20 ต.ค. 2019 เวลา 15:51 • ประวัติศาสตร์
"เรือพญานาค" เรือโบราณล้านนาพาหนะตามขบวนเรือเจ้าหลวงเมืองแพร่สู่เรือแข่งประเพณีประจำปีของหมู่บ้านริมน้ำยม
ขอบคุณภาพถ่ายจาก Noke Samrit
....หนึ่ง....สอง....สาม...สี่.....ห้า.......ฮื้อ...ฮึ้ย...
ดังกึกก้องทั่วคุ้งน้ำยมหลังบ้านฉัน....ทุกเช้ามืดและเย็นย่ำของทุกวันเป็นเวลาเดือนกว่าที่ฉันได้ยินเสียงนี้....
....นี่คือเสียงของการฝึกซ้อมพายเรือพญานาค
เรือโบราณล้านนาทั้งฝีพายหนุ่มน้อยฝึกหัดใหม่และฝีพายหนุ่มใหญ่ที่คอยถ่ายทอดเทคนิคการพายเรือสิบเอ็ดฝีพายให้กับรุ่นน้อง....
ลำน้ำยมสนามฝึกซ้อมพายเรือก่อนการแข่งขัน
....หลังเทศกาลออกพรรษาของทุกปี ช่วงปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน...หมู่บ้านของฉันจะจัดงานประจำปี...เท่าที่จำความได้ตั้งแต่เด็กฉันจะตื่นเต้นกับการแข่งขันเรือพาย
...ด้วยหลังบ้านฉันติดแม่น้ำยม...บรรดาเด็กเด็กจะมาจับจองที่นั่งดูพวกผู้ใหญ่ฝึกซ้อมเรือ...เสียงให้จังหวะการฝึกซ้อม....แต่ละหมู่บ้านก็จะไม่เหมือนกัน....บางทีเราก็แอบขำครูฝึกเรือหมู่นี้นับหนึ่ง....เรือที่สวนมานับห้า....เสียงสลับกันไปมาฟังดูสับสนและน่าขบขัน.....ตำบลเรามี 12 หมู่บ้าน
เรือที่ใช้ในการแข่งขันจึงมี 12 ลำเช่นกัน ซึ่งเรือทุกลำมีชื่อไพเราะเพราะพริ้งทุกลำ
....ทุกหมู่บ้านในตำบลของเราจะมีเรือยาวไว้ประจำหมู่บ้าน...โดยเฉพาะหมู่บ้านของฉัน...
บ้านเรือนส่วนใหญ่ติดริมน้ำยม....ที่วัดจะมีเรือประจำหมู่บ้าน...เรือที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 300 ปี นามว่า "พญาลิ้นตอง"
"เรือพญาลิ้นตอง" ตั้งตามชื่อสมญานามของ
เจ้าหลวงเทพวงศ์ทรงเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 19 ซึ่งเป็นองค์ที่ 1 แห่งราชวงศ์เทพวงศ์
อยู่ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
พระองค์ทรงเป็นปฐมราชวงศ์แห่งเจ้าผู้ครองนครแพร่เชื้อสายเจ้าหลวง 4 องค์สุดท้าย หรือ ราชวงศ์เทพวงศ์
เจ้าหลวงเทพวงศ์มีพระนามเดิมว่า "เจ้าน้อยอุปเสน" หรือ "เจ้าน้อยเทพวงศ์ " เป็นราชโอรสของ เจ้าฟ้าชายสามจุฬามณีสิริเมฆภูมินทร์ แห่งนครเชียงตุง (ไทยเขิน)
ต่อมาพระยานครลำปางกาวิละ (ภายหลังได้ไปปกครองนครเชียงใหม่) ได้โปรดไปรับมาไว้ที่ นครลำปางเนื่องจากเป็นพระญาติกันและจึงส่งมาปกครองนครแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2348
พระยาเทพวงศ์ พระองค์ทรงเป็นเจ้าหลวงที่พูดจาไพเราะน่าฟัง พูดเก่ง พูดจาสิ่งใดใครๆ ก็เชื่อฟังหมดจนชาวเมืองให้การเคารพนับถือ จึงตั้งนามว่า "เจ้าหลวงลิ้นตอง (ลิ้นทอง)"
ปัจจุบันมีอนุสาวรีย์ของท่านอยู่ในบริเวณพื้นที่
ที่จัดการแข่งขันเรือพาย ซึ่งเป็นวัดทองเกตุเก่า
ซึ่งท่านเป็นผู้สร้างขึ้น ครั้งสมัยที่ท่านเป็นเจ้าหลวง
เมืองแพร่กว่าสามร้อยปีมาแล้ว
เรือพญาลิ้นตองอายุ 300 ปีขณะเก็บที่โฮง (โรงเก็บเรือ) ขอบคุณภาพจากแพร่ข่าวออนไลน์
พ่อหนานปู่อาจารย์วัด (มรรคนายกวัด) เคยเล่าให้ฟังว่า "เรือพญาลิ้นตอง" ที่วัดรักษาไว้นี้เป็นเรือโบราณที่ขุดด้วยไม้สักทั้งลำ ยาว 12 วา ใช้คนพายเรือ13 ฝีพายอายุของเรือประมาณกว่า 300 ปี
ซึ่งในสมัยโบราณหากมีอุกภัยเกิดขึ้นในฤดูน้ำหลากของทุกปี เจ้าหลวงเมืองแพร่ หลายต่อหลายองค์ก็จะมาดูแลชาวบ้านโดยเดินทางมาทางเรือ
ชาวบ้านเวียง (ชื่อหมู่บ้าน) จะต้องเอาเรือพญานาคที่มีอยู่ในตำบลทุกลำ พายไปรับขบวนเรือของเจ้าหลวงเมืองแพร่ และพายไปดูจุดที่บ้านน้ำท่วม
ขอบคุณภาพถ่ายจาก Noke Samrit
เมื่อหมดฤดูน้ำหลากหลังจากออกพรรษาแล้วชาวบ้านเวียงทองได้นำเรือโบราณที่มีอยู่มาแข่งขันกัน เป็นกุสโลบายของพ่อหลวงบ้านในสมัยนั่นเพื่อสร้างความสมัครสามานสามัคคีในตำบล
หัวเรือเจ้าขุนยม....หางเรือไม่ทราบชื่อ
เอกลักษณ์ของเรือล้านนา จะมีความงดงาม
ตรงส่วนของหัวเรือหรือโขนเรือ มีการแกะสลักเป็นรูปทรงหัวพญานาคแบบล้านนา กำลังแสยะเขี้ยวแสดงอำนาจ ส่วนท้ายเรือสลักเป็นหางของพญานาคดูราวกับหางพริ้วสบัดเวลาเรือพายไปในลำน้ำ มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง เชื่อกันว่าพญานาคมีความศักดิ์สิทธิ์ จะดลบันดาลให้ฝนฟ้าอุดมสมบูรณ์ สามารถทำไร่ ทำนาได้ตามฤดูกาล
ปรับภูมิทัศน์สำหรับการจัดารแข่งขันเรือพาย
เนื่องจากก่อนการแข่งจะมีการเตรียมการต่างๆ การพัฒนาสถานที่จัดงานโดยให้แต่ละหมู่มาช่วยกันตัดหญ้าทำความสะอาดบริเวณริมเพื่อต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมชมการแข่งเรือ ฉันคิดว่าคนสมัยก่อนเขาคิดมาดีแล้ว เพราะทุกครั้งที่หมดฝนต้นหญ้าจะขึ้นรกเต็มสองข้างตลิ่งการจัดสถานที่ จัดงานประเพณีชาวบ้านจะได้ชวนกันดูแลทำความสะอาดพื้นที่ริมตลิ่งให้สะอาดตาน่ามอง
พิธีทำบุญตักบาตรก่อนการแข่งขันเรือพายประจำปี
ปัจจุจันทุกๆ ปี ตำบลเวียงทองได้จัดประเพณี
แข่งเรือพายจนเป็นงานใหญ่ระดับจังหวัด
ชาวบ้านได้ขุดเรือพายขึ้นมาใหม่ โดยยังคงอนุรักษ์เป็นเรือหัวพญานาคไว้คงเดิมแต่ขนาดเล็กลง เพื่อความรวดเร็วในการแข่งขันชิงชัย เนื่องจากปริมาณน้ำยม ไม่มีน้ำมากเหมือนเดิม
เรือโบราณที่มีอยู่จึงถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดี จนเป็นวัตถุโบราณของหมู่
เรือพญาลิ้นตองนำขบวนเรือก่อนการแข่งขัน
โดยต้องมีพิธีเชิญแม่ย่านาง "เรือพญาลิ้นตอง"
ลงน้ำ เหมือนเป็นตัวแทนพญานาค การแข่งขันและกิจกรรมที่ชาวบ้านทำก็จะราบรื่นประสบความสำเร็จ
โค้งวัดใจ
🎶บื๊ด จ้ำ บื๊ด...🎶เอ๊าเชียร์กันหน่อย...เอ๊าเชียร์กันหน่อย...🎶 ฝีพายหุ่นดี ปีนี้ต้องเชียร์ 🎶
....เสียงเชียร์ดังกระหึ่ม....โดยเฉพาะช่วงโค้งก่อนเข้าเส้นชัย....สนามแข่งเรือพายที่นี่ไม่ใช่ทางตรงอย่างสนามแข่งเรือที่อื่น....ความยากของฝีพายที่ซ้อมสนามนี้เป็นเดือน...เดือน...เพื่อไม่ให้เรือล่มก่อนเข้าเส้นชัย...และยังเป็นความสนุกของกองเชียร์ที่ลุ้นกันตัวโก่ง
กองเชียร์สิบสองหมู่บ้าน
....แล้วงานประเพณีแข่งเรือประจำปีก็ได้สิ้นสุดเมื่อแสงอาทิตย์เคลื่อนตัวลงที่ภูเขาทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน...เป็นสัญญานให้ทุกคนแยกย้ายกันกลับบ้าน....พรุ่งนี้เราจะมาช่วยกับเก็บกวาดขยะให้ริมตลิ่งสองฝั่งน้ำให้สะอาดดังเดิม
ขอบคุณข้อมูลจาก
เครดิตภาพจาก
ครูบอมนารีรัตน์
Noke Samrit
ชอบกดไลก์
กดแชร์
กดติดตามเพจ Plants in garden
เพื่อเป็นกำลังให้แอดด้วยนะจ๊ะ www.blockdit.com/plantsingarden
กราบบบบงามมมม😅🤣😆😍
โฆษณา