31 ส.ค. 2019 เวลา 19:05
พุทธมนต์บรรเทาความโกรธ ปรับใจให้เป็นกลาง เพื่อชีวิตมีสุข
ying 31 August 2019
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) กล่าวไว้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเมตตากรุณา เพราะชาวพุทธจะได้รับการสั่งสอนให้มีเมตตากรุณา ให้ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นด้วยกาย วาจา และมีจิตใจปรารถนาดี (พุทธมนต์บรรเทาความโกรธ)
อย่างไรก็ตาม ความเมตตาก็มีคู่ปรับสำคัญอย่างหนึ่งคือ “ความโกรธ”
ความโกรธเป็นศัตรูที่คอยขัดขวางไม่ให้เกิดเมตตาขึ้น คนบางคนเป็นผู้มักโกรธ โกรธง่าย และพอโกรธขึ้นมาแล้วก็ต้องทำอะไรรุนแรงออกไป ทำให้เกิดความเสียหาย ถ้าทำอะไรไม่ได้ก็หงุดหงิดทรมานใจตัวเอง ในเวลานั้นความเมตตาจะหลบหาย ไม่รู้ว่าไปซ่อนตัวอยู่ที่ไหน ไม่ยอมปรากฏให้เห็น
เราจึงควรรู้ให้เท่าทันจิตเพื่อหยุดความโกรธให้ทันก่อนที่ความโกรธจะเริ่มแสดงออกทางสีหน้า การกระทำ และคำพูดต่อไป บางคนพอโกรธเข้า จากคนดี ๆ ก็กลายเป็นผีบ้า ขี้วีน ขี้เหวี่ยง หรือบางคนก็ยั้งอารมณ์ไม่อยู่ ถึงขั้นลงไม้ลงมือให้อีกฝ่ายบาดเจ็บหรือเสียชีวิตไปเลยก็มี อย่างที่เราเห็นกันบ่อย ๆ ในข่าว
ดังนั้นความโกรธจึงไม่เป็นผลดีกับใคร นอกจากมีแต่เสียกับเสีย
บทสวดมนต์ที่ขอแนะนำเพื่อใช้รับมือกับความโกรธก็คือ บทแผ่อุเบกขา เพื่อปรับใจของเราให้เป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยขจัดความหงุดหงิดขัดเคืองใจให้เบาบางลงได้
บทแผ่อุเบกขา
กัมมัสสะกา กัมมะทายาทา กัมมะโยนี กัมมะพันธุ กัมมะปะฏิสะระณา ยัง กัมมัง กะริสสามะ กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสามะ
2
พวกเราทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน เราเป็นทายาทผู้รับผลแห่งกรรม เราเป็นผู้เกิดมาแต่กรรม เราเป็นเผ่าพันธุ์แห่งกรรม เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมอันใดไว้เป็นบุญหรือบาป เราจะได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป
Advertisement
พระคาถาบทที่เลือกมานี้นอกจากจะมีความสั้นกระชับ สามารถท่องจบได้ในเวลาอันรวดเร็วเพื่อดับความโกรธอย่างทันท่วงทีแล้ว ความหมายของบทสวดยังมุ่งเน้นให้เราเข้าใจถึงความเป็นจริงที่ทุกชีวิตไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นก็คือ “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถลดละความโกรธที่มีต่อผู้อื่นได้ง่ายขึ้น
อีกหนึ่งคาถาที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ บทพิจารณาสังขาร (บางส่วน) ซึ่งกล่าวถึงหลักไตรลักษณ์ คืออาการ 3 อย่างที่เป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง ได้แก่ อนิจจัง – ไม่เที่ยง ทุกขัง – เป็นทุกข์ และ อนัตตา – ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งพระคาถาทั้งสองบทที่เลือกมานี้คือพระคาถาที่จะเตือนใจเราเรื่องไตรลักษณ์ได้ดี
บทพิจารณาสังขาร (บางส่วน)
สัพเพ สังขารา อะนิจจา
สังขารคือร่างกายจิตใจ แลรูปธรรมนามธรรม ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป
สัพเพ สังขารา ทุกขา
สังขารคือร่างกายจิตใจ แลรูปธรรมนามธรรม ทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นทุกข์ทนยาก เพราะเกิดขึ้นแล้วแก่ เจ็บ ตายไป
สัพเพ ธัมมา อะนัตตา
สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งที่เป็นสังขาร แลมิใช่สังขาร ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ควรถือว่าเรา ว่าของเรา ว่าตัวของเรา
อะธุวัง ชีวิตัง
ชีวิตเป็นของไม่ยั่งยืน
ธุวัง มะระณัง
ความตายเป็นของยั่งยืน
อะวัสสัง มะยา มะริตัพพัง
อันเราจะพึงตายเป็นแท้
มะระณะปะริโยสานัง เม ชีวิตัง
ชีวิตของเรา มีความตายเป็นที่สุด
ชีวิตัง เม อะนิยะตัง วะตะ
ชีวิตของเราเป็นของไม่เที่ยง ควรที่จะสังเวช
Advertisement
วิธีใช้ เมื่อรู้ตัวว่าเริ่มรู้สึกโกรธ หากทำได้ เราควรจะเดินออกจากสถาการณ์นั้นก่อน แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ จำเป็นต้องอยู่ในสถานการณ์นั้นต่อไป ให้ลองสวดพระคาถาที่แนะนำนี้ เพื่อดึงใจของเราออกจากเรื่องที่โกรธ และเรียกสติ สร้างปัญญาให้ตัวเอง อารมณ์โกรธที่มีก็จะค่อย ๆ ผ่อนลงและอาจกลายเป็นศูนย์ก็เป็นได้
ที่มา สวดเป็นเห็นผลทันตา โดย วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ และ พันตรี วิรัช นุโยค สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
Photo by Moodywalk on Unsplash
Secret Magazine (Thailand)
IG @Secretmagazine
โฆษณา