8 ก.ย. 2019 เวลา 01:02 • ประวัติศาสตร์
จากลูกคนจนสู่จอมพลแห่งสหภาพโซเวียต
เขาคือนายพลผู้มากด้วยความสามารถและบารมีล้นเหลือในกองทัพแดงไม่แพ้นายพลซูคอฟ และเขาเป็นนายพลซึ่งแม้แต่โจเซฟ สตาลินยังต้องยำเกรง เขาเข้าร่วมรบในสงคราม ตั้งแต่สงครามการปฏิวัติในช่วงล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซีย มาจนถึงสหภาพโซเวียตหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
อิวาน สเตพาโนวิช โคเนฟ เกิดในตระกูลเกษตรกรยากจน ในหมู่บ้านโพโนซิโดเวท ในเมืองโวล็อกด้า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1897 เขาไม่แตกต่างจากลูกคนจนทั่วไปที่ต้องอยู่อย่างลำบากในวัยเยาว์ แม่ของโคเนฟเสียชีวติตั้งแต่ให้กำเนิดเขา เขาและพี่น้องต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาต่างๆ มากมาย โคเนฟในวัยเด็กได้รับการศึกษาค่อนข้างน้อย เพราะสถานะครอบครัว และความต้องการของครอบครัวที่ต้องการมีบุตร เพื่อช่วยเหลือการทำงานในไร่ หรือเป็นแรงงานในด้านอื่นๆ มากกว่า นั่นจึงทำให้ชีวิตของโคเนฟต้องมาลงเอยเป็นคนตัดไม้ตั้งแต่ยังเด็ก
เมื่ออายุได้ 19 ปี ซึ่งก็ตรงกับปี ค.ศ. 1916 ชีวิตในการเป็นทหารของโคเนฟก็เริ่มต้นขึ้น เขาถูกเกณฑ์เข้าร่วมกองทัพในปีนั้น เป็นกำลังพลอยู่ในหน่วย กองพลน้อยปืนใหญ่ที่ 2 ณ เมืองมอสโก (เมืองหลวงของรัสเซียในขณะนั้นคือกรุงเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก ก่อนจะย้ายมามอสโกในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.1918) หลวงของจักรวรรดิรัสเซีย เขาได้รับการฝึกศึกษาอยู่ที่นั่นจนกระทำสำเร็จการฝึกในปี ค.ศ. 1917 หลังจากนั้นโคเนฟจึงถูกส่งไปประจำการที่แนวรบด้านตะวนตก ในสนามรบ เขาฉายแววความเป็นผู้นำในตัวเองออกมาหลายต่อหลายครั้ง ด้วยความที่เกิดมาในตระกูลที่ยากจน จึงทำให้เขาเป็นคนที่มุมานะในทุกๆ งานที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่หน่ายหนี ความตั้งใจของเขาในการปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลให้เขาได้เลื่อนยศเป็นจ่าอาวุโส และทำการรบอยู่ ณ โคเรนซกี้
7
เมื่อสถานการณ์ในประเทศเกิดความเปลี่ยนแปลง โคเนฟเองก็ไม่ต่างจากทหารรัสเซียนับล้านที่เหนื่อยหน่ายกับระบอบการปกครองของพระเจ้าซาร์ และความไม่เป็นธรรมในสังคม เขาตัดสินใจเข้าร่วมในกองทัพปฏิวัติ ในปี ค.ศ. 1919 เขาเป็นทหารกองทัพแดงภายใต้การบัญชาการของคลีเมนต์ โวโลชิลอฟ บุคคลซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของโจเซฟ สตาลิน หนึ่งในผู้ที่เขาให้ความไว้วางใจมากคนหนึ่ง และก็เป็นโวโลชิลอฟคนนี้เอง ที่เป็นผู้ส่งเสริมโคเนฟให้ก้าวหน้าตามลำดับอย่างต่อเนื่องในกองทัพแดง และเมื่อสงครามการปฏิวัติสิ้นสุดลง โคเนฟถูกส่งไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยฟรุนเซ อันเป็นสถาบันการศึกษาด้านการทหารที่สำคัญของโซเวียต เมื่อสำเร็จการศึกษา เขาจึงกลายมาเป็นนายทหารสัญญาบัตรเต็มตัว ในปี ค.ศ. 1926 ภายหลังจากนั้นโคเนฟก็ดำรงตำแหน่งสำคัญมาโดยตลอด ทั้งนายทหารอาวุโสประจำภูมิภาคทหารคอเคซัส North Caucasus Military Districts ผู้บัญชาการกองทัพธงแดงที่ 2 2nd Red Banner Army และพอมาถึงปี ค.ศ. 1936 โคเนฟมาดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพสหภาพโซเวียต และยังถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการกลางของพรรคอมมิวนิสต์อีกด้วย
