29 ส.ค. 2019 เวลา 04:15
ปอกเปลือกเรื่องสั้นๆ
บทความเรื่อง "ปลอกเปลือกเรื่องสั้นๆ" อันนี้ แอดตั้งใจจะเขียนเรื่องราวที่มาที่ไปของการหลงเข้ามาเขียนเรื่องสั้น ซึ่งเอาจริงๆ ในชีวิตตั้งแต่เกิดจนอายุเลยมาจะหลักสี่ (ตอนนั้น) ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเขียนอะไรแบบนี้ได้เลย
เลยอยากเล่าให้พี่ๆ น้องๆ ที่ติดตามกัน ได้รู้ว่า เบื้องหลังกว่าจะมาเป็นแอดจอมโรคจิต เขียนแต่เรื่องวิปลาส ฆาตกรรม เรื่องไหนไม่มีคนตาย คนอ่านจะผิดหวังมาก (เลยไม่แน่ใจว่าใครโรคจิตกว่ากันกันแน่) จนมาถึงจุดนี้ มันมีที่มาที่ไปเหมือนกันพอลองมานึกดูแล้ว เลยเอามาเล่าไว้ เป็นการทบทวนตัวเองอีกทางหนึ่งด้วย
ไปเริ่มกันเลยกับ บทที่ 1 : my idol
เขาบอกว่านักเขียน มักเริ่มต้นมาจากการเป็นนักอ่านมาก่อนทั้งสิ้น
แต่สำหรับแอด ซึ่งตัวเองก็ไม่ใช่นักเขียนอาชีพอะไร เพราะฉะนั้น ก็เลยไม่ค่อยอ่านอะไร 5555 ความจริงคือคิดว่าตัวเองเป็นคนอ่านหนังสือน้อยจริงๆ ครับ ถ้าเอาแบบจบเล่มเลยก็คงไม่กี่เล่มจริงๆ นะ น่าจะน้อยถ้าเทียบกันคนอื่นๆ เอาแบบนี้ดีกว่า
ซึ่งหนังสือที่แอดอ่านแบบจริงจังเลยตอนสมัยวันรุ่นก็มีหลายเล่มด้วยกัน คงต้องนับว่านักเขียนที่แอดอ่านและติดตาม ก็เป็นเหมือนต้นแบบและเป็นครูทางอ้อมของแอดด้วย ซึ่งถ้าเอ่ยชื่อแล้ว ทุกคนคงไม่แปลกใจที่แอดเขียนงานมาในแนวทางนี้ ไปเริ่มกันเลยที่ อันดับ....
1. สรจักร
นามปากกาของ คุณสรจักร ศิริบริรักษ์ ซึ่งต่อไปขออนุญาตเรียกพี่สรจักร ซึ่งถ้าจำไม่ผิด แอดเริ่มได้อ่านงานเขียนพี่สรจักรช่วงเรียนมอปลายกับเริ่มเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งแน่นอนว่าเล่มแรกคือ
"ศพข้างบ้าน"
พี่สรจักร ที่นักอ่านทั่วไปขนานนามให้ว่า สตีเฟ่น คิงส์ เมืองไทย พอดีผมไม่ค่อยได้อ่านสตีเฟ่น คิงส์แบบจริงจังเท่าไหร่ เลยไม่แน่ใจว่าจะเปรียบเทียบแบบนั้นได้ไหม แต่ถ้าส่วนตัว เท่าที่ผ่านตามา ก็ต้องยอมรับว่างานเขียนพี่สรจักร เป็นงานเขียนที่ฝังแน่นในความทรงจำมาตลอด แค่ได้ยินชื่อหนังสือในหมวดนี้ของพี่สรจักร เป็นอันต้องอยากกลับเปิดอ่านซ้ำๆ เสียดายที่มันสูญหายไปตามกาลเวลาเสียแล้ว
ที่มา naiin.com
แค่ชื่อหนังสือ ก็ทำเอาคนอ่านอดไม่ได้ที่ต้องหยิบมาเปิด แม้ว่าชื่อจะหลอนขนาดไหนก็ตาม เช่น ผีหัวขาด ศพข้างบ้าน ศพท้ายรถ ศพใต้เตียง เป็นต้น
ผมคงจะบอกว่างานพี่สรจักรมีอิทธิพลกับงานเขียนของผมอย่างมากก็ว่าได้ เพราะจำได้ว่าแต่ละเรื่องที่อ่าน มันทำเอาผมขนลุกแบบไม่รู้ตัว มันหลอกหลอนแบบไม่ทำให้เราตกใจ แต่ไม่อาจมองไปในมุมมืดใดๆ ได้นานโข ไม่ได้เอาฉากสยองเลือดสาดมาข่มขวัญ แต่เอามวลความสะพรึงมาครอบเราไว้ สะกดจนเราหวาดหวั่นกับจิตใจของตัวเองไปเลยทีเดียว
และยิ่งเมื่อมาทราบว่าพี่สรจักรได้จากไปแล้ว เป็นที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ผมคงไม่ได้มีโอกาสได้อ่านงานใหม่ๆ ฝีมือพี่สรจักรอีกต่อไปแล้ว
คงได้แต่แนะนำพี่ๆ น้องๆ ที่อาจเคยพลาดงานเขียนแนวนี้ไป ถ้าชอบ ขอแนะนำจริงๆ ว่าห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง เชื่อเรื่องสั้นๆ เหอะ
2. มนันยา
นามปากกาของ คุณมนันยา ธนะภู นักเขียนและนักแปลชั้นครู ที่นักอ่านรุ่นเก๋าต้องผ่านตา
งานเขียนของพี่มนันยา ที่แอดได้อ่านนั้นคงราวๆ มหาวิทยาลัยปีต้นๆ เพราะตอนนั้นมีเงินเก็บบ้าง เหลือจากเงินที่พ่อแม่ส่งให้ไปเรียน ก็เก็บไว้ ซื้อเทปบ้าง ซื้อหนังสือบ้าง
และหนังสือเรื่องสั้นแปล ของมนันยา เป็นหนังสือชุดหนึ่งที่แอดซื้อไว้อ่านหลายเล่มเลยทีเดียว
แม้ว่าเป็นหนังสือแปลจากเรื่องของนักเขียนต่างประเทศก็จริงอยู่ แต่ถ้าคนแปลไม่แตกฉานในภาษา หรือไม่มีพื้นฐานการเขียนเลย คงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแปลงานเขียนจากนักเขียนหลายร้อยชีวิต ออกมาให้ได้อ่านกันได้อย่างได้อรรถรสเต็มเปี่ยมขนาดนี้
ที่มา goodreads.com
ดูแค่ชื่อเรื่องในรวมเรื่องแปลของเล่มในภาพ ก็คงพอจะเดาความระทึกขวัญ ชวนคนอ่านให้จุกแน่นในท้องจนรู้สึกประหลาด มีทั้งหักมุมจนอ้าปากค้าง หรือสยดสยองจนไม่กล้านึกภาพตาม พี่มนันยาก็ถ่ายทอดออกมาให้เป็นภาษาไทยอ่านได้ง่ายๆ และบันเทิงแบบขนหัวลุกกันมากมายหลายต่อหลายเล่ม
แน่นอนว่าความวิปลาสของแอด ก็คงมาจากการอ่านงานของพี่มนันยาด้วยส่วนหนึ่ง อย่างไม่ต้องสงสัย
3. ศศิวิมล
นามปากกาของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาจิตรกรรม (ทัศนศิลป์) นอกจากอาจารย์จะวาดสีน้ำได้งดงามอันดับต้นของเมืองไทยแล้ว หรือหุ่นกระบอกที่อาจารย์วาดหน้าให้ก็งดงามเป็นศิลปะชิ้นเอกของไทยได้สบายๆ
แต่งานเขียนของอาจารย์ก็นับว่าไม่ธรรมดา ผมจำได้ว่าได้อ่านเล่มแรกคือ "รวมเรียงความของศศิวิมล ปฐมบรรพ ลำดับแรก" แค่ชื่อก็อัศจรรย์แล้ว
ที่มา FB page : นิตยสารพลอยแกมเพชร
งานเขียนของอาจารย์ อาจไม่ได้เป็นแนวแบบที่แอดเขียนทุกวันนี้ แต่อาจารย์คงเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา ให้ออกมาเป็นเรื่องราวได้อย่างงดงาม สนุกสนาน และได้แง่คิด ซึ่งนั่นนับเป็นงานเขียนที่เรียบง่าย แต่มีคุณค่ายิ่ง และไม่มีความล้าสมัยเลยแม้แต่น้อย
ผมจึงนับถือหนังสือและงานเขียนของอาจารย์จักรพันธุ์ ว่าเป็นตัวอย่างในการถ่ายทอดความคิดให้ออกมาเป็นตัวอักษรให้แอดได้เรียนรู้มาแบบไม่รู้ตัวเลยทีเดียว
และจริงๆ ยังมีอีกหลายคนที่เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนของแอด จนมาถึงทุกวันนี้ เช่น กิมย้ง ซึ่งดาบมังกรหยก นับเป็นหนังสือนิยายกำลังภายในจีน ที่แอดชื่นชอบมากๆ เรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจมีส่วนให้งานเขียนแอด อาจติดสำนวนแบบโบราณมาบ้าง ซึ่งคงไม่แปลกเพราะแอดเป็นคนเริ่มโบราณแล้ว สิ่งแวดล้อมเป็นยังไง เราก็ปรับตัวมาแบบนั้น
ก็หวังว่าพี่ๆ น้องๆ จะพอมองเห็นฐานรากของแนวการเขียนของแอดแล้ว ว่ามีแรงบันดาลใจมาจากใครกันบ้าง
และสุดท้ายของบทแรกนี้ ขอแนะนำทุกท่าน หากมีโอกาส ก็ขอเชิญชวนทุกท่าน ได้ลองอ่านงานเขียนชั้นครูของนักเขียนข้างจ้นที่แอดแนะนำไปแล้วกันให้จงได้ ไม่งั้นจะเสียใจไม่รู้ด้วยนะ จะบอกให้
สุดท้าย : ช่วงนี้มีนิทรรศการหมุนเวียน ผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ที่บ้านของท่านเอง รู้สึกช่วงนี้เป็นหุ่นกระบอกสามก๊ก สวยสดงดงาม ใครมีโอกาสอยากให้ไปชมกันครับ
แล้วถ้ามีโอกาส จะมาปลอกปลือกเรื่องสั้นๆ กันต่อในอนาคตอีกนะทุกคน see you soon จ้า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา