Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ตามติด4ล้อ
•
ติดตาม
28 ส.ค. 2019 เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์
พื้นฐานการเซ็ทอัพช่วงล่าง (ตอนที่ 2) ว่าด้วยเรื่อง ช๊อคอัพกระบอกเดี่ยวและกระบอกคู่
หนึ่งในอุปกรณ์พื้นฐานของช่วงล่าง ที่รถยนต์ทุกคันจะต้องมีนั้น ก็คือ "ช๊อค-อัพ" หรือที่เราๆ คุ้นหูกันในชื่อ "โช้ค-อัพ" นั่นเอง ซึ่งความจริงแล้ว "ช๊อค-อัพ" มาจากภาษาอังกฤษคำว่า ‘Shock Absorber’ (อ่านว่า ‘ช็อค-แอฟซอบเบอร์’) ซึ่งสุดท้ายแล้ว ด้วยจินตนาการอันลึกซึ้งของพวกเราชาวไทย คำดังกล่าวก็เลยเพี้ยนมาเป็นคำว่า "โช้ค-อัพ" แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นของบทความนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกเสียงผิด หรือ ถูกแต่อย่างใด เพราะว่า ไม่ว่าเราจะเรียกมันว่า "ช็อค" หรือว่า "โช้ค" ผมเชื่อว่าทุกคนก็เข้าใจในความหมายเดียวกันว่ามันคือ อุปกรณ์ช่วงล่างที่ใช้ลดแรงสั่นสะเทือน แต่อย่างไรก็ดี ในบทความนี้ ผมขอใช้คำว่า "ช็อค-อัพ" เพื่อความสะดวกและง่ายต่อความเข้าใจของทุกคนนะครับ
ระบบ ช๊อค-อัพ ที่ใช้ในรถยนต์ส่วนบุคคลในปัจจุบันนี้ หลักๆ แล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 2ประเภท ได้แก่ ช๊อคอัพกระบอกเดี่ยว (Mono-tube) และ ช๊อคอัพกระบอกคู่ (Twin-tube) ซึ่งช๊อคทั้งสองประเภทนี้ มีโครงสร้างและหลักการทำงานที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มีจุดเด่น และ จุดด้อยที่ต่างกันด้วยครับ
ช๊อค-อัพ H.Drive CLUB RACE (กระบอกเดี่ยว)
ท่านผู้อ่านหลายต่อหลายท่านที่คลุกคลีกับรถคงอาจจะเคยได้ยินว่า ‘ที่สุด’ ของช๊อค-อัพ ต้องเป็นกระบอกเดี่ยวเท่านั้น!!! คำถามก็คือว่า ทำไม ช๊อค-อัพกระบอกเดี่ยวถึงเหนือกว่า? และที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่า ที่เค้าว่ากันว่า กระบอกเดี่ยวนี่แหละ เจ๋งสุดแล้ว จบสุดแล้ว กระบอกเดี่ยวมันเจ๋งขนาดนั้นเลยเหรอ หรือว่าเป็นเพียง "ความเชื่อ" ที่เล่าต่อๆ กันมา โดยไม่ได้อ้างถึงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน
แต่ทว่า ก่อนที่เราจะไปเจาะลึก-และ-วิเคราะห์ จุดเด่น-จุดด้อย ผมว่าเรามาเริ่มกันที่โครงสร้างและหลักการทำงานกันก่อนดีกว่าครับ ไปเริ่มกันที่ ช๊อค-อัพกระบอกคู่กันก่อนเลย
1. ช๊อค-อัพ กระบอกคู่ (Twin-tube Shock Absorber)
1.1 โครงสร้างและหลักการงานของช๊อค-อัพกระบอกคู่ ช๊อค-อัพกระบอกคู่มีลักษณะเป็นทรงกระบอกซ้อนกัน 2 ชั้น โดยลูกสูบจะเคลื่อนที่ขึ้น-ลง ภายในกระบอกสูบในเท่านั้น (กระบอกสูบเล็ก) ที่กระบอกสูบนอกจะเป็นที่เก็บน้ำมันช๊อค และแก๊สความดันต่ำ (ไนโตรเจนความดันต่ำ)
รูปภาพแสดงถึงโครงสร้างช๊อค-อัพทั้ง 2 ประเภท
ด้านซ้าย ช๊อค-อัพกระบอกเดี่ยว
ด้านขวา ช๊อค-อัพกระบอกคู่
ช๊อค-อัพกระบอกคู่จะมีวาล์วน้ำมันทั้งหมด 2ตำแหน่ง วาล์วตัวแรกอยู่ที่ลูกสูบ (Piston valve) มีหน้าที่ลำเลียงน้ำมันช๊อคให้ไหลขึ้น และ ลง โดยวาล์วตัวนี้ ถือเป็นวาล์วหลักในการสร้างความหนืด (จะหนืดมาก หนืดน้อย ขึ้นอยู่กับวาล์วตัวนี้เป็นหลักครับ) ส่วนวาล์วตัวที่สองอยู่ที่ฐานของช๊อค-อัพ (Base valve) ทำหน้าที่ปล่อยให้น้ำมันส่วนเกินให้ไหลไปยังกระบอกสูบนอก (กระบอกสำรอง) ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นถังพักของน้ำมันช็อค-อัพนั่นเอง
ขณะที่แกนช็อค-อัพเคลื่อนที่ขึ้นลงตามการเคลื่อนที่ของล้อ ลูกสูบจะดันให้น้ำมันช๊อคไหลผ่านวาล์ว แบบกลับไป-กลับมาระหว่างลูกสูบนอกและลูกสูบใน จึงเกิดเป็นความหนืดเพื่อช่วยลดแรงสั่นสะเทือนนั่นเอง
1.2 จุดเด่นและจุดด้อยของช๊อค-อัพแบบกระบอกคู่
จุดเด่น
1.ต้นทุนการผลิตต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับช๊อค-อัพแบบกระบอกเดี่ยวแล้ว ช๊อค-อัพกระบอกคู่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำและมีระยะเวลาการผลิตที่สั้นกว่ามาก ทำให้รถยนต์ส่วนมากในปัจจุบัน เลือกใช้ช๊อค-อัพแบบกระบอกคู่เป็นหลัก
2.นุ่มกว่า เนื่องจากว่าภายในกระบอกช๊อค-อัพ มีเพียงน้ำมันช๊อคและแก๊สความดันต่ำ ทำให้การขับขี่มีความนุ่มนวล ไม่กระด้างเมื่อเปรียบเทียบกับช๊อค-อัพกระบอกเดี่ยว (ในช๊อค-อัพกระบอกเดี่ยว มีแก๊สความดันสูง เป็นผลให้เกิดความกระด้าง)
จุดด้อย
น้ำมันช๊อคเกิดฟองได้ง่าย สำหรับช๊อค-อัพแบบกระบอกคู่นั้น เนื่องจากว่าน้ำมันและแก๊ส ไม่ได้แยกจากกันอย่างชัดเจน (รวมกันอยู่) ขณะที่กระบอกสูบเคลื่อนที่ขึ้น-ลงนั้น ทำให้อากาศส่วนหนึ่งไหลเข้าไปปนกับน้ำมันช๊อค มีโอกาสที่จะเกิดฟองได้ง่ายมาก ซึ่งเราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "Aeration" (การที่อากาศเข้าไปรวมตัวกับของเหลว) ซึ่งจะเกิดได้ง่ายเมื่อน้ำมันช๊อคมีอุณหภูมิสูง และในเมื่อน้ำมันช๊อคเต็มไปด้วยฟองอากาศแล้ว จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการหน่วงลดลง พูดง่ายๆ ก็คือว่า ความหนืดลดลง สมรรถนะการขับขี่ จึงลดลงนั่นเองครับ
youtube.com
Monotube vs Twintube
Video showing the difference between KYB twin tube and monotube shock absorbers.
