4 ก.ย. 2019 เวลา 04:25 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เลือดแข็งตัวได้อย่างไร ?
(เรียบเรียงโดย ดร.มิติ เจียรพันธุ์)
เลือดของมนุษย์เป็นของเหลวสีแดงที่ประกอบด้วยเซลล์และสารหลายชนิด
- บ้างทำหน้าที่เป็นผู้ส่งออกซิเจนไปให้เซลล์ต่างๆ
-บ้างเป็นกองกำลังที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคจากภายนอก
- และมีบางส่วนเป็นเหมือนหมอพยาบาลที่คอยสมานแผลด้วยการแข็งตัวของเลือด (Blood Clotting) ซึ่งการทำงานส่วนนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอย่างอื่น เพราะมันช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายเสียเลือดมากเกินไป และป้องกันมิให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย กลไกการแข็งตัวของเลือดนี้พบได้ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและไม่มีกระดูกสันหลัง
ในเลือดของมนุษย์มีเซลล์อยู่ 3 ชนิด
คือ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งเกล็ดเลือดนี้เองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
เมื่อเกิดแผล เกล็ดเลือดจะทำหน้าที่ไปกระตุ้นโปรตีนที่เกี่ยวข้องเป็นทอดๆ ทั้งทรอมบิน (thrombin) ไฟบริน (fibrin) และแฟคเตอร์ซึ่งทั้งหมดจะทำงานร่วมกันเพื่อสร้างร่างแหขึ้นมาห้ามเลือด
ในปี ค.ศ. 1882 แพทย์ชาวอิตาเลียนชื่อ Giulio Bizzozero เป็นคนแรกที่กล่าวถึงหน้าที่ของเกล็ดเลือด ถัดมาในปี ค.ศ. 1905 Paul Morawitz นักสรีรศาสตร์ศึกษาและเชื่อมโยงกลไกการแข็งตัวของเลือด รวมทั้งค้นพบแฟคเตอร์ในกระบวนการนี้
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีแฟคเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดถึง 13 ชนิด แฟคเตอร์เหล่านี้จะใช้เลขโรมันระบุในชื่อ เช่น แฟคเตอร์ตัวที่ 9 ก็เป็น Factor IX
แฟคเตอร์ 9 นี้เรียกอีกชื่อว่า คริสต์มาสแฟคเตอร์ (Christmas factor) ค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1962 ตั้งชื่อตาม Stephen Christmas ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ขาดแฟคเตอร์ดังกล่าว
โรคเลือดไหลไม่หยุดหรือฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) เป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมซึ่งเกิดจากการขาดแฟคเตอร์บางตัวไป สำหรับผู้ที่ขาดแฟคเตอร์ 9 จัดเป็นฮีโมฟีเลีย บี (Hemophilia B)
กลไกการแข็งตัวของเลือดจะเกิดขึ้นเมื่อมีเลือดไหล แล้วสัตว์กินเลือดอย่างยุง ปลิง และค้างคาวดูดเลือดจะทำอย่างไร?
น้ำลายยุงจะมีฤทธิ์ยับยั้งทรอมบินและแฟคเตอร์ 10a (Factor Xa) เลือดจึงไม่จับตัวจนอุดตันที่ปากยุง ส่วนปลิงดูดเลือดก็ทำให้เลือดไม่จับตัวด้วยสาร hirudin ยับยั้งทรอมบิน
ส่วนค้างคาวดูดเลือด หรือค้างคาวแวมไพร์ (Vampire bat) ที่กัดเหยื่อแล้วเลียเลือดที่หยดออกมา (ไม่ได้ดูดเลือดอย่างแวมไพร์ในนิยายหรือภาพยนตร์) น้ำลายของค้างคาวนี้มีโปรตีนชื่อ ดราคูลิน (Draculin) ที่ยับยั้งการทำงานของแฟคเตอร์ 10 (Factor X) ทำให้เลือดไม่หยุดไหล
สารป้องกันการแข็งตัวของเลือดเหล่านี้ไม่ได้เป็นประโยชน์กับสัตว์เท่านั้น แต่เราสามารถนำความรู้เกี่ยวกับกลไกการแข็งตัวของเลือดและการยับยั้ง รวมทั้งสารจากสัตว์เหล่านี้มาเป็นกุญแจในการช่วยเหลือผู้ป่วยจากโรคบางโรค เช่น หลอดเลือดสมองอุดตัน ได้ด้วย
โฆษณา