4 ก.ย. 2019 เวลา 00:14
ตามล่า! หาบัตรประชาชน ตอนที่ 2
ปฏิบัติการทวงคืนสิทธิ 30 บาท ให้กับผู้ป่วยที่ดันลืมไปทำบัตรประชาชนมาแค่ 16 ปี โดยพวกหัวหมอเริ่มขึ้นแล้ว
หลังจากที่สังคมสงเคราะห์ถอดใจไปแล้ว ก็ถึงคราวที่เหล่าหมอจะมาสุมหัวกันหาวิธีเอาบัตรประชาชนมาให้ผู้ป่วย​ เพื่อให้ได้สิทธิ 30 บาท มาใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อราแพร่กระจายของผู้ป่วยเอดส์รายนี้ให้จงได้
นำทีมโดยอาจารย์โรคติดเชื้อ ตามด้วยแพทย์ประจำบ้านต่อยอดโรคติดเชื้อ และแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ปี 2 ที่ปฏิบัติงานในหน่วยโรคติดเชื้อ รวมไปถึงแพทย์เจ้าของไข้ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ว่านรกกำลังรออยู่ (ตัวผมเอง ซึ่งตอนนั้นเป็นแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ปี 1)
อันที่จริงขบวนการนี้ได้เริ่มมาซักพักโดยทีมแพทย์ของเดือนก่อน แต่ยังไม่สำเร็จ ก็ส่งต่อไม้มาให้ผมสานต่อ
1
พี่หมอที่หน่วยโรคติดเชื้อก็เท้าความให้ฟัง
กาลครั้งหนึ่ง มีสามี ภรรยาคนไทย คู่หนึ่งแยกทางกันตั้งแต่เด็กน้อยยังเล็ก เด็กชายตัวน้อยขึ้นเรือประมง และเติบโตทำงานอยู่บนนั้น ไม่ได้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง แล้วแต่ว่าเรือจะไปจอดแวะพักตรงไหน จึงจะขึ้นฝั่งเป็นครั้งคราว
เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ตอนนี้เด็กน้อยคนนั้นกลายเป็นผู้ป่วยเอดส์เต็มขั้นไปเสียแล้ว ด้วยอายุที่เกิน 30 ไปแล้ว แต่ไม่เคยไปติดต่อทำบัตรประชาชนมาก่อนเลย จึงยากที่จะยืนยันตัวตนได้
แม้ผู้ป่วยจะรู้และสะกดชื่อนามสกุลของตัวเองได้ แต่กลับค้นไม่พบในทะเบียนราษฎร์
เคราะห์ดีที่บิดาของผู้ป่วยรายนี้ยังไปมาหาสู่และมาเยี่ยมผู้ป่วย จึงสืบสาวราวเรื่องได้ว่าภูมิลำเนาของผู้ป่วยอยู่ที่จังหวัดหนึ่งในอีสาน และทราบว่าบ้านเกิดซึ่งเป็นบ้านของครอบครัวมารดาอยู่ที่ไหน
รุ่นพี่หมอก็ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ ให้ไปเยี่ยมบ้านของมารดาผู้ป่วยดู ซึ่งก็พบว่าบ้านนี้มีอยู่จริง แต่ถูกไฟไหม้และทิ้งร้างมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว และไม่มีใครทราบว่าตอนนี้มารดาผู้ป่วยอยู่ที่ไหนและยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ก็ได้บ้านเลขที่และชื่อของมารดา เมื่อไปค้นทะเบียนราษฎร์ก็พบว่ามีการแจ้งเกิดบุตรชายไว้จริง และชื่ออ่านได้ตรงกับผู้ป่วย แต่สะกดไม่เหมือนกัน
