26 ส.ค. 2019 เวลา 13:59 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เรื่องเล่าจากรอยแตก
นิติวิศวกรรม( Forensic) วิศวกรวิเคราะห์ความเสียหาย (Failure Analysis Engineer) เคยได้ยินชื่อต่างๆ เหล่านี้กันไหมครับ?
ขณะเตรียมวัสดุและอุปกรณ์ สำหรับการสอนใน การอบรมเชิงปฏิบัติการวิเคราะห์ผิวหน้าแตกโลหะ (Workshop on Fractrography of Metal)
อยู่ดีดี คำถามนี้ก็ลอยผุดเข้ามาในหัวผม
อาจเป็นเพราะ พอถึงนึกเรื่องที่จะต้องสอน เรื่องราวความสนุกในการทำงานเกือบ 15 ปีที่ปีที่ผ่านมา มันก็ลอยเข้ามาในหัว
และอยากเล่าให้ทุกท่านฟัง
วิศวกรวิเคราะห์ความเสียหาย หากผมจะเล่าอย่างง่ายที่สุด ก็คงจะต้องบอกว่า
ผมทำงานคล้ายคุณหมอพรทิพย์!!
หากคุณหมอพรทิพย์ สืบจากศพ
ตัวผมเองคงต้องบอกว่า งานของผมสืบจากสนิมและรอยแตก
เพื่อทวงความเป็นธรรมให้กับเครื่องจักรที่เสียหายก่อนวัยอันควร
ทั้งจากการออกแบบที่ผิดพลาด
การใช้งานที่ไม่ถูกต้อง
การบำรุงรักษาที่ไม่ดี
การกัดกร่อน
อุบัติเหตุ และ
บางครั้งก็รวมถึงการกลั่นแกล้งระหว่างมนุษย์ด้วยกัน แต่ดันเอาเครื่องจักรเป็นเครื่องมือในการทำร้ายกัน
การทำงานของวิศวกรวิเคราะห์ความเสียหายนั้น เราทำงานกันเป็นทีม
และเป็นทีมที่รวบรวม คนที่มีความสามารถแตกต่างกันเข้ามาไว้ในทีมเดียว
เพราะงานการเกิดความเสียหายนั้น บ่อยครั้งที่พบว่า สาเหตุของความเสียหาย ไม่ได้เกิดจากสาเหตุเพียงสาเหตุเดียว
เราจึงต้องอาศัยมุมมองในแต่ด้าน จากแต่ละคนที่มีความชำนาญแตกต่างกัน
อย่างตัวผมเอง ถนัดด้านความเสียหายจาการกัดกร่อน น้องอีกคนถนัดงานวิเคราะห์ผิวแตก
พี่อีกท่านถนัดงานเสียหายของวัสดุที่อุณหภูมิสูง
เรามีคนทั้งคนที่จบด้านวิศวกรรมวัสดุ วิศวกกรเครื่องกล รวมทั้งคนที่จบวิทยาศาสตร์เคมี
เรียกได้ว่าเราคล้ายๆทีม ฟุตบอล ที่มีกองหน้า กองกลาง กองหลังและผู้รักษาประตูที่ทำงานประสานกัน
โดยผลัดกันเป็นกัปตันทีม แล้วแต่ว่าเครื่องจักรที่เสีย น่าจะอยู่ในความชำนาญของใคร
ในการวิเคราะห์ความเสียหายของชิ้นส่วนที่แตกหักนั้น เราจะมุ่งหา จุดเริ่มต้นของรอยแตก (Crack Origin) ว่ารอยแตกเริ่มมาจากตำแหน่งไหน
โดยอาศัยรูปแบบที่ปรากฏอยู่บนรอยหักของเครื่องจักร
รอยที่เราเห็นบนผิวหน้าแตกนั้น มีอยู่หลายรูปแบบ
บางครั้งคุณจะเห็นร่องรอยคล้ายพัดที่คลี่ออก (Radial Mark) โดยจุดเริ่มรอยแตกก็จะอยู่ที่บริเวณด้ามพัด
บางครั้งคุณอาจจะเห็นรูปแบบสันทรายที่ชายหาดบนผิวแตก (Beach Mark) ที่บ่งบอกว่าชิ้นงานคุณเสียหายจากการล้า (Fatigue)หรือแรงกระทำที่ซ้ำไปซ้ำมา (Cyclic Load)
บางที คุณอาจจะเห็นลักษณะร่องรอยของสายน้ำ (River Mark) ปิง วัง ยม น่าน ที่รวมตัวกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา
ซึ่งหากคุณเห็นร่องรอย ปิง วัง ยม น่าน ที่รวมตัวกันเป็นเจ้าพระยาเมื่อไหร่ ให้ล่องแพทวนน้ำขึ้นไปจากเจ้าพระยา บริเวณต้นน้ำนั้นแหละคือจุดเริ่มต้นรอยแตกของเครื่องจักรคุณ
หลังจากได้จุดเริ่มต้นรอยแตกแล้ว เราจึงวิเคราะห์ต่อไปว่า ทำไมตำแหน่งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของความเสียหาย
การทำงานวิเคราะห์ความเสียหาย บางครั้งเราก็ต้องทำตัวเหมือนนักสืบ เหมือน เชอล๊อคโฮม
คินดะอิจิ หรือ จะโคนัน ก็แล้วแต่ว่าคุณอายุเท่าไหร่ และรู้จักใคร :)
หลังจากสืบเสร็จว่าใครทำร้ายเครื่องจักร
ในบางกรณีพวกผมเองก็จำเป็นต้องขึ้นให้การในศาล ในฐานะเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ความเสียหาย
