13 ก.ย. 2019 เวลา 04:49 • ธุรกิจ
ป๋าเวณีสิบสองเป็ง การทำบุญถึงบรรพชน
(ผู้เขียน พนมกร นันติ)
สิบสองเป็ง หรือประเพณีเดือนสิบสอง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนสิบสอง ของชาวล้านนา เดือนสิบสองทางเหนือจะนับไวกว่าเดือนภาคกลางไปสองเดือน ดังนั้นประเพณีสิบสองเป็งจึงตรงกับเพ็ญเดือนสิบ หรือขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ในวันนี้ในหลายภูมิภาคมักมีประเพณีการทำบุญอุทิศหาผู้ตาย หรือที่รู้จักกันดีในงานสารทเดือนสิบ ประเพณีนี้แต่ละท้องถิ่นเรียกขานแตกต่างกันออกไป บางจังหวัดในภาคเหนือเรียกประเพณีอุทิศหาผู้ตายว่าประเพณีเดือนสิบสองบ้าง ประเพณีปล่อยผีปล่อยเปรตบ้าง ส่วนภาคกลางว่าตรุษสารท หรืองานบุญสารทเดือนสิบ ทางภาคอีสานเรียกประเพณีบุญข้าวสาก และภาคใต้เรียกว่าประเพณีชิงเปรต ประเพณีที่กล่าวมานี้ โดยความหมายและจุดประสงค์ที่เหมือนกันคือ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษของตน คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุงป้า ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ที่แตกต่างกันคือวิธีการ จารีตประเพณีที่ปฏิบัติ และสืบทอดกันมาในแต่ละท้องถิ่นของตน การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น มีความเชื่อว่าญาติพี่น้องหรือบรรพบุรุษจะรับส่วนบุญกุศลที่ลูกหลานญาติพี่น้องได้ทำบุญไปให้ สำหรับการอุทิศหาผู้ตายของชาวล้านนา มีประเพณีสืบต่อกันมาและถือกันว่าในเดือนสิบสองเหนือ ขึ้น ๑ ค่ำ ถึงเดือนแรม ๑๔ ค่ำนั้น พระยายมราชได้ปล่อยวิญญาณผู้ตายกลับมาสู่เมืองมนุษย์ เพื่อขอรับเอาส่วนบุญส่วนกุศลจากญาติพี่น้อง ลูกหลาน เพื่อจะได้พ้นจากภาวะแห่งเปรตอสูรกาย ดังนั้นการปฏิบัติต่อประเพณีของชาวล้านนาและชาวไทยพุทธด้วยการกตัญญู ต้องการให้บุคคลผู้เป็นที่รักพบกับความสุขในปรโลกจึงได้ทำบุญและสืบทอดประเพณีนี้ต่อกันมากระทั่งปัจจุบัน
ประเพณีการตานขันข้าวไปหาผู้ล่วงลับในวันสิบสองเป็งของชาวล้านนา การตานขันข้าวนี้ชาวล้านนานิยมทำกันในวันสำคัญต่างๆในพระพุทธศาสนา อาทิ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันปี๋ใหม่เมือง แปดเป็ง สิบสองเป็ง และยี่เป็ง เป็นต้น ดังนั้นในประเพณีสิบสองเป็งนี้จึงเป็นอีกวันหนึ่งที่ชาวล้านนามักจะออกไปทำบุญตานขันข้าว เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษและยาติพี่น้องผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะใส่ขันดอกไม้ หรือขันแก้วทั้งสาม และทำบุญใส่บาตรในวันพระตามปกติ การตานขันข้าวในวันสิบสองเป็งนี้ต่างจากการตานขันข้าววันอื่นๆ เนื่องจากวันสิบสองเป็งจะตานขันข้าวไปให้เฉพาะคนตายเท่านั้น ซึ่งต่างจากวันสำคัญและเทศกาลอื่นๆ ที่อุทิศส่วนกุศลไปให้เทวดา พ่อเกิด แม่เกิด เจ้ากรรมนายเวร หรือตานไว้ภายภาคหน้าให้กับตนเอง สำหรับอาหาร กับข้าวที่นำไปทำบุญนั้น ส่วนมากเป็นอาหารที่ผู้ตายชอบครั้งยังที่มีชีวิตอยู่ และเพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ตาย กอปรกับความเชื่อของชาวล้านนาที่ว่า เมื่อผู้ตายได้เสียชีวิตไปแล้วอาจต้องไปชดใช้กรรมเก่าของแต่ละคน และเกรงว่าจะอดอยาก จึงได้นำอาหารที่ผู้ตายชอบนั้นทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้
ประเพณีสิบสองเป็ง หรือประเพณีสารทเดือนสิบนี้ มีที่มาจากคำว่า สารท ซึ่งอ่านออกเสียงพ้องคำว่า ศราทธ์ เป็นพิธีส่งดวงวิญญาณขึ้นสวรรค์ของชาวฮินดูกระทำโดยลูกชายของผู้ตาย ซึ่งมีภรรยาร่วมพิธีด้วย พิธีศราทธ์ แปลว่า พิธีที่กระทำด้วยศรัทธา คือความเชื่อความมุ่งมั่นวิริยอุตสาหะจริง ๆ ของญาติผู้ตาย เพราะทำกันตลอดเวลา คือ อาจจะทำทุกวัน ในปีแรกแห่งการตาย พิธีนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สปิณฑนะ คือพิธีถวายข้าวบิณฑ์ หรือก้อนข้าวเพื่อสังเวยวิญญาณผู้ตาย
เมื่อถึงประเพณีสิบสองเป็ง หลังจากที่มีการตานขันข้าว ทำบุญตักบาตรช่วงเช่าเรียบร้อยแล้ว ในช่วงบ่ายชาวบ้านจะพากันมาที่วัดอีกครั้ง พร้อมด้วยกัณฑ์เทศและหนังสือเทศ ซึ่งชาวล้านนาเรียกว่า “ธรรม” เพื่อมาตานธรรมให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ตามคติความเชื่อของชาวล้านนานั้น เชื่อกันว่าเมื่อถึงวันสิบสองเป็ง ประตูนรกจะถูกเปิดออก พระยายมราชจะปล่อยให้ดวงวิญญาณของผู้ที่ตายไปแล้ว แล้วต้องไปเป็นเปรตชดใช้กรรมที่ได้ก่อไว้ ออกมาขอส่วนบุญจากญาติพี่น้องบนเมืองมนุษย์ ดังนั้นเพื่อให้ดวงวิญญาณเหล่านั้นได้หลุดพ้นจากบ่วงกรรมและความทุกข์ยาก ชาวล้านนาจึงได้ตานธรรม หรือเทศน์ ไปให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเชื่อว่าอานิสงส์แห่งการฟังเทศน์นั้นจะได้กล่อมเกลาจิตใจของเปรต และช่วยให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานได้
ธรรมที่อุทิศให้ส่วนกุศลในประเพณีสิบสองเป็งนั้น ประกอบไปด้วย ธรรมมหาวิบาก ธรรมมาลัยโผด ธรรมนิพพานสูตร ธรรมอานิสงส์ทานหาคนตาย ธรรมเจ้ากรรมนายเวร และธรรมมูลนิพพาน เป็นต้น ธรรมเหล่านี้มักใช้เทศน์อุทิศส่วนกุศลเป็นปุพพเปตพลี คือการทำบุญอุทิศหาผู้ตาย ซึ่งอาจบูชาเอาผูกใดผูกหนึ่ง คือ เรื่องใดเรื่องหนึ่งเทศน์ให้ฟังเป็นอานิสงส์แห่งการฟัง การตานธรรมให้ปู่ ย่า ตา ยาย หรือพ่อ แม่ และญาติพี่น้องผู้ล่วงลับนั้น บางคนอาจทำเพียงกัณฑ์เดียว บางคนทำจำนวนหลายกัณฑ์ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่จะตานธรรมไปให้ ธรรมอุทิศนี้หากจะพิจารณาถึงประโยชน์แล้วได้สิ่งที่เป็นสาระหลายประการคือ
๑. เป็นการสร้างความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
๒. เป็นการสังคหะช่วยเหลือผู้ตาย และสัมภเวสีอื่น ๆ
๓. เป็นการถวายอาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ สมาเณรที่จำพรรษาอยู่
๔. เป็นการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน
๕. เป็นการสร้างความสุขให้แก่ผู้กระทำ
๖. เป็นการอบรมสั่งสอนให้ลูกหลานได้เข้าใจในแบบแผน ประเพณี วัฒนธรรมของบรรพบุรุษ
๗. เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกอันทรงคุณค่าของบรรพบุรุษไว้ตราบนานเท่านาน
หลังจากที่ชาวบ้านได้ตระเตรียมกัณฑ์เทศน์พร้อมสรรพแล้ว ก็จะนิมนต์พระสงฆ์มาเทศนาตามธรรมที่ได้อุทิศไปให้ผู้ล่วงลับนั้น โดยจะเขียนชื่อของผู้ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ไว้กับธรรมผูกนั้นๆ เพื่อให้พระสงฆ์ได้เอ่ยชื่อเอ่ยนามขณะที่เทศน์ ผู้เขียนได้สังเกตเห็นหลายครั้งว่า ธรรมที่อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปนั้นมีจำนวนไม่กี่เรื่อง แต่จำนวนกัณฑ์เทศที่ผู้คนมาทำบุญในประเพณีสิบสองเป็งนั้นมีจำนวนมาก ดังนั้นการเทศในวันสิบสองเป็งนี้ ผู้เป็นประธานสงฆ์จะเทศน์ก่อนหนึ่งผูก จากนั้นจะนิมนต์พระสงฆ์ สามเณรทั้งหมดในวัดมารับกัณฑ์เทศน์ และเทศไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเสียงจะดังอื้ออึงไปทั่วบริเวณวิหารแทบฟังไม่ออก และรูปไหนที่เทศธรรมเรื่องเดียวกัน ก็จะเอ่ยชื่อของคนที่ญาติพี่น้องทำบุญไปให้รวมๆ กันไป บทเทศน์ตอนหนึ่งในธรรมที่อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้น มีข้อความที่คัดมาเป็นตัวอย่างดังนี้
“อย่าฮื้อเขาได้กระทำปานาติบาต อย่าเข้าอำนาจแห่งตัณหา มีใจโมหาโลภลักเอาของท่าน อย่าเล่นชู้จากผัวเมียต๋น อย่าได้จุ๊ร่าย อย่าดื่มน้ำเมาล่อยาเมา อย่าด่วนด่าจีตีพรามณ์ อย่าด่าพ่อตีแม่ อย่าตัดไม้สหรีมหาโพช อย่าม้างแก้วโกฐและเจดีย์ อย่ากระทำร้ายแก่ภิกขุณี กระทำฮื้อเลือดตี๋นพระเจ้าออก”
หลังจากที่พระสงฆ์ สามเณรได้เทศจบแล้ว พ่อหนาน หรืออาจารย์ก็จะโอกาสเสนตาน หรือกล่าวคำอุทิศถวายกัณฑ์เทศน์ จากนั้นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์แต่ละกัณฑ์ก็จะประเคนกัณฑ์เทศแก่พระสงฆ์ สามเณร ซึ่งขณะนี้จะไม่จำกัดว่ารูปใดเทศน์ธรรมของใคร เพราะไม่สามารถแยกออกได้ ดังนั้นจึงต้องประเคนถวายรวมกันไป
อานิสงส์ในการตานธรรมนั้น ก็เพื่อให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานในนรกอเวจี หลุดพ้นจากความเป็นเปรตและได้ไปผุดไปเกิดใหม่อีกครั้ง ซึ่งธรรมแต่ละผูกหรือแต่ละเรื่องนั้น คนโบราณได้แต่งขึ้นตามคติความเชื่อในพระพุทธศาสนา และนำมาผูกเป็นคำสั่งสอน เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้คนทำความชั่ว ซึ่งธรรมแต่ละเรื่องก็จะมีเรื่องเล่าที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างธรรมมาลัยโผด ซึ่งเป็นธรรมคัมภีร์โปรดสัตว์นรก โดยอาจารย์สนั่น ธรรมธิ จากสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายไว้ว่า ธรรมมาลัยโผด เป็นคัมภีร์ใบลานที่มีเนื้อหาจบในผูกเดียว กล่าวถึงพระมาลัยใช้อิทธิฤทธิ์เหาะไปเยือนนรกภูมิ แล้วกลับมาบอกข่าวแก่ชาวโลกมนุษย์โดยมีเรื่องย่อว่า เมื่อครั้งอดีตกาลมีพระอรหันต์เถระผู้ทรงอิทธิฤทธานุภาพชื่อ “พระมาลัย” อาศัยอยู่หมู่บ้าน “กัมโพชคาม” ในเขตตัมพนัยยทวีป วันหนึ่งท่านมีเมตตาอยากโปรดสัตว์ยังนรกภูมิ จึงเหาะเหินด้วยอิทธิฤทธิ์ไปพบพระยายมราช ณ นรกภูมิ พระยายมราชถามท่านว่ามาจากไหน พระมาลัยตอบว่าตนมาจากชมพูทวีป มีความปรารถนาจะมาโปรดสัตว์นรก พระยายมราชทราบความดังนั้นจึงพาพระมาลัยไปท่องเมืองนรกทั้งแปด ซึ่งสัตว์นรกทั้งหลายได้รับความทุกข์เวทนานานัปการ สัตว์เหล่านี้มีเวรกรรมมาแต่อดีตชาติ แต่อาจโปรดให้พ้นกรรมวิบากได้บ้าง เว้นแต่จำพวกที่ต้องอนันตริยกรรมห้าประการ ที่ไม่สามารถโปรดได้ ต้องให้รอถึงกาลสมัยของพระศรีอริยเมตไตรยเสด็จมาโปรดเท่านั้น จากนั้นพระยายมราชได้ฝากบอกถึงสัตว์โลก ว่าให้เร่งทำบุญให้ทาน รักษาศีล ไม่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม กล่าวคำเท็จ ไม่ดื่มสุรา อย่าทำร้ายนักบวช ด่าตีพ่อแม่ ตัดทำลายต้นศรีมหาโพธิ์ ทำลายศาสนสถานเจดีย์ ทำร้ายภิกษุณีและกระทำให้พระพุทธบาทห้อเลือด ให้หมั่นเจริญภาวนา จะได้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นฟ้า และเข้าสู่นิพพานในที่สุด พระมาลัยรับคำแล้วจึงเหาะกลับสู่โลกมนุษย์ในเวลาต่อมา
 
เมื่อพระมาลัยมาถึงยังโลกมนุษย์แล้ว รุ่งเช้าได้ไปบิณฑบาต ชาวบ้านทั้งหลายเมื่อเห็นพระมาลัยมาบิณฑบาต ต่างป่าวร้องกันมาทำบุญเป็นจำนวนมาก พระมาลัยเถระก็ถือโอกาสบอกข่าวว่าตนไปท่องเมืองนรกมา ได้มีโอกาสไปเห็นความทุกข์ทรมานต่างๆ ของสัตว์นรก ซึ่งสัตว์เหล่านั้นได้ฝากมาบอกญาติในโลกให้หมั่นทำบุญอุทิศไปหา เพื่อสัตว์นรกนั้นๆ จะได้พ้นทุกข์เวทนา จนกว่าจะได้ไปเกิดเมืองสวรรค์ เมื่อบอกข่าวเสร็จพระเถระก็กลับสู่อาวาสแห่งตน ฝ่ายชาวบ้านเมื่อทราบดังนั้นก็พากันตักบาตรทำบุญ รักษาศีลเจริญภาวนา พร้อมอุทิศส่วนกุศลผลทานไปให้สัตว์นรกทุกวันมิได้ขาด ด้วยมุ่งหวังให้สัตว์เหล่านั้นพ้นจากอบายโดยเร็ว
ด้วยเนื้อหาอันเกิดจากการสร้างภาพอันน่าสะพรึงกลัวของนรกภูมิ กอรปกับความห่วงใยในญาติมิตร ชาวล้านนาจึงนิยมทำบุญให้ทานสร้างกุศล พร้อมนิมนต์พระเทศน์ธรรมคัมภีร์ “มาลัยโผด” โดยมุ่งประโยชน์โปรดญาติผู้วายชนม์ให้พ้นความทุกข์ทรมาน พร้อมนิยมจดจารถวายวัดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมา
*ขอขอบพระคุณเจ้าของข้อมูลแล้วก่อฮูปภาพโตยครับผม*
โฆษณา