28 ส.ค. 2019 เวลา 13:59 • การศึกษา
“ลูกจ้างจำเป็นต้องทำสัญญาค้ำประกันการทำงานหรือไม่ หากทำไม่ถูกต้องผลจะเป็นยังไง ?”
การค้ำประกันการทำงานของลูกจ้างนั้น เป็นเรื่องที่กฎหมายได้กำหนดและวางกฎเกณฑ์เอาไว้นานแล้ว แต่แอดมินเชื่อว่ายังมีลูกจ้างอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่า จริง ๆ แล้วนายจ้างสามารถให้เราทำสัญญาค้ำประกันการทำงานได้หรือไม่ หรืออาจจะทราบแล้วแต่เพราะกลัวไม่ได้งานเลยต้องยอม ๆ ไป
Cr. pixabay
ในเรื่องค้ำประกันการทำงานนั้น ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการเรียกรับหลักประกันการทำงานไว้ ซึ่งสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า…
หลัก -----------> ห้ามนายจ้าง เรียก หรือรับ หลักประกันในการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือด้วยบุคคล
ข้อยกเว้น -----------> เว้นแต่ลักษณะ หรือสภาพของงานที่ทำนั้น ลูกจ้างจะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้
ยกตัวอย่างเช่น งานเก็บหรือจ่ายเงิน งานควบคุมหรือรับผิดชอบวัตถุมีค่า งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินนั้น เป็นต้น (สนใจอ่านเพิ่มเติม เปิดดูท้ายบทความเลยครับ)
Cr. pixabay
นอกเหนือจากนี้แล้ว ห้ามนายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันโดยเด็ดขาด !!
หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ทีนี้ หากเป็นตำแหน่งงานที่เข้าข้อยกเว้นให้นายจ้างสามารถเรียก หรือรับหลักประกันได้ล่ะ
กฎหมายก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนถึงประเภทของหลักประกันที่นายจ้างสามารถเรียกรับได้ว่ามีอะไรบ้างซึ่งได้แก่...
1. เงินสด 2. ทรัพย์สิน 3. การค้ำประกันด้วยบุคคล ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป เช่น กรณีค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบจะต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ
Cr. pixabay
โดยตัวอย่างคดีในวันนี้จะเกี่ยวข้องกับกรณีค้ำประกันการทำงานด้วยบุคคล ซึ่งนายจ้างได้ฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ไม่ถูกต้อง ผลจะเป็นยังไงมาดูกันเลยครับ
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่านายบุญมี และนางสาวบุญมา ลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการและพนักงานขาย มีหน้าที่ควบคุมดูแลสินค้า ขายสินค้า และนำส่งเงินจากการขายสินค้าให้โจทก์
ลูกจ้างทั้งสองเริ่มงาน 29 มิถุนายน 2554 – 31 กรกฎาคม 2555 ค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 9,000 บาท โดยมีนางสาวบุญยิ่ง "จำเลย" เป็นผู้ค้ำประกันไม่จำกัดวงเงินและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม
ต่อมา ลูกจ้างทั้งสองนำสินค้าและเงินไปโดยทุจริต เป็นเงิน 224,330.36 บาท ลูกจ้างทั้งสองคนทำข้อตกลงผ่อนชำระและชดใช้ให้ก่อนออกจากงานเป็นเงิน 40,000 บาท และได้ชดใช้เพิ่มเติมให้อีก 15,000 บาท จึงมียอดหนี้คงเหลือ 169,330.36 บาท
จำเลยในฐานะผู้รับประกันจึงต้องรับผิด 60 เท่า เป็นเงิน 18,000 บาทของลูกจ้างแต่ละคน คิดเป็นเงิน 36,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
Cr. pixabay
ศาลแรงงานภาค 3 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า
ศาลแรงงานภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า ลูกจ้างทั้งสองซึ่งมีจำเลยค้ำประกันการทำงานทำความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างมียอดเงินคงเหลือค้างชำระ 169,330.36 บาท
จำเลยค้ำประกันลูกจ้างทั้งสองในวันที่ 29 มิถุนายน 2554 โดยระบุในสัญญาค้ำประกันว่าจะรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมในความเสียหายที่ลูกจ้างทั้งสองก่อหนี้จนครบจำนวน ซึ่งขัดต่อประกาศกระทรวงแรงงาน จึงตกเป็นโมฆะ
จึงปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า ประกาศกระทรวงแรงงานดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
Cr. pixabay
สัญญาค้ำประกันด้วยบุคคลที่จำเลยได้ทำไว้ต่อโจทก์ย่อมเป็นหลักประกันตามประกาศฉบับนี้
กรณีนายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันโดยการค้ำประกันด้วยบุคคล โดยประกาศข้อ 10 กำหนดว่าวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ
เห็นได้ว่าเป็นเรื่องกำหนดให้การทำสัญญาค้ำประกันการทำงานต้องกำหนดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ
“ไม่ได้ให้นายจ้างทำสัญญากำหนดวงเงินให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเพียงใดก็ได้ แต่จะเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเกินกว่า 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยไม่ได้ดังที่โจทก์อุทธรณ์”
Cr. pixabay
เพราะหากทำเช่นนั้นได้ นายจ้างก็สามารถฉวยโอกาสทวงถามเรียกร้องผู้ค้ำประกันให้ชำระค่าเสียหายเป็นจำนวนตามสัญญาค้ำประกันซึ่งเกินกว่า 60 เท่าดัง โดยคาดหวังว่าจะได้รับชำระค่าเสียหายเต็มตามสัญญาหรือเกินกว่า 60 เท่าตามกฎหมายจากผู้ค้ำประกันซึ่งอาจไม่รู้ถึงสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว
เหมือนที่โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหายเต็มจำนวนซึ่งเกินกว่า 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยก่อนฟ้องคดีนี้
แสดงให้เห็นว่าโจทก์มิได้สนใจที่จะปฏิบัติต่อผู้ค้ำประกันด้วยความเคารพต่อประกาศกระทรวงแรงงานฉบับดังกล่าว
ที่ศาลแรงงานภาค 3 วินิจฉัยว่า สัญญาค้ำประกันตามฟ้องตกเป็นโมฆะ และพิพากษายกฟ้องชอบด้วยเหตุและผลแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
Cr. pixabay
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 2782/2560)
สรุป เรื่องนี้ ศาลท่านเห็นว่า เมื่อประกาศกระทรวงแรงงานฯ ได้กำหนดเงื่อนไขในการรับผิดชอบของผู้ค้ำประกัน โดยให้รับผิดไม่เกิน 60 เท่าของค่าจ้างเฉลี่ยรายวันของลูกจ้าง
เมื่อนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม โดยทำสัญญาให้ผู้ค้ำประกันรับผิดโดยไม่จำกัด
สัญญาค้ำประกันจึงขัดต่อประกาศกระทรวงแรงงานดังกล่าว และเป็นโมฆะ แม้ในขณะฟ้องจะเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไม่เกิน 60 เท่าก็ตาม
เมื่อไม่มีสัญญาค้ำประกันเป็นหลักฐาน ศาลจึงต้องยกฟ้องในที่สุด
ประกาศกระทรวงแรงงาน
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา