4 ก.ย. 2019 เวลา 23:34 • ปรัชญา
Law of Attraction: เมื่อศีลเสมอจึงเจอกัน
.
คุณเชื่อมั้ยว่าหนึ่งในวิธีที่จะพัฒนาตัวเองได้ดีที่สุดคือ การนำตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือ 'Surrounding' ที่มีการแข่งขันและพัฒนาตัวเองอย่างสูง หรือก็คือ ถ้าอยากเก่งก็เอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมและ Surrounding ที่มีคนเก่ง
.
เคยรู้สึกมั้ยว่าเมื่อคุณได้อยู่และไปคลุกคลีกับคนที่เค้าเก่งในสิ่งที่เค้าทำ ตัวคุณเองจะซึมซับทัศนคติและความเก่งของคนๆนั้นตามมาด้วยในแบบที่คุณเองก็อาจจะไม่รู้ตัว
.
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่คนเก่งคนนั้นจะคลุกคลีกับคุณนั้นมันอาจจะมีเงื่อนไขอะไรบางอย่าง เงื่อนไขที่คล้ายคลึงกับเหตุผลที่คุณสนิทและไม่สนิทกับใครบางคน เรากำลังพูดถึงเงื่อนไขของกฎที่ว่าด้วยการดึงดูดของคนที่มีนิสัยเหมือนๆ กัน
.
บนโลกที่ที่มีประชากรอยู่เจ็ดพันล้านกว่าคน และทุกคนย่อมแตกต่างกันไป แม้ในคู่พี่น้องฝาแฝดเองลายนิ้วมือก็ยังต่างกันเสียด้วยซ้ำ ใครจะไปคิดว่าเราจะมาเจอคนที่นิสัย และไลฟ์สไตล์คล้ายคลึงกัน ไม่ต้องมองใครที่ไหนไกลเลยพี่จ๋า ลองเปิด IG ดูแล้วมองว่าใครเป็น Close friend ของเราบ้าง เหล่านั้นก็ศีลเสมอๆ กันทั้งนั้นแหละ
.
พูดถึงคำว่า “ศีลเสมอกัน” มันคืออะไร มันใช่การที่เรานับถือศีล 5 ข้อเท่าๆ กันหรือเปล่า เอาที่จริงมันก็มีที่มาที่ไปของคำใกล้ๆ เคียงกันอยู่ ศีลเสมอกัน คือ คนที่เลือกถือ เลือกทำอะไรที่มันคล้ายๆ กัน เช่น เจ๊ตุ๊กกับเจ๊แต๋วชอบเมาท์มอยคนในออฟฟิศตรงที่ชงกาแฟ ทุกๆ วันช่วงบ่ายสองคนนี้จะมาพบปะกันอยู่เสมอ การที่ทั้งสองคนนั้นเลือกที่จะถือการเมาท์มอยเป็นกิจวัตร นั่นจึงเรียกว่า “ศีลเสมอกัน”
.
แล้วทำไมคนที่มีอะไรคล้ายๆ กัน ถึงได้มาเจอกัน บางคนก็อยู่ห่างไกลโพ้น พื้นเพอยู่กันคนละผืนฟ้าเดียวกัน ก็ยังดั้นด้นมาเจอกันได้ นั่นเพราะบางสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยที่ให้คนมีลักษณะใกล้เคียงกันเข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นด้วยกัน เช่น ใครที่ชอบเฮฮาปาร์ตี้ในร้านเหล้า ผับ บาร์ ก็จะไหลมากองรวมกันที่สถานบันเทิงเหล่านี้ ซึ่งสิ่งที่ตามมาย่อมเป็นความคิด ความชอบที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน เมื่อได้รู้จักทักทายกันแล้ว การก่อความสัมพันธ์ย่อมเกิดได้ไม่ยากเย็นนัก
.
เราลองมาเจาะลึกในองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการดึงดูดซึ่งกันและกัน มีด้วยกันทั้งสิ้น 3 อย่างได้แก่ กายภาพ ความคิดจิตใจ และสภาพสังคม
.
1. กายภาพ หมายถึงรูปลักษณ์ รูปร่าง หน้าตา รวมไปถึงลักษณะการพูดจา และอากัปกิริยาต่างๆ เป็นธรรมดาที่คนเรามักรู้สึกสบายใจเมื่อได้อยู่กับบุคคลที่เสมอกับตนเอง แม้บางคนจะชอบอยู่กับคนที่มีลักษณะด้อยกว่า หรือเด่นกว่า แต่เมื่อนานวันเข้า จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึก Anxious (กังวลว่าตัวเองด้อยกว่า ไม่เหมาะสมที่จะอยู่กับเขา) หรือ Avoidant (ตีตัวออกห่าง เพราะรู้สึกว่าตัวเองเหมาะสมกับคนที่ดีกว่านี้) ดังนั้นแล้ว ความสัมพันธ์ที่เหมาะสมกันมากที่สุดคือเสมอกัน ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเด่นหรือด้อยกว่า ความวางใจจึงเกิดขึ้นและส่งผลเรามักเข้าหาคนที่เสมอกันกับเรา
.
2. ความคิดและจิตใจ มันจะมีคนอยู่ไม่กี่คนบนโลกที่เราพูดไปแค่สองสามคำ มันก็จับใจความที่เราต้องการจะสื่อได้หมดแล้ว ให้เหนือมนุษย์ขึ้นไปอีกก็คือแค่มองตาก็รู้ใจ ในที่นี้มันเกิดจากคนสองคนที่ผ่านการบ่มเพาะกระบวนความคิดมาในแบบเดียวกัน เวลาพูดคุยกันจึงถูกคอกันง่าย และไม่ต้องอาศัยการอธิบายมากนัก เช่น ช่างซ่อมคอมก็มักจะพูดคุยกับช่างซ่อมคอมอีกคนหนึ่งได้อย่างเข้าใจมากกว่าที่เขาคุยกับคนทั่วไป ในข้อนี้มันก็เข้าใจในตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะ “คนเราย่อมรักชอบในสิ่งที่เราเข้าใจ”
.
3. สภาพสังคม อันที่จริงข้อนี้เป็นบ่อเกิดของข้อที่สองเสียด้วยซ้ำ คนที่เกิดมาในสังคมไทย ก็ย่อมมีความคิดแบบไทยๆ คนที่เกิดมาในสังคมญี่ปุ่น ก็ย่อมมีความคิดแบบคนญี่ปุ่น แต่สภาพสังคมในที่นี้ยังรวมไปถึง ฐานะ หน้าที่การงาน การศึกษา ฯลฯ ก็คือองค์ประกอบภายนอกทั้งหมดที่สั่งสมให้กลายมาเป็นตัวเรา เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสภาพแวดล้อมเองก็ส่งผลถึงการดึงดูดระหว่างกันของตัวบุคคล ยกตัวอย่างง่ายๆ หาก A และ B มีความคล้ายคลึงกันและชอบพอกันอยู่ แต่เพื่อนของทั้งคู่นั้นเป็นอริกัน สุดท้ายแล้วการดึงดูดเข้าหากันก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะสภาพสังคมนั้นมีความขัดแย้งกันอยู่
.
“กาย่อมเข้าฝูงกา หงส์ย่อมเข้าฝูงหงส์”
.
ถึงแม้จะมีบางความสัมพันธ์ที่เข้าหากันเพื่อเติมเต็มสิ่งที่อีกฝ่ายไม่มี กล่าวคือทั้งคู่นั้นมีความแตกต่างโดดเด่นกันมากราวกับหยินหยาง แต่มันก็จะมีสำนวนที่มาสนับสนุนในข้อขัดแย้งนี้ได้อยู่นั่นคือ ทั้งคู่ “แตกต่างเหมือนกัน” ก็เพราะว่าแตกต่างอย่างเท่าๆ กัน มันจึงดึงดูดมาหากันเพื่อทดแทนในสิ่งที่ตนเองไม่มี
.
แต่ในคู่ที่มีความแตกต่างมาอยู่ด้วยกัน คนที่มีพฤติกรรมเข้มกว่าจะกลืนคนที่อ่อนกว่า ทำให้ทั้งสองคนมีพฤติกรรมเป็นไปแนวทางเดียวกัน เหมือนกับเราที่ชอบแนว J-pop ในระดับทั่วๆ ไปแต่เพื่อนชอบ K-pop ในระดับที่บ้าคลั่งเสียเอามากๆ หากอยู่กันไปเรื่อยๆ เรามีแนวโน้มที่จะบ้าคลั่ง K-pop ได้เหมือนได้เช่นเดียวกัน
.
ห้องเรียนหลายๆ แห่งก็นำเอาทฤษฎีนี้ไปใช้ เช่น นำเด็กอ่อนไปเรียนคู่กับเด็กแข็ง เพื่อสร้างแรงผลักดันให้เด็กอ่อนเริ่มเรียนรู้ หรือมีตัวอย่างในการทำตาม แต่ในทางกลับกันมันก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียที่ตามมาได้ คือเด็กอ่อนรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอหรือ Anxious แต่ถ้าเราอยากพัฒนาตัวเอง เช่น อยากเก่งขึ้น เราก็ลองปรับแนวคิดให้เหมือนกับคนที่เขาเก่งๆ เริ่มเข้าหาคนเก่งๆ และไม่ย่อท้อ อย่าคิดว่าเราด้อยกว่า สักวันนึงเราจะถูกผลักดันให้เก่งขึ้น
.
ข้อทฤษฎีเหล่านี้สามารถเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจได้ประมาณหนึ่งของคนที่กำลังจะเข้าสังคมใหม่ๆ เช่น เข้ามหาวิทยาลัยใหม่ เข้าทำงานในที่ใหม่ เราอาจจะรู้สึกว่าจะมีใครที่เข้ากับเราได้บ้างไหม แต่เชื่อเถิดว่าหากเรามีความคิดที่ positive หรือเป็นเชิงบวกแล้ว คนที่มีความคิดเชิงบวกก็ย่อมไม่หนีไปไหนจากเราแน่ๆ ถึงแม้ว่าเราอาจจะเผลอไปรู้จักกับคนที่ไม่ค่อยคลิกกับเรา ธรรมชาติจะคัดสรรให้คนที่ไม่เหมาะกับเราค่อยๆ ออกไปจากชีวิต และคนที่ “ศีลเสมอกัน” ก็จะอยู่กับเรานาน
ที่มา : Unit
โฆษณา