1 ก.ย. 2019 เวลา 18:38 • การศึกษา
วิจัยบอก “ประสบการณ์เฉียดตาย” อาจเกี่ยวข้องกับการที่สมองสับสนระหว่างการหลับและตื่น
เชื่อว่าเพื่อนๆ คงจะเคยได้ยินเรื่องราวของ “ประสบการณ์เฉียดตาย” (Near Death Experiences) กันมาบางสักครั้งในชีวิต โดยนี่เป็นอาการที่ผู้คนรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองนั้นวิญญาณหลุดออกจากร่างในช่วงเวลาที่ชีวิตตกอยู่ในอันตราย และที่ผ่านๆ มาเราไม่อาจทราบได้เลยว่าอาการนี้แท้จริงแล้วเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่
แต่แล้วเมื่อล่าสุดนี้เอง ได้มีงานวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุดถูกเปิดเผยในสภาสถาบันประสาทวิทยาแห่งยุโรป ซึ่งออกมาบอกว่าแท้จริงแล้วประสบการณ์เฉียดตายที่หลายๆ คนพบนั้น อาจจะมาจากการที่สมองสับสนระหว่างการหลับและตื่นก็เป็นได้
ภายในงานวิจัยชิ้นนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้มีการตรวจสอบพบความเกี่ยวพันระหว่างประสบการณ์เฉียดตาย กับความผิดปกติด้านการนอนซึ่งเกิดขึ้นในช่วงการนอนแบบ “Rapid Eye Movement” (REM) ช่วงเวลาที่คนเรามีโอกาสที่จะฝันได้มากที่สุดในยามราตรี
อ้างอิงจากทีมวิจัย พวกเขาได้ทำการตรวจสอบข้อมูลของอาสาสมัครจำนวน 1,034 คนใน 35 ประเทศโดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อ Prolific Academic และพบว่า ราวๆ 10% ของอาสาสมัครทั้งหมดนั้นเป็นผู้ที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเคยมีประสบการณ์เฉียดตายจริงๆ
ที่น่าสนใจคือ ในบรรดาคนอ้างตัวว่าเคยพบกับประสบการณ์เฉียดตายมาก่อนนั้น ทีมนักวิจัยได้พบว่ามีคนมากถึง 47% ที่รายงานว่าตัวเองนั้นมีอาการความผิดปกติด้านการนอนอย่างอาการอัมพาต ผีอำ หรือเห็นภาพหลอนมาก่อน
นี่นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับตัวเลขผู้มีอาการความผิดปกติด้านการนอนในกลุ่มคนที่ไม่มีประสบการณ์เฉียดตายมาก่อนซึ่งอยู่ที่ 14% เท่านั้น
เป็นไปได้ว่าในตอนที่ร่างกายของคนเราตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิต สมองของเราจะอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถแยกได้ว่าตัวเองนั้นตกอยู่ในภาพที่มีสติหรือไม่ ดังนั้นเราจึงเห็นความฝันในเวลาที่ตื่น และนำไปสู่ แนวคิดเรื่องประสบการณ์เฉียดตายไป
นับว่าน่าเสียดายมากที่งานวิจัยในครั้งนี้ เพียงแต่ชี้ให้เห็นถึงตัวเลขทางสถิติที่เกี่ยวพันกันของประสบการณ์เฉียดตายและความผิดปกติด้านการนอนเท่านั้น ไม่ได้มีการฟันธงว่าอะไรเป็นสาเหตุที่คนบางกลุ่มมีประสบการณ์เฉียดตายแต่อย่างใด
ถึงอย่างนั้นก็ตาม สิ่งเดียวที่ทีมแพทย์หลายฝ่ายค่อนข้างมั่นใจเกี่ยวกับประสบการณ์เฉียดตายเหล่านี้ คือนี่เป็นเรื่องราวที่สามารถอธิบายได้ และคงจะไม่ใช่เรื่องทางไสยศาสตร์อย่างที่หลายๆ คนคิดนั่นเอง
โฆษณา