4
ภายหลังจากที่กองทัพเยอรมันเปิดฉากทำสงครามกับโซเวียตเต็มอัตราตามแผนยุทธการบาบารอสซา ในช่วงแรกของสงครามนั้นกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตปราชัยต่อทหารเยอรมันครั้งแล้วครั้งเล่า ภาพของทหารโซเวียตนับพันเดินเข้าไปหาทหารเยอรมันพร้อมกับชูมือทั้งสองข้างขึ้นมา อันเป็นลักษณะอาการที่บ่งบอกถึงการยอมแพ้ ความพ่ายแพ้และสูญเสียดินแดนต่างๆ อย่างรวดเร็วจากการรุกของพวกเยอรมัน ทำให้นายพลโคเนฟรู้สึกผิดหวังกับเหล่านายพลโซเวียตหลายนายที่มักจะรบกับข้าศึกแบบพอเป็นพิธีก่อนจะวิ่งหนีเอาตัวรอดไป กองทัพที่ 19 โคเนฟพ่ายแพ้จากการรบหลายครั้ง ทหารขวัญเสียและหมดกำลังใจจะสู้รบ เมืองใหญ่สำคัญอย่างสโมเลนสค์ถูกเยอรมันยึดครองได้ ในบางครั้งของการรบนายพลโคเนฟต้องชักปืนพกประจำตัวออกมาพร้อมกับชี้ไปที่นายทหาร หรือทหารคนใดที่จะหนีออกจากแนวรบ และกระตุ้นให้พวกเขาเลือกเอาว่า “พวกคุณจะตายเพื่อมาตุภูมิอย่างหาญกล้า หรือจะประจานความขี้ขลาดด้วยคมกระสุนของผม” นายพลโคเนฟต้องนำหน้าลูกน้องและกระตุ้นพวกเขาให้สู้กับข้าศึกถึงหลุมบุคคล การมาที่แนวหน้าสุดของการรบทำให้เขาเห็นถึงความน่าทึ่งของยุทธวิธีและเครื่องจักรสงครามของพวกนาซี ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่เขาจะนำไปศึกษาและหาทางเอาชนะมันให้ได้ ความปราชัยของโคเนฟ สร้างความไม่พอใจแก่สตาลินอย่างมาก แต่เพราะการโน้มน้าวและช่วยเหลือของสหายของเขา นั่นก็คือ นายพลจอร์จี้ ซูคอฟ ทำให้สตาลินยอมรับฟังเหตุผล และให้เขามีโอกาสบัญชาการรบต่อไป และโคเนฟทำสำเร็จในการผลักดันกองทัพเยอรมันให้ถอย ภายหลังจากรุกมาถึงชานกรุงมอสโก
15
กองทัพของนายพลโคเนฟเปิดฉากการรุกโต้ตอบกองทัพเยอรมันในฤดูหนาว ปี ค.ศ. 1941 ถึงต้นปี 1942 และในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1942 โคเนฟเป็นผู้บัญชาการ แนวรบคาลินิน หรือ Kalinin Front ผลงานของโคเนฟในช่วงนี้เด่นชัด และปรากฏให้สหายสตาลินได้ประจักษ์แก่สายตา ประกอบกับในช่วงนั้นกองทัพแดง เริ่มฟื้นตัวจากการถูกข้าศึกรุกไล่ รวมทั้งบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อยู่ในยูราลต่างแหล่งกำลังการผลิตยุทโธปกรณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องทันท่วงที จึงทำให้กำลังรบของฝ่ายโซเวียตเพิ่มพูน และพร้อมจะออกปฏิบัติการได้อย่างไม่ขัดสน เฉกเช่นที่เคยเป็นมาก่อนตอนช่วงต้นสงคราม นายพลโคเนฟบัญชาการแนวรบต่างๆ จากปี ค.ศ. 1941 อาทิ แนวรบโซเวียตตะวันตก Soviet Western Front แนวรบตะวันตกเฉียงเหนือ North-Western Front และแนวรบยูเครนที่ 2 2nd Ukrainian Front
8
อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้นายพลโคเนฟประสบความสำเร็จในการบัญชาการรบหลังจากปี ค.ศ. 1941 เป็นต้นมา คือหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาชอบอ่านอย่างมาก มันทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงศิลปะการทำสงครามอย่างถ่องแท้ นั่นก็คือ “ตำราพิชัยสงครามของซุนวู” มีการแปลหนังสือเล่มนี้เป็นภาษารัสเซีย ตั้งแต่ก่อนช่วงสงคราม นายพลโคเนฟคือผู้ที่ศึกษาและนำไปใช้ในการรบกับพวกเยอรมันอยู่หลายครั้ง หนึ่งในครั้งนั้นคือ การรบที่เมืองคูร์ส The Battle of Kursk เขารู้ดีว่ากองทัพเยอรมันกำลังจะเปิดการรุกใส่กองทัพแดง และนอกเหนือจากการตั้งรับที่ถูกเตรียมมาเป็นอย่างดีของกำลังพล สถานที่ และยุทโธปกรณ์แล้ว การลวง คืออีกหนึ่งสิ่งที่นายพลโคเนฟดึงมันออกมาจากตำราพิชัยสงครามของซุนวู เพื่อมาใช้งานจริงในการรบครั้งนี้ เขาให้ความสนใจและเน้นหนักกับมาตรการต่างๆ ในการลวงข้าศึก เช่น การสร้างบังเกอร์ หรือฐานปืนใหญ่ปลอม การนำหุ่นฟางที่สวมใส่เครื่องแบบทหารโซเวียตประจำอยู่ในสนามเพลาะต่างๆ เพื่อทำให้ดูเหมือนกับว่ามีทหารโซเวียตเพียงเบาบางในแนวรับที่พวกเขากำลังจะบุกเข้ามา เขายังสร้างการลวงให้เสมือนจริงมากขึ้น ด้วยการส่งข่าววิทยุหลอกๆ เพื่อลวงข้าศึกให้รับข่าวสารที่ไม่เป็นความจริง และรวมถึงการปกปิดกำลังทหารและตำแหน่งที่แท้จริงของกองทัพของเขา มันจึงเป็นการลวงซึ่งตรงกับตำราพิชัยสงครามที่ว่า “มีให้ทำเหมือนว่าไม่มี”
15
แผนของโคเนฟส่งผลอย่างมากต่อกองทัพเยอรมัน เพราะพวกเยอรมันประเมินกำลังตั้งรับของฝ่ายโซเวียตได้ผิดพลาด เพราะกองกำลังที่พวกเขาเห็นเป็นเพียงภาพลวงตาหลอกๆ ที่ฝ่ายโซเวียตลวงเอาไว้ เพื่อล่อให้ทหารเยอรมันบุกเข้ามาติดกับ และเมื่อเยอรมันบุกเข้ามา พวกเขาบุกเข้ามาอย่างชะล่าใจ และเข้ามาอยู่ในพื้นที่สังหารของปืนใหญ่ จรวดหลายลำกล้องนับพันที่ระดมยิงถล่มการรุกของเยอรมันอย่างหนักหน่วง ก่อนข้าศึกที่เยอรมันคิดว่า ฝ่าพวกมันเข้ามาได้แล้ว กลับโผล่ออกมาจากทุกทิศทุกทาง บุกเข้ามารบกับพวกเขาอย่างรวดเร็ว มันคือ ชัยชนะที่มาจากการนำเอาความรู้ของการอ่านตำราโบราณ แล้วมาประยุกต์ใช้จริงในสงครามยุคใหม่
4
นอกจากเขาจะเป็นนายพลผู้ชื่นชอบใช้วิธีตามพิชัยยุทธ์ของจีนโบราณแล้ว เขายังมีชื่อเสียงในเรื่องของความเหี้ยมโหดอีกด้วย ครั้งหนึ่งในการบัญชาการรบของนายพลโคเนฟ ช่วยให้กองทัพโซเวียตสามารถล้อมกลุ่มกองทัพใต้ของเยอรมัน Heeresgruppe Süd บริเวณทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดนีเปอร์ เขาออกคำสั่งให้กำจัดข้าศึกที่อยู่ในวงล้อมให้มากที่สุด และไม่จับเป็นเชลยโดยเด็ดขาด ด้วยผลงานในครั้งนี้ ทำให้สตาลินเลื่อนตำแหน่งให้เขาเป็น “จอมพลแห่งสหภาพโซเวียต หรือ Marshal of the Soviet Union” ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1944 เขายังเป็นหนึ่งในจอมพลที่สตาลินชื่นชม แต่ก็อดไม่ได้ที่จะระแวงว่า โคเนฟอาจจะเป็นภัยต่อฐานอำนาจของเขา