วิดีโอ:เปรียบการเกิดฟองอากาศระหว่างช๊อค-อัพกระบอกเดี่ยว (ด้านซ้าย) และกระบอกคู่ (ด้านขวา)
2. ช็อค-อัพ กระบอกเดี่ยว (Mono-tube Shock Absorber)
2.1 โครงสร้างและหลักการงานของช๊อค-อัพกระบอกเดี่ยว
โครงสร้างของช็อค-อัพกระบอกเดี่ยวนั้น มีลักษณะเป็นกระบอกสูบเดี่ยวๆ โดยภายในมีลูกสูบขนาดใหญ่ (ลูกสูบหลัก) เคลื่อนที่ขึ้นลงตลอดแนวความยาว และที่ฐานของกระบอกช็อค-อัพนั้น จะเป็นห้องของแก๊สความดันสูง ซึ่งจะถูกกั้นไว้ด้วยลูกสูบลอย (Free piston) โดยจะเคลื่อนที่ขึ้น-ลงสัมพันธ์กับลูกสูบหลัก
ลูกสูบลอยที่ได้รับซีลอย่างแน่นหนา จะกั้นระหว่างน้ำมันช็อคและแก๊สให้แยกออกจากกันโดยสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น น้ำมันช๊อคและแก๊ซ จะไม่มีทางสัมผัสกันโดยตรง
2.2 จุดเด่นและจุดด้อยของช๊อค-อัพแบบกระบอกเดี่ยว
จุดเด่น
ไม่เกิดฟองอากาศ – เนื่องจากว่า น้ำมันช็อค-อัพ และแก๊สแรงดันสูงนั้น ถูกกั้นให้แยกออกจากกันโดยสมบูรณ์ โอกาสที่จะเกิดฟองอากาศจึงแทบจะเป็นศูนย์ ดังนั้น ช๊อค-อัพแบบกระบอกเดี่ยวจึงสร้างแรงหนืดได้อย่างคงที่ ตัวช๊อค-อัพจะยังคงสร้างแรงหนืดได้อย่าง "เสมอต้น-เสมอปลาย" ถึงแม้จะใช้งานอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง
รูปภาพแสดงการเคลื่อนที่ของแกนช๊อคอัพแบบกระบอกเดี่ยว
หมายเลข 1 = เคลื่อนที่ช้าสุด
หมายเลข 4 = เคลื่อนที่เร็วสุด
จากรูปภาพข้างบน จะเห็นได้ว่า ช๊อค-อัพแบบกระบอกเดี่ยวก็มีโอกาสเกิดฟองอากาศในน้ำมันช๊อคได้เช่นกัน (เกิดฟองในหมายเลข 3 และ 4) แต่ปริมาณของฟองอากาศนั้น มีขนาดน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับช๊อค-อัพแบบกระบอกคู่
สร้างแรงหนืดได้เสถียรมากกว่า - ช๊อค-อัพแบบกระบอกเดี่ยว จะมีปริมาตรของน้ำมันช็อคที่เยอะกว่า ทำให้สามารถระบายความร้อนได้ดีกว่า นอกจากนั้นแล้ว เนื่องจากว่า ผนังของกระบอกช๊อคมีเพียงแค่ชั้นเดียว (ช๊อค-อัพแบบกระบอกคู่ มีผนัง 2 ชั้น) ทำให้น้ำมันช๊อคระบายความร้อนได้ดีขึ้นไปอีก และการที่สามารถรักษาอุณหภูมิน้ำมันช๊อคไม่ให้สูงเกินไปนี่เอง ที่ทำให้ช๊อคอัพแบบกระบอกเดี่ยว สามารถสร้างแรงหนืดได้เสถียรมากกว่า
รูปภาพแสดงประสิทธิภาพในการระบายความร้อน
ซ้าย – ช๊อค-อัพกระบอกเดี่ยว
ขวา – ช๊อค-อัพกระบอกคู่
จุดด้อย
1.กระด้างกว่า – เนื่องจากว่า ช็อค-อัพแบบกระบอกเดี่ยว มีการอัดแก๊สแรงดันสูงไว้ที่ด้านล่าง ทำให้มีความกระด้างในการขับขี่มากกว่า ยิ่งแก๊สมีแรงดันมากเท่าไหร่ ก็จะมีความกระด้างมากขึ้นมากเท่านั้น
2.ความทนทานน้อยกว่า – เนื่องจากว่า ช็อค-อัพแบบกระบอกเดี่ยว มีผนังเพียงแค่ชั้นเดียว เมื่อช๊อค-อัพมีการกระแทกหรือได้รับความเสียหายแล้ว จะส่งผลโดยตรงต่อลูกสูบภายใน ทำให้สมรรถนะการทำงานของช็อค-อัพลดลง จนถึงขั้นที่ไม่สามารถใช้งานได้อีก
แต่สำหรับช๊อค-อัพแบบกระบอกคู่แล้ว ถึงแม้ว่ากระบอกสูบภายนอกจะได้รับความเสียหาย แต่ทว่ากระบอกสูบด้านในนั้น ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ
3.สโตรคน้อยกว่า – เมื่อเปรียบเทียบช็อค-อัพกระบอกเดี่ยวและกระบอกคู่ที่มีความยาวเท่ากันแล้ว ช็อค-อัพแบบกระบอกเดี่ยวจะมีสโตรค (Stroke = ระยะยืด-หด) ที่สั้นกว่า ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ช็อค-อัพแบบกระบอกเดี่ยว มีการอัดแก๊สแรงดันสูงไว้ที่ด้านล่างของกระบอกนั่นเองครับ
หลังจากที่เราได้ทราบจุดเด่น-จุดด้อยของช็อค-อัพแต่ละประเภทแล้ว เราจะไปดูกันต่อว่า ช็อค-อัพแต่ละแบบ เหมาะแก่การใช้งานประเภทไหนบ้าง
ช็อค-อัพ แบบไหน เหมาะกับรถบ้าน?
สำหรับรถบ้าน ใช้งานโดยทั่วไปแล้ว ปัจจัยสำคัญอันดับแรกก็คือ "ความนุ่มนวลของการขับขี่" (Ride Comfort) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็เข้าทาง ‘ช็อค-อัพกระบอกคู่’ โดยทันที เพราะว่าช็อค-อัพกระบอกคู่นั้น สามารถให้ความนุ่มนวลในการขับขี่ได้ดีกว่า และมีความทนทานมากกว่า นอกจากนั้นยังมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าอีกด้วย
ช๊อค-อัพ OEM กระบอกคู่ของ HONDA JAZZ GE
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทำให้รถยนต์ส่วนบุคคลในปัจจุบัน ต่างมาพร้อมกับช็อค-อัพแบบกระบอกคู่นั่นเองครับ
ช็อค-อัพ แบบไหน เหมาะกับรถแต่งสายสตรีท?
สำหรับรถแต่งสายสตรีท ที่ต้องการทั้ง "ความนุ่มนวล" สำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน และ "สมรรถนะการขับขี่" เพราะฉะนั้น มันจึงถือเป็นอะไรที่ค่อนข้างซับซ้อนในการที่จะตัดสินใจว่า ช๊อค-อัพแบบไหน ที่เหมาะกับรถสายสตรีท
ช๊อค-อัพ TEIN STREET ADVANCE (กระบอกคู่) ของ SUBARU BRZ
อย่างไรก็ตามสำหรับขาซิ่งที่เน้นสมรรถนะการใช้งาน ก็อาจจะเล็งไปที่กระบอกเดี่ยวก็ไม่ผิดครับ เอาเป็นว่าถ้าใครเน้น "ความนุ่มนวล" เน้นการใช้งานในชีวิตประจำวัน ขับในเมืองเป็นหลัก ก็จัดแบบกระบอกคู่ แต่ถ้าใครเน้น "สมรรถนะ" วิ่งเซอร์กิตถี่ๆ ลงแทร็คเดย์บ่อยๆ ก็จัดแบบกระบอกเดี่ยวไปเลยครับ
ช๊อค-อัพ TEIN MONOFLEX (กระบอกเดี่ยว) ใน HONDA S2000
ช็อค-อัพ แบบไหน เหมาะกับรถแข่งเซอร์กิต?
สำหรับการแข่งขันประเภทเซอร์กิตแล้ว การเข้าโค้งอย่างต่อเนื่องนั้น มีผลทำให้น้ำมันช็อคมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างมหาศาล อีกทั้งยังต้องเจอกับความร้อนที่ถ่ายเทมาจากจานเบรก ทำให้น้ำมันช็อค ยิ่งร้อนขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น ช็อค-อัพสำหรับรถแข่งจึงต้องสามารถระบายความร้อนได้อย่างรวดเร็ว และคุณสมบัตินี้ ก็อยู่ในช็อค-อัพแบบกระบอกเดี่ยวนั่นเองครับ นั่นทำให้ช็อค-อัพกระบอกเดี่ยว กลายมาเป็นขวัญใจของนักซิ่งเซอร์กิต และเป็นไอเทมที่ขาดไม่ได้เลยในวงการมอเตอร์สปอร์ต
ช๊อค-อัพ Bilstein กระบอกเดี่ยว ติดตั้งใน SILVIA S15 ของ ‘อันเดอร์ ซูซุกิ’
นอกจากนั้นแล้ว ช็อค-อัพกระบอกเดี่ยว ยังมีวาล์วลูกสูบที่ใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่า ซึ่งทำให้มันสามารถรับแรงกดแบบกระแทกได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งแรงประเภทนี้ จะเกิดขึ้นขณะรถแข่งปีนเอเป็กซ์นั่นเองครับ
ถึงแม้ว่าช็อค-อัพแบบกระบอกเดี่ยว จะมีสโตรคที่น้อยกว่า แต่สำหรับการแข่งขันในเซอร์กิตแล้ว การวิ่งบนแทร็คพื้นเรียบนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้สโตรคที่มากมาย เพราะฉะนั้น ข้อด้อยในเรื่องของสโตรค จึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับรถแข่งประเภทเซอร์กิตนั่นเองครับ
บทสรุป
จะเห็นได้ว่า ทั้งช็อค-อัพแบบกระบอกเดี่ยว และกระบอกคู่ ต่างก็มีข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบ ที่แตกต่างกัน นั่นทำให้ช็อค-อัพแต่ละแบบ มีความเหมาะสมในการใช้งานในลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราไม่สามารถพูดได้เต็มปาก หรือตัดสินได้อย่างเด็ดขาด ว่า ช็อค-อัพแบบไหน ที่เหนือกว่ากัน เพราะช็อค-อัพทั้งสองแบบ ต่างมีจุดเด่นที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนั่นเองครับ
ก็จบไปแล้วนะครับกับบทความนี้ หวังผู้อ่านจะได้รับความรู้ไม่มากก็น้อยนะครับ ตอนต่อไปจะพูดเรื่อง PUSH ROD SUSPENSION คืออะไรแล้วเราจะมา เจาะลึกถึงหลักการทำงาน และวิเคราะห์ข้อได้เปรียบกันในตอนหน้าครับ หากชอบบทความดีๆแบบอย่าลืม กดไลค์ กดแชร์ กดติดตามเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ 🙏
ที่มา:www.johsautolife.com
#Berlin
10 บันทึก
33
4
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เจาะลึกพื้นฐานการเซ็ทอัพช่วงล่างให้แน่นเกาะติดถนน
10
33
4
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย