14 ก.ย. 2019 เวลา 07:26 • ความคิดเห็น
รู้จักเพื่อนของเรามากขึ้นผ่านการ์ตูนสามหมีจอมป่วน We Bare Bears
https://images.app.goo.gl/bp1vmfyLxLJi8tuU6
หากใครเคยดูการ์ตูนเรื่อง We Bare Bears เจ้าหมีสามตัวจอมป่วน คงจะหลงรักความน่ารักของพวกเขาอย่างแน่นอน We Bare Bears เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นของประเทศสหรัฐอเมริกา ออกอากาศทางช่องการ์ตูนเน็ตเวิร์ค มีตัวละครหลักคือ เจ้าหมี 3 ตัว ได้แก่ กริซลี่หมีสีน้ำตาล (Grizzly Bear) ที่พบเจอตามป่าทั่วไป, แพนแพนหมีแพนด้า (Panda Bear) และไอซ์แบร์หมีขั้วโลกสีขาว (Ice bear) ทั้งสามเป็นพี่น้องกัน ความแปลกก็คือทั้งสามเป็นหมีคนละสายพันธ์กัน เจ้าหมีสามตัวนั้นก็จะมีคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นเฉพาะของตัวเอง โดยในแต่ละตอนจะมีเรื่องราวให้หมีทั้งสามตัวฝ่าฝันเหตุการณ์ต่างๆ ไปด้วยกัน
.
เนื้อหาในวันนี้ต้องขอขอบคุณคุณโจ้ จากรายการ The ORGANICE podcast ที่ได้แบ่งปันไอเดียการจับเอาคาแรคเตอร์ของหมีทั้งสามตัวมาผนวกเข้ากับหนังสือเรื่อง เจาะจุดแข็ง 2.0 หรือ Strengths Finder 2.0 ของ Tom Rath (ทอม แรธ) โดยหยิบยกจุดแข็งของเจ้าหมีทั้งสาม match กับความคิดของหนังสือ Strengths Finder 2.0 ที่ว่าให้เรามองหาจุดแข็งของตัวเอง แล้วทำให้จุดแข็งนั้นดียิ่งๆ ขึ้นไป อาจจะเป็นสิ่งง่ายกว่าการตามแก้ไขจุดอ่อน ในหนังสือ Strengths Finder 2.0 จะพูดถึงคาแรคเตอร์กว่า 34 รูปแบบ ใครจะที่สนใจอ่านเพิ่มเติม ลองหาหนังสือและทำแบบฝึกหัดภายในเล่มเพิ่มเติมกันได้ค่ะ ที่นี้เรามาดูคาแรคเตอร์ 3 อย่างของเจ้าหมีที่ match กับเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง แล้วเราจะสามารถนำไปปรับใช้กับความสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนที่เรียนหรือเพื่อนร่วมงานได้อย่างไรบ้าง
1
.
คาแรคเตอร์ที่ 1 : กริซลี่หมีสีน้ำตาล Grizzly Bear
2
ในเรื่องกริซลี่จะเป็นคนร่าเริงแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา ไม่ชอบอยู่กับบ้าน และมักจะชอบชวนพี่ๆ ทั้งสองไปทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกันเสมอ เป็นหมีที่ร่าเริงสุดในบรรดาหมีทั้งสามตัว ซึ่งจะตรงกับ Character ในหนังสือคือ “ผู้มองโลกในแง่ดี (Positivity)” ซึ่งจะเป็นคนยิ้มง่าย และมองเห็นแง่ดีของสถานการณ์ต่างๆ อยู่เสมอ ใครๆ ก็อยากอยู่ใกล้กับผู้มองโลกในแง่ดี เพราะแม้แต่ในสถานการ์ณที่ตรึงเครียดมากแค่ไหน คนประเภทนี้ก็จะมีทางออกและมองอะไรในแง่บวกรวมถึงมีอารณ์ขันได้เสมอ เราควรปฎิบัติกับผู้มองโลกในแง่ดีได้อย่างไรบ้าง หรือถ้าตัวเราเป็นคนลักษณะแบบนี้ มีกิจกรรมอะไรบ้างที่เราควรทำ คนที่มีคาแรคเตอร์แบบ Positivity ควรจะหาบทบาทในฐานะผู้สอนหรือว่าเป็นนักขายให้กับองค์กร เพราะด้วยคาแรคเตอร์เป็นคนที่คิดในแง่บวกก็จะสามารถพูดหรืออธิบายประโยชน์ ส่งเสริมการขายในแง่บวกให้กับองค์กรได้ดี แต่ถ้าหากต้องออกไปขายของให้กับองค์กรข้างนอก คนประเภทนี้ก็จะมีความสามารถในการพูดโน้มน้าวให้ลูกค้าหรือผู้ฟังเห็นถึงประโยชน์ของสิ่งที่กำลังเสนอได้ดี เป็นคนที่สามารถสร้างแรงกระตุ้นได้ดี ไวต่อการซึบซับคาแรคเตอร์ของคนรอบตัว และสามารถนำมาเป็น motivation ในภายหลังได้อีกด้วย นอกจากนี้คนคาแรคเตอร์นี้ยังเหมาะกับการเป็นคนวางแผนกิจกรรมต่างๆ ให้กับกลุ่มเพื่อนที่กำลังเซ็งๆ หรือหากมีโอกาสให้ลองอาสาเป็นคนทำ Training หรือ Outing ให้กับองค์กร แล้วพวกเขาจะค้บพบว่าสามารถทำออกมากได้ดี แถมถ้าหากเห็นว่ามีคนอื่นสนุกกับกิจกรรมของพวกเขา ก็จะรู้สึกใจฟู ได้รับการเติมมากขึ้นไปอีก แต่มีข้อที่ควรระวังก็คือ ให้พยายามหลีกเลี่ยงคนที่มองโลกในแง่ร้าย เพราะด้วยทัศนคติที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง การอยู่ใกล้กันจะทำให้ผู้มองโลกแง่ดีต้องเหนื่อยที่จะอธิบายจนบางทีแบตหมด ห่อเหี่ยวลงได้ ดังนั้นหากจะต้องอยู่กับคนที่มองโลกแง่ร้าย ให้พยายามถ่ายทอดความคิดในแง่บวกของเราออกไป และไม่นำความคิดในเชิงลบของเขามาคิดให้สูญเสียกำลังใจจะดีกว่า ในแง่ของหัวหน้าหรือเจ้านายหากเรามีลูกน้องที่เป็นผู้มองโลกแง่ดี ควรเลือกงานที่ให้ผู้มองโลกแง่ดีได้ใช้พลังที่โดดเด่นนี้เป็นส่วนเสริมให้กับเพื่อนร่วมงาน แม้ในบางครั้งที่ผู้มองโลกแง่ดีอาจจะดูขำๆ ตลกๆ แต่ก็ไม่เสมอไป เขาอาจจะมีเรื่องกลุ้มใจอยู่ภายในก็เป็นได้ คนที่จะเข้าหาก็ควรจะดูบริบทให้ดีด้วยเช่นกัน
.
คาแรคเตอร์ที่ 2 : แพนแพน Panda bear
แพนแพนในการ์ตูนจะเป็นคนที่ติดมือถือ ติด Social มาก จริงๆ แล้วหมีทั้งสามเล่น Social เป็น Youtuber แต่แพนแพนจะเป็นคนที่แคร์เวลามีคนมาเม้น หรือเวลามีที่มีใครมากดไลค์ไม่มากพอ และเป็นคนที่แคร์คนรอบข้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละตอน รวมถึงเป็นคนที่ดราม่าง่ายกว่าคนอื่น ซึ่งจะมีความใกล้เคียงกับคาแรคเตอร์ “ผู้สร้างความสัมพันธ์ (Relator)” โดยคนประเภทนี้จะมีความเพลินเพลิดในการทำความรู้จักมักคุ้นกับผู้คนในระยะยาว มีความสบายใจ ที่จะคุยและชอบสานสัมพันธ์ ให้ความสัมพันธ์นั้นไม่ได้อยู่แบบฉาบฉวยแต่เป็นความเข้าใจในระดับความรู้สึกนึกคิด อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรที่คนนี้เขาจะไม่ชอบ ก็จะพยายามเลี่ยงเพื่อที่จะให้ความสัมพันธ์นั้นเดินหน้าไปในระยะยาว ดังนั้นคนประเภทนี้จึงเหมาะกับการถูกส่งให้ไปดูแลคนอื่น หรือดูแลใครเป็นพิเศษแบบที่ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบสั้นๆ เขาจะสามารถทำงานได้ดีในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมมิตรภาพ เขาจะมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้จากผู้คนที่ต้องร่วมงานด้วย และส่วนใหญ่จะเป็นตัวเร่งให้สัมพันธภาพในคนกลุ่มนั้นแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น มีความเอื้อเฟื้อ เหมาะกับการเป็นพี่เลี้ยง อย่างการดูแล intern หรือพนักงานใหม่ คนประเภทนี้ก็จะสามารถเข้าถึง ดูแลผู้อื่นได้ดี คนแบบ Relator นั้นแม้ว่าจะงานยุ่งแค่ไหนก็สามารถแบ่งเวลาบาลานซ์ให้กับคนที่เขาให้ความสำคัญในชีวิตได้เป็นอย่างดี ซึ่งคนใกล้ตัวก็จะเป็นเหมือนเชื้อเพลิงหรือแหล่งกำลังใจของ Relator ดังนั้น คนประเภทจึงต้องหาเวลาอยู่กับครอบครัว เพื่อใช้เวลาร่วมกันและเป็นการเพิ่มพลังใจให้กับคนประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี กับเพื่อนร่วมงาน Relator ก็ควรให้เวลามีกิจกรรมร่วมกันนอกเวลางาน เพื่อจะทำให้การทำงานเป็นทีมดีมากขึ้น เมื่อเราต้องร่วมงานกับ Relator เราควรบอกพวกเขาตรงๆ เวลาที่เรารู้สึกอะไร เพราะว่าพวกเขาเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์มากๆ ดังนั้นถ้ามีเรื่องสบายใจ ควรเปิดอกคุยกัน เพื่อให้ความสัมพันธ์สามารถดำเนินต่อไปได้ นอกจากนั้นถ้าเราสนิทกับเป็นคนแบบ Relator พวกเขาจะเป็นคนที่สามารถไว้วางใจได้และรักษาข้อมูลความลับของผู้อื่น รวมถึงสามารถเปิดเผยมุมมองของผู้อื่นได้อีกด้วย
.
