8 ก.ย. 2019 เวลา 13:53
เตรียมเผยวีดีโอของหลุมดำในปี ค.ศ. 2020
หลังจากที่ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก NSF และ EHT ได้เผยภาพถ่ายแรกของหลุมดำที่ตั้งอยู่ในกาแล็กซี M87 จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลกในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปีหน้าจะนำเสนอออกมาในรูปแบบของวีดิโอเพื่อให้เห็นรายละเอียดขณะที่กลุ่มแก๊สร้อนขนาดใหญ่ถูกดูดเข้าไปในหลุมดำ
เนื่องจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมมามีขนาดใหญ่มหาศาล เพราะใช้โครงข่ายของหอสังเกตการณ์กล้องโทรทรรศน์วิทยุจากหลาย ๆ แห่งกระจายอยู่ในแต่ละทวีปทั่วโลกรวมกัน ประหนึ่งว่าเราได้สร้างกล้องโทรทรรศน์ขนาดเท่าโลก (Earth - sized Giant Telescope) ทำให้ภาพที่ได้มีขนาดใหญ่หลายล้านกิกะไบท์ กว่าจะประมวลออกมาเป็นภาพ หรือวีดิโอออกมา ก็ใช้ระยะเวลานานเป็นแรมปี (ขนาดข้อมูล 5,242,880 กิกะไบท์)
ภารกิจนี้ต้องใช้ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก NSF และ EHT ถึง 347 คนจากทั่วโลก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันออกไป ล่าสุดทีมได้รับรางวัล Oscar of science สำหรับภาพถ่ายหลุมดำแรก พร้อมเงินรางวัล 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปครอง
หนึ่งในนักดาราศาสตร์ของทีมอายุ 52 ปี จาก Harvard - Smithsonian กล่าวติดตลกว่า
"ผมทำงานนี้มาเกือบ 20 ปี แต่ภรรยาผมบอกว่าสิ่งที่คุณทำมันคุ้มค่าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"
#ตรวจจับหลุมดำได้อย่างไรเพราะมันดูดแม้กระทั่งแสง
การที่เราจับภาพหลุมดำได้เป็นเพราะหลุมดำได้เขมือบกลุ่มแก๊สร้อน จึงสามารถจับภาพคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปลดปล่อยออกมาจากแก๊ส จนทำให้เราเห็นขอบเขตของหลุมดำได้
นอกจากหลุมดำในกาแล็กซี M87 แล้ว ทีมยังให้ความสนใจที่จะสำรวจหลุมดำ Sagittarius - A* ตั้งอยู่ใกล้ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราอีกด้วย เนื่องจากระยะเวลาในการโคจรของกลุ่มแก๊สร้อนรอบหลุมดำใน M87 ใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน ขณะที่ของ Sagittarius - A* ใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมง ทำให้การประมวลผลข้อมูลทำได้เสร็จสิ้นภายในช่วงข้ามคืน
ทั้งนี้ในอนาคตทีมนักวิทยาศาสตร์หวังว่าจะใช้กล้องโทรทรรศน์ที่อยู่ในวงโคจรของโลกเพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อทำให้ภาพถ่ายมี Resolution ที่ดีมากยิ่งขึ้น
เรียบเรียงโดย Einstein@min | @thaiphysicsteacher.com
Source:
[1] Black hole movies coming soon, says leading astronomer. phys.org, 2019 : https://phys.org/news/2019-09-black-hole-movies-astronomer.html
[2] Team behind world's first black hole image wins 'Oscar of science'. phys.org, 2019 : https://phys.org/news/2019-09-team-world-black-hole-image.html
ช่องทางติดตามข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โฆษณา