สรุปได้ว่า หากคุณรักในการทำงานวิเคราะห์ความเสียหาย ขาข้างหนึ่งของคุณจะก้าวไปอยู่ที่ศาลแล้วเสมอ
ดังนั้นเราจึงผิดพลาดไม่ได้ และจำเป็นต่อมองถึงความเป็นไปได้ในหลายๆด้าน อย่างเป็นธรรม และมีหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการ
แต่จะว่าไป การขึ้นศาลบางครั้งก็สนุกนะ โดยเฉพาะสนุกกับการฟังการเถียงกันของทนายทั้งสองฝั่ง ที่พยายามจับผิดซึ่งกันและกันผ่านสำนวนและโวหาร
ซึ่งผมเชื่อว่าประเทศไทยเราเก่งมากในเรื่องนี้
แต่ในด้านทางเทคนิคแล้ว ทนายไทยเราไม่มีความรู้เฉพาะด้านมากนัก โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และ วิศวกรรมศาสตร์
อาจเป็นเพราะทนายที่บ้านเรา เรียนกฏหมายตั้งแต่ปริญญาตรี
แต่ในบางประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกา คุณจะเรียนกฏหมายได้ ก็ต่อเมื่อคุณจบปริญญาตรี สาขาใดสาขาหนึ่ง ดังนั้นเขาจึงมีทนายเฉพาะด้าน ทั้งด้านกีฬา การเงิน สุขภาพ หรือ วิทยาศาสตร์
ในการเตรียมตัวเพื่อให้การต่อศาล
บ่อยครั้งที่ผมต้องอธิบาย และเรียบเรียงประเด็น ให้กับทนายความอยู่นาน
จนบางครั้งผมก็คิดว่า หากผมเรียนนิติศาสตร์อีกซักใบ และพยายามเรียนและสอบเนติบัณฑิให้ผ่าน ก็อาจจะขึ้นว่าความเป็นทนายเฉพาะทาง
รับว่าความเฉพาะด้านวิศวกรรม ก็อาจจะทำให้ผม ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมากโข
ในการทำงานของผม นอกจากจะทำการวิเคราะห์ผิวแตกของเครื่องจักรที่พัง
ความเสียหายจากการกัดกร่อน หรือ
การสืบจากสนิมก็เป็นอีกงานหนึ่งที่ผมต้องทำ
รูปแบบของการเกิดสนิม สามารถนำมาวิเคราะห์ได้เช่นเดียวกับผิวรอยแตก
บางครั้งก็บอกได้ว่าชิ้นงานผ่านอะไรมา เช่น
หากคุณเจอสนิมสีดำบนเนื้อเหล็ก ก็อาจเป็นไปได้ว่าชิ้นงานนั้น ผ่านการใช้งานที่อุณหภูมิสูง
เจอสนิมสีส้มแดง ก็เป็นไปได้ว่าชิ้นงานสัมผัสกับความชื้นสูง
หรือเมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ขยายภาพน้องสนิมซักสามพันเท่า
แล้วเห็นคล้ายดอกฝ้ายบนผิวเหล็ก ก็อาจเป็นเพราะชิ้นงานคุณอาจสัมผัสกับน้ำทะเลหรือไอเกลือมาก่อนที่จะเกิดความเสียหายขึ้น
การทำงานวิเคราะห์ความเสียหายกว่าสิบปี ทำให้ผมเห็นปัญหาหลายอย่าง ซึ่งหากจะเรียกให้สวยหรูก็คงต้องบอกว่า
ประเทศของเรายังมีช่องว่างอีกเยอะในการพัฒนา
ในมุมมองของนักวิเคราะห์ความเสียหายแบบผม คงต้องบอกว่า
อาจเป็นเพราะ เรายังขาดการเรียนรู้จากความผิดผลาด ไม่ศึกษาหารากของปัญหา (Root Cause) เพื่อหาทางแก้
เรามักแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้า โดยลืมคิดถึงปัญหาเกี่ยวข้อง และมักขาดการทำงานเป็นทีม
หากคุณไม่เชื่อผม
เอาละเราลองลงใต้ไปเที่ยวทะเลใต้กันดีไหม?
ระหว่างทางบนถนนเส้นพระรามสอง รับรองคุณจะเห็นอะไรสนุกๆตลอดทาง!!
ทั้งการเปิดผิวถนนเพื่อถมดินและต้องรอกว่า 6 เดือน เพื่อให้ดินทรุดตัว ทั้งที่คุณสามารถใช้เสาเข็มช่วยได้โดยไม่ต้องรอ
หรือการทำถนนไปได้เพียงครึ่งเดียว แล้วต้องหยุดพัก
เพราะมีท่อน้ำหรือเสาไฟขวางอยู่ เนื่องจากการไฟฟ้ายังไม่ว่าง หรือการประปายังยุ่งอยู่
เอาละผมเล่ามามากแล้ว ถามคุณบ้างดีกว่า
คุณคิดเหมือนผมไหม?
คุณอยากเปลี่ยน หรือ อยากให้เราอยู่กันแบบเดิม?
แต่ถ้าคุณทนอ่านมาได้ถึงบรรทัดนี้
คุณคงจะเห็นด้วยกับผม ไม่มากก็น้อยละน่า
งั้นเรามาช่วยกันเปลี่ยนกันเถ๊อะ!!
เริ่มจากมาช่วยกันสร้างทีมไทยแลนด์เล็กๆ
ในการทำงานของเรากันดีกว่า
คุณว่ามันจะดีไหม?
#เหล็กไม่เอาถ่าน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา