7 ก.ย. 2019 เวลา 02:26 • ธุรกิจ
🇺🇸 PMI ภาคการผลิตหดตัว คือ สัญญาณ Recession จริงหรือ ??
ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ 2,000 Follower ที่มาให้กำลังใจ "ลงทุนฉบับมืออาชีพ" นะครับ วันนี้เลยจัดให้ชุดใหญ่ หลังจากที่ยุ่งๆเว้นว่างจากการโพสไปนาน เพื่อตอบแทนทุกคนที่ยังถามถึงกัน
หลังตัวเลข PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯเดือน ส.ค. ประกาศออกมา -2.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนที่ 51.2 จุด อย่างรวดเร็วสู่ระดับ 49.1 จุด เข้าสู่เกณฑ์หดตัว (ต่ำ 50 จุด)
ทำให้หลายคนมองว่า PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯที่เข้าเกณฑ์หดตัว จะเป็นตัวแปรสำคัญที่สองต่อจาก Inverted yield curve ที่จะนำพาเราเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจในรอบต่อไป
ที่มา : Bloomberg
ก่อนที่จะพาทุกคนไปค้นหาคำตอบว่า PMI ภาคการผลิตที่หดตัวนั้น คือที่มาของ Recession จริงหรือ ??
ผมจะเล่าให้ฟังสั้นๆก่อนว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ชื่อว่า PMI แท้จริงแล้วมันคืออะไร
Purchasing Managers' Index หรือ PMI เป็นดัชนีที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการ เรียกชื่อภาษาไทยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ
สำรวจจากผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ว่าแนวโน้มยอดสั่งซื้อในอนาคตข้างหน้าจะดีขึ้น แย่ลง หรือเท่าเดิม ทำให้นักลงทุนนิยมนำมาใช้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต เรียกว่าเป็น Leading Indicator ที่สำคัญตัวหนึ่ง
ที่มา : Finnomena
แบ่งเป็น 2 ดัชนีหลัก
1.Manufacturing PMI (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต)
2.Non-Manufacturing PMI หรือ Service PMI (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ)
วิธีอ่านค่าตามรูปครับ สูงกว่า 50 คือเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัว ต่ำกว่า 50 คือเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัว โดย PMI นั้นจะมีการประกาศทุกๆสิ้นเดือน
หลังจากที่ PMI ภาคการผลิตเดือน ส.ค. ของสหรัฐฯเริ่มต่ำกว่า 50 จุดแล้ว สิ่งที่ทุกคนกำลังกลัวต่อไปก็คือ ถ้าประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐฯเข้าสู่ Recession หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว
จะมีแรงกระเพื่อมลามไปถึงประเทศอื่นๆทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดการเงินที่ปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบอยู่ทั่วทุกมุมโลก
สีเขียว ครั้งที่หุ้นขึ้น : สีส้ม ครั้งที่หุ้นลง วงกลมเส้นประ ครั้งล่าสุด ส.ค.2019
ผมเลยทำการศึกษาความสัมพันธ์ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P500 กับ ISM Manufacturing PMI ย้อนหลังไป 19 ปี เพื่อจะดูว่าในช่วงปี 2000-2019 มีช่วงไหนบ้างที่ Manufacturing PMI ต่ำกว่า 50 แล้วตลาดหุ้นสหรัฐฯอย่าง S&P500 ตอบสนองไปในทิศทางใด
จากการศึกษาพบว่าในช่วงปี 2000-2019 เกิดเหตุการณ์ที่ Manufacturing PMI หดตัว (ต่ำ 50 จุด) ทั้งหมด 9 ครั้ง ไม่รวมครั้งล่าสุด ส.ค.2019 มีเพียง 3 ครั้งที่ตลาดหุ้นยังปรับตัวขึ้นต่อ
ส่วนอีก 6 ครั้งตลาดหุ้นปรับตัวลง และ 2 ใน 6 ครั้งนี้ตลาดหุ้นปรับตัวลงหนักระดับ -30% ขึ้นไปเพราะ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ดอทคอมปี 2000 และ ซับไพร์ม ปี 2008
ที่เหลืออีก 4 ครั้งเป็น Correction ตลาดหุ้นปรับฐานลง มีตั้งแต่ระดับ -2.06% ถึง -7.08% (ตามรูป)
ระยะเวลาที่ PMI ต่ำกว่า 50 จุด สูงสุดคือ 18 เดือน ต่ำสุดคือ 1 เดือน
จะเห็นได้ว่าการหดตัวของ Manufacturing PMI หรือ PMI ภาคการผลิตไม่จำเป็นต้องตามมาด้วยวิกฤตทางเศรษฐกิจเสมอไป
แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็ืคือ การหดตัวของ PMI ที่ต่อเนื่องต่ำกว่าระดับ 50 จุด เป็นเวลานานหลายเดือน ซึ่งอาจจะตามมาด้วย Recession หรือ วิกฤตเศรษฐกิจอย่างปี 2000 และปี 2008
ถ้าชอบ กด like & share  และอย่าลืม กดติดตามเพื่อไม่ให้พลาดสถานการณ์ลงทุน ตามแบบฉบับมืออาชีพครับ : )
โฆษณา