นั่นคือผู้ป่วยรู้ชื่อ-นามสกุล ตัวเอง แต่ไม่รู้วิธีสะกด เพราะแยกจากแม่มาตั้งแต่ยังเด็กมาก จึงเขียนตัวสะกดตามที่ตัวเองคาดเดา ทำให้ชื่อไม่เหมือนกับที่แจ้งเกิดไว้ เช่น เพี้ยนจาก "พงษ์" กลายเป็น "พงศ์" ทำให้ทีแรกหาชื่อในทะเบียนราษฎร์ไม่พบ
1
ขั้นถัดไป อาจารย์กับรุ่นพี่หมอก็ติดต่อเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี หาผู้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ ก็โชคดีมีคนมีน้ำใจยินดีเป็นเจ้าบ้านให้ ถ้าได้บัตรประชาชนมาก็สามารถย้ายผู้ป่วยเข้าทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ ก็จะสามารถใช้สิทธิ 30 บาทรับการรักษาโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ได้
ทีนี้ก็มาเป็นบทบาทของผมบ้าง หน้าที่เสริมนอกเหนือจากงานดูแลผู้ป่วยตามปกติ ก็คือผมต้องคอยติดต่อเขตเพื่อหาทางทำบัตรประชาชนให้ผู้ป่วยให้ได้ ทุก ๆ วัน ผมต้องเจียดเวลาที่แทบจะไม่มีอยู่แล้ววันละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงโทรไปติดต่อประสานงานกับเขตเพื่อหาทางทำบัตรประชาชนให้ได้
เขตผู้โชคดีที่โดนผมโทรไปกวนทุกวัน ก็คือเขตที่เจ้าบ้านจากเครือข่ายอาศัยอยู่นั่นเอง เพราะเล็งไว้แล้วว่าจะเอาชื่อผู้ป่วยเข้าที่นี่
อาจารย์โรคติดเชื้อก็มาดูผู้ป่วยทุกวัน คำถามแรกก็คือว่าทำบัตรประชาชนไปถึงไหนแล้ว ผมก็จะคอยรายงานความก้าวหน้าทุก ๆ วัน
1
ที่เขตก็รับสายทุกวันจนจำผมได้ ทางเขตก็ปฏิเสธว่าทำไม่ได้ทุกครั้ง เพราะปัญหาหลักคือ จะระบุตัวตนได้ยังไงว่าเป็นคนชื่อนี้จริง ไม่ใช่เป็นการเอาคนต่างด้าวมาสวมรอย แถมเลยเวลาที่จะต้องทำบัตรไป 16 ปีแล้ว (ถ้าเป็นปัจจุบันผมคงตรวจดีเอ็นเอกับพ่อเลยว่าเป็นพ่อลูกกันจริง พ่อเป็นคนไทย มีบัตรประชาชน ลูกก็ต้องเป็นคนไทย)
เพื่อนผมที่เป็นแพทย์ทำงานในหอผู้ป่วยเดียวกัน ก็ปรามาสว่ามันคงไม่มีทางสำเร็จหรอก ถ้าทำได้จะเลี้ยงข้าวผม (จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้เลี้ยง)
เวลาคุย ผมก็ใช้ไม้ตายว่าถ้าไม่มีบัตรประชาชน เปิดสิทธิการรักษาไม่ได้ ผู้ป่วยรายนี้ต้องตายแน่ ๆ ทั้ง ๆ ที่ควรจะรักษาจนหายกลับไปเป็นปกติได้ ทางเขตก็จะเสียงอ่อยลง ไม่กล้าปฏิเสธแบบแข็งขัน ผมก็จะขอคุยกับระดับหัวหน้าไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ บางทีอาจารย์ผมก็มาช่วยคุยด้วย
