11 ก.ย. 2019 เวลา 02:48 • การศึกษา
ประเทศทที่พัฒนาเขาอ่านหนังสือเยอะ อย่างเช่นประเทศสิงคโปร์
สิงคโปร์ ประเทศเพื่อนบ้านและหนึ่งในสมาชิกประชาคมอาเซียนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีสถิติการอ่านค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับไทย โดยมีสถิติการอ่านหนังสือปีละ 40-50 เล่มต่อคน ขณะที่คนไทยยังให้ความสำคัญกับการอ่านน้อยมาก
 
นอกจากนี้ ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ ที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากนักเหมือนประเทศอื่น แต่กลับมีฐานะทางเศรษฐกิจดีและประเทศพัฒนาอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือ ความมีระเบียบวินัยของคนในประเทศ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายหนึ่งในการพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพและพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ คือ "นโยบายส่งเสริมการอ่าน"
 
นางเกียง-โก๊ะไลลิน ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มด้านการอ่าน คณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (Singapore National Library Board) คือ ผู้หนึ่งที่มีส่วนผลักดันและสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการอ่านของสิงคโปร์ และในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการทำงานส่งเสริมการอ่านมายาวนานกว่า 35 ปี เธอยังได้นำประสบการณ์มาผลักดันให้เกิดโครงการใหม่ๆ เพื่อปลูกฝังและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับประชาชนในสิงคโปร์มากมาย อีกทั้งส่งเสริมให้มีการอ่านหนังสือทั้ง 4 ภาษา ได้แก่ จีน , อังกฤษ , มาเลเซีย และทมิฬ ซึ่งไม่เพียงแต่เชิญชวนให้คนสิงคโปร์อ่านหนังสือแล้ว ยังส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีการแบ่งปันประสบการณ์การอ่านอีกด้วย
 
นาง เกียง-โก๊ะ ไล ลิน กล่าวว่า รัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการอ่าน โดยมีคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำนโยบายส่งเสริมการอ่าน ซึ่งนอกจากห้องสมุด เทคโนโลยีสารสนเทศ และการบริการที่สะดวกแล้ว ต้องไม่ลืมว่าหัวใจหลัก คือ "การสอนให้ประชาชนรักการอ่าน" รู้จักวิธีการเลือกหนังสือ เพื่อส่งเสริมความรู้และการพัฒนาตัวเอง
 
โครงการส่งเสริมการอ่านของประเทศสิงคโปร์นั้น มีหลากหลาย เน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกเพศทุกวัย อย่างกว้างขวาง โดยมีโครงการที่น่าสนใจและเป็นตัวอย่างที่ดี อาทิ National Kids Read Program เป็นโครงการที่เปิดรับสมัครอาสาสมัครเพื่ออ่านหนังสือ เล่านิทานให้เด็กๆ ในชุมชน , โรงเรียนอนุบาล , ประถม และมัธยมศึกษา โดยเน้นให้เด็กได้มีส่วนร่วม สนุกสนานกับเรื่องเล่า เรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษในเรื่องเล่า และได้ข้อคิดดีๆ จากเรื่องเล่าหรือนิทานที่ฟัง เพราะเมื่อเด็กสนุกก็จะทำให้พวกเขาอยากที่จะเปิดหนังสืออ่าน และมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านหนังสือว่าไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ ซึ่งเด็กๆ ยังได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่จะนำไปใช้ในด้านการเรียนและใช้ในชีวิตประจำวันได้
 
โครงการ 10,000 & More Father Reading เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่ได้รับการตอบรับอย่างดีในสิงคโปร์ เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนให้พ่อจากทุกอาชีพอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หรืออ่านหนังสือกับลูกๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความผูกพันระหว่างพ่อกับลูกผ่านการอ่านหนังสือ กิจกรรมนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2550 มีผู้เข้าร่วมและได้ประโยชน์กว่า 60,000 คน และยังมีกิจกรรมต่อเนื่องคือ "Read a story with my Dad" เป็นการแข่งขันวิจารณ์หนังสือ โดยมีโรงเรียนอนุบาล และศูนย์ดูแลเด็กเข้าร่วม โดยห้องสมุดแห่งชาติจะมีการ์ดแจกให้เด็กๆ จากนั้นให้เด็กๆ นำกลับไปที่บ้านให้พ่ออ่านให้ฟัง เมื่ออ่านเสร็จแล้วก็ส่งการ์ดกลับมาที่ห้องสมุดแห่งชาติ เพื่อเลือกการ์ดและให้รางวัล ผู้ที่ได้รับคัดเลือกก็จะมาที่ห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือและทำกิจกรรมร่วมกัน จากนั้นบรรดาคุณพ่อจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และประสบการณ์การอ่านหนังสือให้ลูกๆ ฟัง และจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ต่อไป
 
นาง เกียง-โก๊ะ ไล ลิน กล่าวว่า อีกโครงการที่สำคัญในการส่งเสริมการอ่านของประเทศสิงคโปร์ คือ "Read! Singapore" หรือ โครงการ "มาอ่านหนังสือกันเถอะ!" เป็นโครงการรณรงค์การอ่านทั่วประเทศ เพื่อมุ่งปลูกฝังการรักการอ่านในชุมชนทั่วประเทศ เสริมความผูกผันของคนในชุมชน และจุดประกายจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กับคนสิงคโปร์ ริเริ่มโดยคณะกรรมหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ โดยทำงานร่วมกับภาครีกว่า 100 แห่ง มีการจัดการอภิปรายและกิจกรรมการอ่านมากกว่า 16,000 ครั้ง กิจกรรมนี้จะมีการจัดขึ้นนาน 12-14 สัปดาห์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมของทุกปี ที่ผ่านมามีผู้ร่วมโครงการแล้วกว่า 160,000 คนภายในปี 2553
 
"การอ่าน..เป็นนิสัยที่ดีที่สุดในการบ่มเพาะสติปัญญา แม้ในโลกปัจจุบันผู้คนนิยมใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น แต่ก็ยังมีกลุ่มคนรักการอ่านหนังสือผุดขึ้นมากมายทั่วโลก อย่างโครงการ "หนึ่งเล่มหนึ่งเมือง" ของสหรัฐอเมริกาขณะที่เรามีโครงการ"มาอ่านหนังสือกันเถอะ!สิงคโปร์" ซึ่งโครงการนี้ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะสามารถดึงกลุ่มเป้าหมายจากหลากหลายอาชีพมาจัดตั้งชมรมการอ่านเฉพาะกลุ่มขึ้น เช่น กลุ่มคนขับรถแท็กซี่ ครู ช่างทำผม เจ้าหน้าที่ดูแลสุขภาพ พนักงานโรงแรมและบริการ กลุ่มผู้สูงอายุ เยาวชน ประชาชนทั่วไป หัวหน้าองค์กรรากหญ้า รวมถึงเจ้าหน้าที่พลเรือน และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ปัจจุบันมีชมรมการอ่านเฉพาะกลุ่มขึ้นมากกว่า 90 แห่ง
 
เราดีใจที่เห็นคนทุกกลุ่มหันมาสนใจการอ่าน และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หลังจากที่พูดคุยกันเสร็จก็มีการไปอ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำอีก เพราะประเด็นที่พูดคุยกันมีหลากหลาย น่าสนใจ ทำให้เราสนใจและกลับไปอ่านหนังสือเล่มนั้นเพิ่มเติม ที่สำคัญคือ เราเห็นว่าคนที่มาทำกิจกรรมร่วมกันมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นอกจากจะส่งเสริมการอ่านแล้ว ยังเป็นการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ ส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนแต่ละกลุ่ม แต่ละชุมชนอีกด้วย " นาง เกียง-โก๊ะ ไล ลิน กล่าว
 
ผู้อำนวยการโครงการริเริ่มด้านการอ่าน ย้ำว่า การส่งเสริมให้ประชาชนทุกวัยทุกอาชีพหันมาสนใจการอ่านหนังสือ ไม่ใช่แค่การให้ประชาชนมาอ่านหนังสือแล้วจบไป แต่เมื่ออ่านหนังสือเสร็จแล้ว ยังมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลายจากหนังสือที่อ่านเรื่องเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อมุ่งพัฒนาให้คนสิงคโปร์มีทักษะการคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ มีความคิดสร้างสรรค์ และกล้าแสดงออก ถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมการอ่านขึ้นในชุมชนทั่วประเทศ
 
จากก้าวเล็กๆ สู่การก้าวย่างที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ทั้งคุณภาพคนและสังคมที่ดี ตัวอย่างจากประสบการณ์การส่งเสริมการอ่านของประเทศเพื่อนบ้านประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ จะเห็นได้ชัดว่า "เริ่มจากการอ่าน" แต่การจะส่งเสริมให้คนหันมาสนใจการอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ได้นั้น ต้องอาศัยความรู้และความร่วมมือจากหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล เอกชน และคนในประเทศที่จะช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการอ่านให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของคน และสังคมให้น่าอยู่ต่อไป
โฆษณา