10 ก.ย. 2019 เวลา 03:10 • ธุรกิจ
สรุป กองทุนวิสัยทัศน์ 300 ปี ของ SoftBank / โดย ลงทุนแมน
1
ถ้าพูดถึงเจ้าพ่อของวงการสตาร์ตอัป หนึ่งในนั้นจะมีชื่อนี้
“SoftBank”
ธุรกิจสตาร์ตอัปกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่ก็มีความเสี่ยงว่ากิจการจะอยู่รอดได้หรือไม่
ซึ่งในเวลานี้ คงไม่มีใครกล้าลงทุนในบริษัทเหล่านั้นไปมากกว่า
ชายที่ชื่อว่า มาซาโยชิ ซัน เจ้าของบริษัท SoftBank อีกแล้ว
เพราะเขาได้ตั้งกองทุนมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท
เพื่อลงทุนในสตาร์ตอัป ด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะ
เรื่องราวนี้น่าสนใจอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
มาซาโยชิ ซัน เป็นเจ้าของบริษัท SoftBank Group
และเป็นบุคคลที่รวยสุดของประเทศญี่ปุ่น มีทรัพย์สินอยู่ราว 7.1 แสนล้านบาท (สลับกันรวยสุดกับ ทาดาชิ ยานาอิ เจ้าของ Uniqlo)
1
เดิมที SoftBank ประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจขายซอฟต์แวร์
แต่ต่อมา ได้ขยายไปลงทุนในกิจการเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Yahoo, Alibaba และสามารถทำกำไรได้จำนวนมหาศาล
มาซาโยชินั้น ชื่นชอบวงการเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก
เขามีวิสัยทัศน์ที่เชื่อเรื่อง Singularity ว่าในอนาคต 300 ปีข้างหน้า หุ่นยนต์จะพัฒนาตัวเองจนเหนือกว่ามนุษย์
4
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงได้ตัดสินใจตั้งกองทุนแนว Venture Capital ชื่อว่า “Vision Fund” ขึ้นมา
เพื่อลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับอนาคตที่ได้คาดการณ์เอาไว้
2
Vision Fund เริ่มดำเนินการเมื่อ 20 พฤษภาคม 2017
โดยปัจจุบันระดมทุนไปได้ 9.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 ล้านล้านบาท
1
โดยเงินทุนดังกล่าว มาจากส่วนของ SoftBank เอง 1 ล้านล้านบาท
และมาจากกลุ่มพันธมิตร เช่น Apple, Foxconn, Qualcomm, Sharp, กองทุนจากซาอุดีอาระเบีย อีก 2 ล้านล้านบาท
1
ทั้งนี้บริษัทที่ตกเป็นเป้าหมายในการลงทุนของ Vision Fund
คือ สตาร์ตอัปผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่อยู่ในช่วงเติบโต และต้องเป็นกลุ่มผู้นำของอุตสาหกรรมนั้น ยิ่งถ้ามีมูลค่าในระดับยูนิคอร์นยิ่งชอบเป็นพิเศษ
1
เพราะ SoftBank มองว่าการรวบรวมผู้นำตลาดเข้าไว้ด้วยกัน จะช่วยส่งเสริมโอกาสพัฒนาธุรกิจร่วมกันได้ จนเกิดเป็น Ecosystem แห่งเทคโนโลยี ที่ไม่มีใครเอาชนะได้
1
Cr. Forbes
ปัจจุบันพอร์ตของ Vision Fund ลงทุนอยู่ใน 81 บริษัท ใช้เงินไปแล้ว 2 ล้านล้านบาท ดังนี้
8.9 แสนล้านบาท ลงทุนในเทคโนโลยีบริการขนส่ง
เช่น Uber, Grab, DiDi Chuxing แพลตฟอร์มเรียกรถและส่งอาหาร
3.2 แสนล้านบาท ลงทุนในเทคโนโลยีแห่งอนาคต
เช่น บริษัท Arm ผู้ผลิต CPU สมาร์ตโฟน
1
3.1 แสนล้านบาท ลงทุนในเทคโนโลยีเกี่ยวกับผู้บริโภค
เช่น บริษัท ByteDance เจ้าของ TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์
1
2.5 แสนล้านบาท ลงทุนในสตาร์ตอัปด้านอสังหาริมทรัพย์
เช่น WeWork ผู้พัฒนาพื้นที่ Co-Working Space
1
1.1 แสนล้านบาท ลงทุนในเทคโนโลยี Fintech
เช่น บริษัท One97 ผู้ให้บริการ Paytm ระบบจ่ายเงินออนไลน์ในอินเดีย
2
9 หมื่นล้านบาท ลงทุนในเทคโนโลยีด้านสุขภาพ
เช่น บริษัท Guardant Health ผู้พัฒนาไบโอเทค ในการตรวจจับเซลล์มะเร็ง
2
7 หมื่นล้านบาท ลงทุนในเทคโนโลยีระดับองค์กร
เช่น Slack แอปพลิเคชันแช็ตสำหรับการทำงาน
1
แล้วผลการลงทุนของ Vision Fund เป็นอย่างไร?
ปี 2018
ใช้เงินลงทุนไป 1.85 ล้านล้านบาท
มูลค่ากองทุนอยู่ที่ 2.22 ล้านล้านบาท
หรือกำไรทางบัญชี 20%
ปี 2019 (ครึ่งปีแรก)
ใช้เงินลงทุนไป 2.05 ล้านล้านบาท
มูลค่ากองทุนอยู่ที่ 2.54 ล้านล้านบาท
หรือกำไรทางบัญชี 24%
และปีที่แล้ว Vision Fund ได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดในบริษัท Flipkart (E-Commerce รายใหญ่ของอินเดีย) และ NVIDIA (ผู้ผลิตการ์ดจอคอมพิวเตอร์) ซึ่งมีกำไรรวม 8.9 หมื่นล้านบาท
2
ด้วยความสำเร็จนี้ ทำให้ SoftBank ประกาศเตรียมจัดตั้งกองทุน Vision Fund 2 โดยมีเป้าระดมทุนที่ 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งคราวนี้จะเน้นลงทุนในเทคโนโลยีด้าน Artificial Intelligence
จากเรื่องนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่คอยขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ตอัป ก็คือเงินทุน
แต่การมีอยู่ของกองทุนแบบ Vision Fund นั้น
น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้บริษัทเหล่านี้ อยู่รอด และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ขึ้นมาได้
 
เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า
SoftBank จะเปลี่ยนแปลงอนาคตของมนุษยชาติ ในอีก 300 ปีข้างหน้า ไปในทิศทางใด
และในที่สุดแล้ว โลกจะเข้าสู่ Singularity ตามที่มาซาโยชิ คิดไว้หรือไม่
ซึ่งถ้าถึงจุดนั้น หุ่นยนต์พัฒนาตัวเองจนเหนือกว่ามนุษย์
แล้วมนุษย์ จะไปอยู่ตรงไหน บนโลกใบนี้..
Cr. Mashable
Blockdit แอปที่เป็นเหมือน คลังความรู้ขนาดใหญ่ อ่านฟรี
โหลดเลย Blockdit.com/download
โฆษณา