คาแรคเตอร์ที่ 3 : หมีขั้วโลก Ice bear
หมีขาวจะเป็นคนหน้าตาย ประชดประชัน มีโลกส่วนตัว ชอบทำกับข้าว ชอบทำงานบ้าน ดูเป็นคนเงียบๆ ที่ขี้ประชด ซึ่งจะตรงกับ “ผู้มีความเชื่อมั่น (Self- Assurance)” เป็นคนที่มั่นใจและรู้ในความสามารถของตัวเอง สิ่งที่ต่างจาก Self-Confidence ก็คือความมั่นใจในการตัดสินใจของตัวเอง เห็นข้อดีของตัวเอง เด็ดขาด ตัดสินใจอย่างไรก็จะทำแบบนั้น ทนต่อแรงกดดันต่างๆ ได้ดี วางเป้าหมายอะไรแล้วก็จะพยายามไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้ สำหรับการปฏิบัติตัวของคนประเภท Self- Assurance ให้ลองมองหาสถานการณ์ว่ามีเรื่องไหนที่อยู่ในการควบคุมอยู่แล้วและยังไม่มีใครตัดสินใจต่อได้เสียที ผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็น Leader เสียเอง นำเอาจุดแข็งมาช่วยตัดสินใจในเรื่องยังค้างคาอยู่ คนที่เป็น Self- Assurance นั้นควรทำงานร่วมกันคนอีก 2 คาแรคเตอร์ได้แก่ นักบัญชาการ (Command) และนักริเริ่ม (Activator) เพื่อให้มีคนตัดสินใจ และงานสามารถดำเนินต่อไป แต่ในฐานะที่เป็นคนสามารถตัดสินใจอะไรเด็ดขาด ก็ยังควรรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยโดยมองหาคนประเภทนักกลยุทธ์ (Strategic) เพื่อมาช่วยมองข้อดีข้อเสีย ช่วยให้ตัดสินใจได้รอบด้านมากขึ้น ยิ่งถ้าได้พูดคุยกับนักมองไกล (Futuristic) จะยิ่งทำให้การตัดสินใจนั้นเฉียบคมมากขึ้น นอกจากนี้คนแบบ Self- Assurance จะชอบตั้งเป้าหมายที่มีความท้าทายสูง ต้องเป็นเป้าหมายที่ไม่ใช่สิ่งที่รู้อยู่ว่าแล้วทำมันได้ดี ไม่อย่างนั้นเมื่อทำไปถึงจุดนึงก็จะรู้ว่ามันไม่ท้าทายอีกต่อไป ต้องหาเป้าหมายที่ท้าทายอยู่เรื่อยๆ ถ้าเจอคนประเภท Self- Assurance เราควรให้อิสระกับเขา ให้อิสระในการตัดสินใจ แต่ก็ต้องคอยให้ข้อมูลที่มากพอเพื่อให้การตัดสินใจนั้นเป็นไปได้อย่างถูกต้อง พยายามหาเรื่องที่ตัดสินใจแล้วมีผลลัพธ์ที่วัดผลได้จริง แต่ถ้าเกิดการตัดสินใจนั้นผิดพลาด เราต้องรีบให้ feedback เขา ไม่งั้นคนประเภทนี้จะคิดว่าการตัดสินใจของเขานั้นถูกต้อง บอกเขาอย่างไปตรงมา ว่าข้อเสียหรือสิ่งที่ปรับปรุงคืออะไร อย่าปล่อยให้เขาคิดไปเอง
ในหนังสือ Strengths Finder 2.0 บอกเพิ่มเติมอีกว่า ความจริงแล้วคนเราสามารถมีคาแรคเตอร์หลายอย่างในคนๆ เดียวกันได้ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกวันขึ้นอยู่กับเหตุการณ์แต่ละอย่างที่เข้ามาในชีวิตของเรา แต่เหนือสิ่งอื่นใด อย่าลืมที่จะดึงจุดแข็งของตัวเองออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นแหละคือสิ่งสำคัญ
se-ed.com
โฆษณา