณีย์ กรมทาง และกรมขนส่ง มีการวางแผนสร้างทางรถไฟจากอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มาที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จนถึงจังหวัดเลย มีการสร้างบำรุงถนนสายหลักเพชรบูรณ์ มีการตั้งกระทรวงศึกษา แม้แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังมีแผนที่จะต้องอพยพมาเปิดสอนที่เพชรบูรณ์ด้วย โดยจะสร้างที่บ้านไร่ ตำบลสะเดียง แต่ขณะนั้นโรงเรียนเตรียมจุฬาฯ ได้อาศัยเรียนที่โรงเรียนเมืองเพชรบูรณ์ (เดิมเป็นโรงเรียนเพชรพิทยาคม)
การก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ได้ดำเนินการโดยเร่งด่วน และถือเป็นความลับของราชการ ยุทธของชาติตลอดมา เพื่อมิให้ข้าศึกรู้แผนการณ์ กระทั่งวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๘๗ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เสนอ พ.ร.ก. ระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ. ๒๔๘๗ ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออนุมัติเป็น พ.ร.บ. มีผลดำเนินการอย่างถาวรตลอดไป
แต่ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง ๔๘ ต่อ ๓๖ ด้วยเหตุผลว่า
“...เพชรบูรณ์เป็นแดนกันดารภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีไข้ชุกชุม เมื่อเริ่มสร้างเมืองนั้นผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานล้มตายลงนับเป็นพัน ๆ คน...”
ถือว่าเป็นการดับฝันที่จะให้เพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย
การสร้างเมืองหลวงใหม่ในขณะนั้น นอกจากจะเป็นงานลับแล้วยังต้องทำอย่างเร่งรีบ งบประมาณก็จำกัด วัตถุที่ใช้ส่วนใหญ่จึงเป็นไม้ไผ่ แม้แต่ “บ้านสุขใจ” ทำเนียบริมแม่น้ำป่าสักที่พักของจอมพล ป. แม้ดูใหญ่โตก็ยังทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง โรงพิมพ์ธนบัตรมิดชิดกว่าทุกแห่ง แต่ก็แค่ล้อมรั้วสังกะสี สิ่งก่อสร้างต่างๆจึงผุพังไปตามกาลเวลา ไม่เหลือร่องรอยอดีตไว้ นอกจาก “ศาลหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์” ที่ทำด้วยปูนซีเมนต์ จึงเป็นอนุสรณ์สถานเพียงแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในขณะนี้