5 ก.ย. 2019 เวลา 04:18 • ประวัติศาสตร์
เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Sir Alexander Cunningham)
นายพลกองทัพอังกฤษและนักโบราณคดีผู้บุกเบิกสำรวจพุทธศาสนสถานในอินเดีย
บิดาแห่งโบราณคดีอินเดีย
หลายท่านที่เคยเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานทั้ง 4 ในอินเดียและเนปาล หรือสนใจประวัติศาสตร์อินเดียโบราณ ย่อมคุ้นเคยกับชื่อของ เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (Sir Alexander Cunningham) เพราะเซอร์คันนิงแฮมคนนี้คือ ผู้อำนวยการการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีทั่วดินแดนชมพูทวีป และเป็นผู้ดูแลการขุดค้นพุทธศาสนสถานในอินเดีย
อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม เกิดที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1814 (พ.ศ. 2357) เป็นลูกชายของอัลลัน คันนิงแฮม กวีที่มีชื่อเสียงชาวสก็อต ซึ่งคันนิงแฮมได้รับพรสวรรค์ด้านการเขียนจากบิดาของเขา
คันนิงแฮมเข้าเรียนที่วิทยาลัยทหารของบริษัทอินเดียตะวันออกอยู่ 2 ปี วิทยาลัยฯ นี้เป็นสถาบันฝึกอบรมเจ้าหน้าที่หนุ่มสาวเพื่อทำงานในกองทัพภาคเอกชนของบริษัทฯ ในอินเดีย จากนั้น คันนิงแฮมก็เข้าฝึกอบรมต่อด้านเทคนิควิศวกรรมที่ชาตัม (Chatham)
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Alexander_Cunningham#/media/File%3AAlexander_Cunningham_of_the_ASI_01.jpg
หลังจบการศึกษาเมื่ออายุ 19 ปี คันนิงแฮมได้เดินทางไปรับหน้าที่เป็นวิศวกรเบงกอลของรัฐบาลอินเดียในสมัยยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และได้รับการติดยศแรกคือ ร้อยตรี
คันนิงแฮมใช้เวลา 28 ปีในการรับใช้ชาติในฐานะของทหารของกองทัพสหราชอาณาจักรในอินเดีย และเกษียณในตำแหน่งนายพลเมื่อ ค.ศ. 1861 (พ.ศ. 2404)
ในช่วงแรกของอาชีพ คันนิงแฮมได้รู้จักกับเจมส์ พรินเซพ (James Prinsep) ชาวอังกฤษที่เป็นนักสะสมโบราณวัตถุและผู้เชี่ยวชาญอินเดีย พรินเซพคนนี้คือผู้จุดประกายให้คันนิงแฮมสนใจในประวัติศาสตร์อินเดียและเหรียญโบราณ
ระหว่างปี 1836 – 1840 (พ.ศ. 2379-2383) คันนิงแฮมได้เป็นผู้สำเร็จราชการของอินเดีย ผลงานด้านโบราณคดีของคันนิงแฮมเด่นชัดในช่วงนี้ เมื่อค.ศ. 1837 (พ.ศ. 2380) คันนิงแฮมดูแลการขุดค้นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ปัจจุบันคือ สารนาถ แขวงเมืองพาราณสี (Saranath) หนึ่งในสังเวชนียสถานของพุทธศาสนาในอินเดีย
ค.ศ. 1850 (พ.ศ. 2393) คันนิงแฮมนำทีมนักโบราณคดีขุดค้นพบกลุ่มพุทธสถานแห่งสาญจีหรือสถูปแห่งสาญจี (Buddhist Monuments at Sanchi) มหาสถูปโครงสร้างหินที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดียที่สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
http://www.bl.uk/onlinegallery/onlineex/apac/photocoll/g/019pho000001003u01339000.html
เมื่อ ค.ศ. 1854 (พ.ศ.2397) คันนิงแฮมได้ตีพิมพ์งานชื่อ The Bhilsa Topes นับว่าเป็นความพยายามครั้งแรกของการติดตามพุทธประวัติผ่านซากปรักหักพังของโบราณสถานทางภาคกลางของอินเดีย คันนิงแฮมได้อธิบายการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมลงของศาสนาพุทธในชมพูทวีปไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย
ค.ศ. 1861 (พ.ศ. 2404) คันนิงแฮมรับตำแหน่งผู้อำนวยการการสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีอินเดียจนกระทั่งปิดโครงการ เมื่อ ค.ศ. 1865 (พ.ศ. 2408)
คันนิงแฮมกลับมาวงการอีกครั้งในปี ค.ศ. 1870 (พ.ศ. 2413) โดยใช้เวลา 15 ปีเต็มในการสำรวจทางโบราณคดีและขุดค้นซากปรักหักพังต่างๆ ทางตอนเหนือของอินเดียเป็นจำนวนมาก
The Ancient Geography of India ผลงานของคันนิงแฮมซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1871 (พ.ศ.2414) เป็นการรวบรวมเกี่ยวกับพระราชโองการในพระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิอินเดียเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 3 ครั้งแรก รวมทั้ง The Stûpa of Bharhut ซึ่งตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1879 (พ.ศ.2422) และผลงานวิชาการทางโบราณคดีอีกมากมายหลายชิ้น
https://archive.org/details/cu31924023029485/page/n10
คันนิงแฮมเป็นนักสะสมเหรียญโบราณ ซึ่งจำนวนมากสูญหายไปตอนเรือล่มนอกชายฝั่งศรีลังกา เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427) ภายหลัง พิพิธภัณฑ์อังกฤษได้ซื้อเหรียญโบราณต่างๆ จากคันนิงแฮมนำไปจัดแสดงที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
หลังเกษียณจากการสำรวจในปี ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) คันนิงแฮมอุทิศตนให้กับการศึกษาวิจัยเรื่องเหรียญอินเดีย และเขียนหนังสือ 2 เล่มเกี่ยวกับเรื่องนี้ นอกจากนั้น คันนิงแฮมยังตีพิมพ์เอกสารจำนวนมากในวารสาร The Asiatic Society และ The Numismatic Chronicle อีกด้วย
คันนิงแฮมได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวินในปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) ในตำแหน่ง Knight Commander of the Order of the Indian Empire
คันนิงแฮมเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436) สิริอายุ 79 ปี ที่บ้านในเซาท์เคนซิงตัน และพักผ่อนอย่างสงบอยู่ที่สุสาน Kensal Green กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
โฆษณา