3
ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1945 จอมพลโคเนฟและสหายจอมพลซูคอฟ คือหมีดุสองตัวจากโซเวียตที่พร้อมจะขย้ำอินทรีย์เยอรมันที่กำลังร่อแร่ กองทัพของพวกเขาทั้งสอง บัดนี้พร้อมแล้วที่จะฝ่าแนวรับของเยอรมัน เพื่อบุกเข้าไปขุดรากถอนโคนพวกนาซีที่กรุงเบอร์ลิน การบุกครั้งใหญ่ข้ามพรมแดนโปแลนด์สู่เยอรมันก็เริ่มขึ้น กองทัพแดงและทหารนับล้านนายบุกข้ามพรมแดนเยอรมันราวกับพายุ ทุกๆ ที่ที่มีการเข้าตีของกองทัพแดง ที่นั่นย่อมพินาศวอดวายไปทั้งสิ้น กองทัพเยอรมันที่ระดมพลรบเต็มอัตรามีการเกณฑ์คนแก่และเด็กเข้ามาเป็นทหาร พร้อมกับทหารในกองทัพเยอรมันที่แตกพ่ายมาจากแนวรบด้านตะวันออก ซึ่งพวกเขาต่างก็อ่อนล้าและอิดโรยกับการทำการรบติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน นั่นจึงทำให้ไม่สามารถต้านทานคลื่นการเข้าตีที่โหมกระหน่ำอย่างไม่รู้จักหมดสิ้นของทหารโซเวียตลงได้ ตลอดเวลากว่า 3 เดือนที่กองทัพใต้การบัญชาการของโคเนฟบุกตะลุยเข้าไปยังใจกลางดินแดนข้าศึก โดยไม่สนกับความสูญเสียใดๆ
1
ในช่วงปลายเดือนเมษายนกองทัพแดงก็รุกมาถึงชานกรุงเบอร์ลิน สองจอมพลแห่งโซเวียตแข่งขันกันเร่งเร้าทหารของตนเองให้บุกเข้าไปยึดเมืองหลวงของเยอรมันให้ได้ และก็ดูทีท่าว่า กองทัพของจอมพลโคเนฟน่าจะเป็นฝ่ายที่ยึดกรุงเบอร์ลินได้ก่อน แต่ด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการที่สตาลินออกคำสั่งให้โคเนฟหยุดการเคลื่อนพล และให้เกียรติของชัยชนะอันยิ่งใหญ่นี้เป็นชื่อของจอมพลซูคอฟแทน มันกลับกลายเป็นว่า การหวังผลทางการเมืองและอำนาจของสตาลินที่ต้องการเชิดชูจอมพลซูคอฟจากผลงานที่เขาปลดปล่อย และเอาชนะกองทัพเยอรมันที่สตาลินกราด มันก็ควรจะเป็นชื่อของซูคอฟที่พิชิตกรุงเบอร์ลินเฉกเช่นที่เขาคือ วีรบุรุษที่สตาลินเลือกมาเพื่อทำการรบปลดปล่อยโซเวียตและพิชิตพวกนาซี แม้เรื่องนี้จะทำให้จอมพลโคเนฟไม่พอใจอย่างมาก แต่เขาเองก็ถือว่าเป็นการให้เกียรติสหายซูคอฟที่เคยโน้มน้าวสตาลิน ไม่ให้เอาโทษเขาจากความปราชัยในช่วงต้นสงคราม จอมพลโคเนฟได้รับคำสั่งให้นำกองทัพรุกลงไปทางใต้ ซึ่งที่นั่นเขาได้มาพบกับกองทัพอเมริกันที่เทอร์เกา ก่อนจะนำพลเข้าปลดปล่อยกรุงปราก และยอมรับการยอมจำนนของกองทัพเยอรมัน
3
ภายหลังสงครามจอมพลโคเนฟยังได้รับการเคารพและนับถือจากสหายนายพล และทหารกองทัพแดงนับล้านเฉกเช่นจอมพลซูคอฟ พวกเขาทั้งคู่คือ วีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียต ที่ชาวโซเวียตต่างบูชาพวกเขาราวเทพเจ้า จอมพลโคเนฟดำรงตำแหน่งสูงสุดในด้านการทหารภายหลังสงครามคือ ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองกำลังสนธิสัญญาวอร์ซอ อันเป็นการรวมกลุ่มของกองทัพมิตรประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรป โดยมีสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ จอมพลโคเนฟเสียชีวิตอย่างสงบในปี ค.ศ. 1973
2
โฆษณา