6 ก.ย. 2019 เวลา 03:57 • ประวัติศาสตร์
อุทยานประวัติศาสตร์แห่งแรกของไทย ปราสาทเมืองสิงห์ จ.กาญจนบุรี
ส่วนใหญ่แล้ว เราจะเห็นศิลปะ หรือสถาปัตยกรรมแบบขอมโบราณในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น้อยมากที่จะเห็นสถาปัตยกรรมขอมโบราณในทางภาคตะวันตก ซึ่งอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ หรือปราสาทเมืองสิงห์แห่งนี้ เป็นโบราณสถานเพียงแห่งเดียวที่เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบขอม ตั้งอยู่ใน จ.กาญจนบุรี
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์นี้ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแควน้อยใน ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ปราสาทแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งมีสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรม คล้ายคลึงกับของสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ กษัตริย์นักสร้างปราสาทแห่งขอม
จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร พบศิลปกรรมที่สำคัญยิ่งคือ พระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นางปรัชญาปารมิตา และยังพบรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีอีกองค์หนึ่ง รูปลักษณ์คล้ายกับที่พบในประเทศกัมพูชาด้วย
จากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ เมืองพระนคร ประเทศกัมพูชา ซึ่งจารึกโดยพระวีรกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จารึกชื่อเมือง ๒๓ เมือง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้างไว้ มีเมืองชื่อ "ศรีชัยสิงห์บุรี" ซึ่งสันนิษฐานกันว่า คือเมืองปราสาทเมืองสิงห์นี่เอง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงปกครองบ้านเมืองคงจะมีพระราชดำริว่า เมืองสิงห์เป็นเมืองเล็กไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด จึงไม่ได้มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองปกครอง และในทำเนียบศักดินาหัวเมืองก็ไม่ปรากฏชื่อเมืองสิงห์อยู่เลย จึงเป็นที่เข้าใจว่า เมื่อขอมหมดอำนาจลงแล้ว เมืองสิงห์คงถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้างไป
เมืองสิงห์ปรากฏหลักฐานอีกครั้ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ได้ทรงสถาปนาเมืองสิงห์ขึ้นใหม่ แต่มีฐานะเป็นเพียงเมืองหน้าด่านเล็กๆ มีเจ้าเมืองปกครอง และขึ้นอยู่กับเมืองกาญจนบุรี แต่เนื่องจากบริเวณนี้เป็นที่กันดาร เจ้าเมืองจึงไม่ตั้งบ้านเรือนอยู่ แต่ทว่าไปอยู่ที่บ้านโป่ง และส่งหมวดลาดตระเวณไปคอยตรวจตราเป็นประจำ เจ้าเมืองจะขึ้นไปบัญชาการที่เมืองนี้ก็เฉพาะแต่กรณีฉุกเฉินบางครั้งบางคราวเท่านั้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานนามให้แก่เจ้าเมืองต่างๆ ที่ครองเมืองหน้าด่านเล็กๆ ตามลำน้ำแควน้อยนี้ใหม่ทั้งหมด เช่นโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเจ้าเมืองไทรโยคว่า พระนิโครธาภิโยค พระราชทานนามเจ้าเมืองท่าตะกั่วว่า พระชินดิษฐบดี สำหรับเมืองสิงห์ เจ้าเมืองได้รับพระราชทานนามว่า "พระสมิงสิงห์บุรินทร์"
เมืองสิงห์ยังคงดำรงฐานะเป็นเมืองเรื่อยมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ในครั้งนี้ เมืองสิงห์ถูกลดฐานะลงเป็นตำบล เรียกกันว่าตำบลสิงห์มาจนทุกวันนี้
เมืองสิงห์ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘ เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ แต่ยังไม่ได้กำหนดขอบเขต การกำหนดขอบเขตโบราณสถานมีขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๓ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๗๗ ตอนที่ ๖๐ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๓ มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๗๑๘ ไร่ ๓ งาน และกรมศิลปากรได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๓ ถึงกรมที่ดิน เพื่อขอให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง
เมื่อพนักงานที่ดินจังหวัด ดำเนินการรังวัดสอบเขตแล้ว จึงได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง มีเนื้อที่ ๖๔๑ ไร่ ๑ งาน ๖๕ ตารางวา โดยกรมศิลปากรได้รับหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงนี้ไว้ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๕
หลังจากนั้น ในปีพ.ศ.๒๕๑๗ กรมศิลปากรได้เริ่มดำเนินการบูรณะพัฒนาพื้นที่ โดยถากถางทำความสะอาด ขุดแต่งขุดค้น บูรณะโบราณสถาน ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ปรับปรุงสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น และดำเนินการจัดการในรูปของอุทยานประวัติศาสตร์
1
เมื่อดำเนินการปรับปรุงเสร็จ ได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๐ และนับว่าเป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย
ที่มาของข้อมูล : อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ต.สิงห์ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี
ภาพ/เรียบเรียง : ออมศีล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา