9 ก.ย. 2019 เวลา 00:45 • ความคิดเห็น
สอนเขียนบทความสไตล์หนังหลายมิติ
ตั้งหัวข้อไว้ล่วงหน้าแล้วว่าเมื่อถึงบทความที่ 50 จะเขียนบทความเล่าวิธีการทำงานของผมให้เพื่อนๆอ่าน
รวมถึงแบ่งปันเทคนิคการเขียนเล็กๆน้อยๆเพื่อเป็นประโยชน์แก่นักเขียนหน้าใหม่
ออกตัวก่อนว่าถึงแม้จะใช้ชื่อหัวข้อว่าสอนก็ไม่ได้หมายความว่าผู้เขียนจะตั้งตนเป็นคนเขียนเก่ง
เรียกว่าเป็นคนชอบเขียนจะดีกว่า
การสอนเขียนสไตล์หนังหลายมิติ "เทคนิคพิชิตดาว" เมื่ออ่านเสร็จแล้วทำตาม ผมเชื่อว่างานเขียนของคุณจะพัฒนาขึ้น
ผมได้รวบรวมขั้นตอนมาจากนักเขียนมืออาชีพท่านนึงที่เคยร่วมงานด้วยในฐานะผู้ช่วยสอน
และก็เป็นสิ่งที่ผมได้ใช้ในงานเขียนของตัวเองจริงๆ
ส่วนจะได้ดาวหรือไม่ได้นั้น ขอให้เป็นผลพลอยได้ดีกว่าไม่มีใครการันตีเรื่องนี้ได้
สิ่งแรกที่อยากจะบอกสำหรับคนอยากเป็นนักเขียนคือ คุณต้องเป็นนักเขียน ไม่ใช่ นักอยากเขียน
นักเขียนจะเขียนแม้ไม่อยากเขียน เขียนเพื่อฝึกฝีมืออยู่เสมอ ส่วนนักอยากเขียนเขาจะแค่อยากเขียนแล้วก็หยุดแค่นั้น ไม่ลงมือเขียน
ผมเชื่อว่าคนเราสามารถพัฒนาทักษะของตัวเองได้ เพียงทำบ่อยๆ ฝึกซ้ำๆจนชำนาญ
หากแต่การเขียนไม่ใช่แค่ต้องเขียนบ่อย ต้องอ่านบ่อยด้วย การอ่านจะทำให้เรามีข้อมูล มีคลังประโยคสำหรับหยิบมาเรียบเรียงในงานเขียนได้
ต่อไปนี้เป็นขั้นตอนการเขียนบทความลง Blockdit ของผม
1. วางแผน
ผมจะวางหัวข้อบทความล่วงหน้าคราวละ 5 บทความในการวางแผน ผมจะใช้เวลาว่างนึกหัวข้อไปเรื่อยๆ เมื่อได้ไอเดียอะไรที่น่าสนใจก็บันทึกใส่มือถือไว้
ข้อดีของการวางแผนคือ เมื่อถึงเวลาเขียน ผมสามารถเปิดคอมพิวเตอร์แล้วลงมือเขียนได้ทันที
ไม่ต้องเสียเวลานึกว่าจะเขียนเรื่องอะไร ?
ถ้าไม่วางแผนไว้ก่อนกว่าจะนึกออกคงหมดพลังไปพอสมควร
เนื่องจากเพจผมเป็นเพจเล่าเรื่องหนัง การคิดของผมจึงประมวลจากหนังที่ดูแล้วประทับใจ ตั้งเป็นหัวข้อ เขียนชื่อเรื่องและประเด็นที่ต้องการเขียนลงไป
จากรูปด้านบนคือตัวอย่างโน๊ตบันทึกของผม
(ขออนุญาตปิดหัวข้อที่ยังไม่ได้เขียนไว้)
จะเห็นว่ามีบางหัวข้อที่ผมเขียนลงเพจไปแล้ว แม้ชื่อหัวข้อจะไม่ตรงกับที่เขียนจริงแต่เนื้อหาก็ตรงตามนั้น
(ไอเดียตอนคิดเป็นชื่อนี้ พอเขียนจริงผมปรับใหม่ให้น่าสนใจขึ้น)
ตรงนี้สามารถวางแผนและคิดเนื้อหาให้ตรงกับแนวทางของเพจที่เพื่อนๆทำอยู่ได้
ควรเป็นช่วงที่เราว่าง สบายๆ ไอเดียจะมาเยอะมาก
บางครั้งวางแผนไปแล้ว แต่ช่วงนั้นมีข่าวมาแรง
เป็นกระแส น่านำมาเขียนบทความ ผมก็ลัดคิวเขียนเลย ดูเป็นกรณีไปครับ
2. หาข้อมูล
การหาข้อมูลผมจะหาตอนที่เขียน
โดยsearch ข้อมูลจากหลายแหล่ง ใช้คำสืบค้นคำหลักและคำรอง ร่วมกัน ขั้นตอนนี้สำคัญมาก งานเขียนที่ดีต้องมีข้อมูล มีเนื้อหา มีโครงเรื่อง มีแก่นเรื่อง
เวลาเขียนให้นึกว่าเรากำลังจะบอกอะไรกับคนอ่าน ?
ในเรื่องที่บอกควรมีส่วนขยายเรื่องอะไร ?
เช่น เขียนทฤษฎีการตลาด ก็ควรมีกรณีศึกษา ยกตัวอย่างสินค้าที่ทำตามทฤษฎีที่เราเขียนถึงแล้วประสบความสำเร็จ , เขียนเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจ ก็หาเรื่องเล่าที่กระตุ้นไฟคนอ่านให้เกิดแรงบันดาลใจ
การขยายความเหล่านี้จะช่วยยกระดับเส้นเรื่องที่เราเขียนให้มีน้ำหนัก ชัดเจนมากขึ้น
การหาข้อมูลของผม ผมจะอ่านข้อมูลทั้งหมดให้จบ แล้วลงมือเขียนโดยไม่กลับไปอ่านซ้ำระหว่างเขียนเลย
วิธีนี้ช่วยให้งานเขียนของผมไม่ติดสำนวนจากแหล่งข้อมูลต้นฉบับที่นำมาอ้างอิงเลย
กรณีของเพจผม บางครั้งผมต้องกลับไปดูหนังเรื่องที่จะเขียนซ้ำ เพราะบางเรื่องดูมานานแล้วจำรายละเอียดบางอย่างไม่ได้ ข้อดีของการดูซ้ำ คือ เมื่อมาเขียนบทความมักจะบรรยายได้ดีและเข้าถึงอารมณ์
3. ลงมือเขียน
การเขียนบทความ ผมจะแบ่งบทความเป็น 3 ส่วนหลักๆ
ส่วนที่หนึ่ง : เกริ่นนำเรื่องที่จะเล่า อาจขึ้นต้นด้วยการคุยกับคนอ่านแล้วค่อยโยงไปเข้าประเด็น การให้ข้อมูลเบื้องต้น หรือจะเกริ่นจากเหตุการณ์ ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เขียนก็ได้
ส่วนที่สอง : เนื้อหา ส่วนนี้จะเป็นเนื้อหา รวมถึงส่วนขยายเพื่อเกาะประเด็นที่ต้องการส่งไปยังผู้อ่าน
ส่วนที่สาม : ส่วนสรุป ปิดจบ จากการอ่านงานเขียนของนักเขียนหน้าใหม่(บางคน) ผมเสียดายแทนบางงานที่เขียนได้ดีมากๆ แต่ต้องมาตายตอนจบเพราะจบไม่ลง เลยตัดจบแบบห้วนๆ ทั้งที่ส่วนนี้มีความสำคัญมาก
ตอนจบที่ดีสามารถสร้างความประทับใจให้คนอ่านได้
หากเปรียบงานเขียนเหมือนเครื่องบิน ตอนจบก็เหมือนเครื่องบินที่กำลังลงจอดที่สนามบิน
เราในฐานะกัปตันคุมเรื่องราวต้องพยายามนำบทความลงจอดให้นุ่มนวลที่สุดเพื่อให้ผู้อ่านประทับใจ
เทคนิคการเขียนบทความให้น่าสนใจ
- เรียกแขกด้วยชื่อบทความ
ในวงการหนัง หนังเรื่องไหนจะประสบความสำเร็จวัดกันได้ตั้งแต่หน้าหนัง "หน้าหนัง" คือ " การโปรโมทก่อนหนังเข้าฉาย ตัวอย่างหนัง โปสเตอร์ ชื่อเรื่อง นักแสดง
ส่วนหน้าหนังในบทความคือ" ชื่อบทความ" นั่นเอง
ชื่อต้องสื่อถึงเรื่องที่จะเขียน ไม่ควรจะเขียนโต้งๆตรงๆ
ควรตั้งให้น่าสนใจ เห็นแล้วอยากเข้ามาอ่าน อยากรู้เรื่องราวต่อ ชื่อบทความที่ดีต้องกระตุ้นความสนใจคนอ่าน
ตัวอย่างชื่อที่น่าสนใจ (ยกตัวอย่างจากบทความติดดาวของผม) เช่น
- บทเรียนผู้นำ 4 ข้อ ของดอนวีโต้ คอลิโอเน่ จาก The godfather
- 21 Blackjack : เมื่อนักคณิตศาสตร์เล่นไพ่
- Ironman : การเดิมพันหมดหน้าตักของมาร์เวล
- การย้อนเวลาในภาพยนตร์:ทฤษฎีและความเป็นไปได้
- อยากประสบความสำเร็จจงเอาอย่างคุณกัมป์
- คัมภีร์ห้าห่วง : วิธีแห่งการไร้พ่าย
ถ้าจะแบ่งความสำคัญของชื่อเรื่อง เนื้อหา และภาพประกอบ อัตราส่วนจะอยู่ที่ 50 : 40 : 10
ผมให้ความสำคัญของชื่อเรื่อง 50 เปอร์เซนต์ครับ มากกว่าเนื้อหาด้วยซ้ำ เหตุผลเพราะถึงแม้เนื้อหาของคุณจะดีแต่ถ้าชื่อเรื่องไม่น่าสนใจ คนจะไม่เข้ามาอ่าน
เมื่อคนไม่มาอ่าน เขาก็พลาดเนื้อหาดีๆนั้นไป
"ชื่อเรื่อง" เปรียบเสมือนประตูต้อนรับคนอ่าน ให้ความสนใจกับมันให้มาก
- จัดวางจังหวะ
ข้อนี้ Blockditช่วยเราไปเยอะแล้ว
บทความใน Blockdit อ่านง่ายเพราะตัวแอปพลิเคชั่นออกแบบให้ข้อความอยู่ในกล่องคำ สามารถแทรกรูประหว่างย่อหน้าได้ ดังนั้นควรใช้ข้อนี้ให้เป็นประโยชน์
บางคนเขียนมายาวพรืด ไม่วรรค ไม่เว้นบรรทัด ไม่จัดเรียง แค่เปิดมาก็ลายตาไปหมดแล้ว
ควรจัดตัวอักษรให้สบายตา ไม่แน่นจนเกินไป เว้นย่อหน้า จัดช่องไฟดีๆ
อย่าให้งานเขียนของคุณมาตายน้ำตื้นเพราะเรื่องแบบนี้
- เนื้อหาไม่กลวง
ใส่ใจข้อมูลการเขียน ต้องมีเส้นเรื่องที่ชัดเจนว่าเราจะบอกเรื่องอะไรกับคนอ่าน แล้วค่อยซอยย่อยเป็นรายละเอียดว่าเรื่องนั้นควรมีส่วนขยายตรงไหน
หลายครั้งผมเห็นคนเขียนพยายามประดิษฐ์คำให้คม เขียนคำให้โดน แต่โดยรวมแล้วไม่แน่ใจว่าเขียนเรื่องอะไร?
เหตุเพราะเอาคำคมนำเนื้อหา ไม่ร้อยเรียงเรื่องราวให้เชื่อมต่อและอยู่ในประเด็นเดียวกัน
(เส้นเรื่องไม่แข็งแรง)
การคิดเนื้อหาเพื่อเขียนจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย เอาเป็นว่าเราอยากรู้อะไร? ก็ไปหาข้อมูลแล้วนำมาเขียน สิ่งที่เราอยากรู้ ต้องมีคนอื่นสงสัย สนใจ อยากรู้เช่นเดียวกับเรา
เนื้อหาที่ดีต้องให้ประโยชน์กับคนอ่าน ให้ความรู้ ให้ข้อมูล ให้แรงบันดาลใจ หรือให้มุมมองใหม่ๆ
ข้อแตกต่างตรงนี้สำคัญมาก
หากพาคนกลุ่มหนึ่งไปเดินตลาดน้ำอัมพวาแล้วให้กลับมาเขียน เรื่องของคนเขียนเป็น จะมีรายละเอียด มีมุมมองไม่เหมือนใคร ส่วนนี้ฝึกได้จากการอ่าน การคิดสร้างสรรค์ และการหมั่นสังเกตสิ่งต่างๆรอบตัว
- ไม่มีบทความที่สมบูรณ์แบบ
เมื่อเขียนบทความจบ อ่านซ้ำอีกรอบ คำไหนอ่านแล้วเป็นส่วนเกินของประโยค สามารถตัดทิ้งให้กระชับได้ก็ลบซะ ตรงไหนไม่ต่อเนื่อง ไม่เชื่อมโยงกัน ก็เพิ่มเติมร้อยเรียงให้เหมาะสมมากขึ้น
กว่าบทความในเพจหนังหลายมิติจะเขียนเสร็จผมแก้ไม่ต่ำกว่า 4-5 รอบ บทความที่เป็นไฟล์ร่างสมบูรณ์ตอนเขียน ไม่เคยมีไฟล์ไหนเหมือนกับบทความที่ลงจริงเลย
ผมมักแก้ไขเล็กน้อยก่อนกดโพสต์เสมอ
การอ่านซำ้ทำให้ผมเจอคำรุ่มร่าม ยืดเยื้อ ที่สามารถตัดออกไปได้ บางทีโพสต์ไปแล้วก็ไปแก้ไขอีกภายหลัง
การแก้ไขเป็นปกติในงานเขียน ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ แก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็จำไว้เป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงต่อไป
ผมเชื่อว่าเนื้อหาที่นำมาแบ่งปัน คงเป็นประโยชน์กับนักเขียนหน้าใหม่ ให้ได้เห็นแนวทางในการพัฒนางานเขียนของตนเอง ส่วนที่ต้องทำต่อไป คือ หมั่นฝึกฝนและสร้างวินัยในการเขียน ทำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน รับรองว่าเก่งขึ้นแน่นอน
พรแสวงย่อมไม่แพ้พรสวรรค์ หากใจมุ่งมั่น ความสำเร็จย่อมปรากฏ แม้เขียนแล้วยังไม่สำเร็จ ก็จงเขียนต่อไปด้วยความสุข
" เขาสำเร็จหนึ่งทิวา ข้าฝึกฝนสิบราตรี "
หากทำเช่นนี้ได้ แม้ "ดาว" บนฟ้า เราก็คว้าลงมาได้
ภาพประกอบจาก : https://pixabay.com
โฆษณา