ทางเขตก็จะขอหลักฐานที่จะช่วยระบุตัวตน ซึ่งแน่นอนว่าผู้ป่วยไม่มีเอกสารอะไรทั้งนั้น ประวัติการรักษาตอนยังเด็กก็ไม่มี
1
ต่อมาผู้ป่วยก็บอกว่าตอนเด็กเคยหยุดออกทะเลไปเรียนชั้นประถมที่จังหวัดทางภาคใต้อยู่พักหนึ่ง ถึงได้พออ่านออกเขียนได้
ผมก็ดีใจรีบหาเบอร์ติดต่อโรงเรียนที่ว่า เพื่อจะขอข้อมูลและเอกสารของผู้ป่วยตอนเป็นนักเรียน
แต่แล้วทางโรงเรียนก็แจ้งว่า เอกสารเก่าขนาดนั้นเขาทำลายทิ้งไปหมดแล้ว ไม่ได้เก็บไว้
ก็ต้องกลับไปติดต่อเขตคนที่เป็นระดับหัวหน้า จนในที่สุดเขาก็ให้ทางเลือกที่ดูเป็นไปได้มากที่สุด นั่นก็คือ ต้องไปคัดลอกสูติบัตรมา และให้มีข้าราชการเซ็นต์ยืนยันว่าผู้ป่วยมีชื่อตามนี้จริง เป็นคนไทยจริง
ตัวบิดาผู้ป่วยก็เคยพยายามยืนยันตัวตนให้ผู้ป่วย แต่ทางเขตไม่ยอมรับ อาจเพราะตัวบิดาเองก็ไม่ได้มีการงานที่น่าเชื่อถือ หรือที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
โชคดีที่บิดายินดีช่วยเหลือ เราก็เลยให้บิดาขึ้นรถทัวร์ไปอีสาน กลับไปยังบ้านเกิดของผู้ป่วย เพื่อไปคัดลอกสูติบัตรของผู้ป่วยจากเขต แล้วเอากลับมาให้ผม
2
ส่วนทางผมก็ถ่ายรูปผู้ป่วยแปะลงกระดาษ A4 ที่พิมพ์ข้อความรับรองว่าบุคคลในรูปคือ นาย xxx xxxx จริง เกิดในไทย จากพ่อแม่คนไทยจริง
แล้วก็ให้อาจารย์หมอโรคติดเชื้อที่เป็นข้าราชการเซ็นต์รับรอง ส่วนตัวผมก็เซ็นต์เป็นพยาน
ทำแบบมือสมัครเล่นมาก ไม่มีหัวกระดาษ ไม่มีลักษณะที่ดูเหมือนเป็นเอกสารที่เป็นทางการเลย
ตอนเย็นนอกเวลาราชการพึ่งมานึกได้ว่าควรจะมีตราประทับของโรงพยาบาลเพื่อให้ดูขลังขึ้นซักหน่อย
เผอิญวันรุ่งขึ้นนัดกับทางเขตแต่เช้าว่าจะพาผู้ป่วยไปถ่ายรูปทำบัตรประชาชน ผมทำเรื่องขอนำผู้ป่วยออกนอกโรงพยาบาล และขออนุญาตอาจารย์ประจำหอผู้ป่วยว่าจะพาผู้ป่วยไปทำบัตรประชาชนไว้แล้ว ถ้าต้องรอเวลาราชการเพื่อประทับตราให้เป็นเอกสารทางการของโรงพยาบาล มีหวังได้เลื่อนนัดแน่
ผมเดินไปที่เคาเตอร์พยาบาล เหลือบเห็นตรายางที่มีชื่อโรงพยาบาลสำหรับเอาไว้ปั๊มป์บัตรจอดรถ ผมก็คว้ามาใช้แก้ขัดประทับตราบนเอกสารซะเลย
เช้าวันถัดมา หลังจากความพยายามร่วมเดือน ผมก็พาผู้ป่วยนั่งรถเข็น โบกแท็กซี่ ไปที่ว่าการเขตที่ติดต่อไว้แล้ว
การทำบัตรประชาชนให้ผู้ป่วยจะสำเร็จหรือไม่ แล้วเรื่องนี้จะมีบทสรุปอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา