19 ก.ย. 2019 เวลา 08:27 • ประวัติศาสตร์
อนุสาวรีย์​วีรชน​ค่่ายบางระจัน​ มีใครเป็นวีรบุรุษ​บ้าง?
พงศาวดารระบุไว้ว่า
พระเจ้ามังระทรงโปรดให้เตรียมการกองทัพไว้ทั้งสิ้นปี ๒๗ กอง​ (ประกอบด้วยทัพช้าง ๑,๐๐๐ ทัพม้า ๑, ๐๐๐ และคนเดินเท้า ๒๐,๐๐๐)​ โดยมีเนเมียวสีหดีเป็นแม่ทัพ​ ทั้งหมดออกจากเมืองอังวะในเดือนมีนาคม พ.ศ.​ ๒๓๐๗​ โดยมีเป้าหมายที่จะปราบกบฏในล้านนา​ เข้าตีล้านช้างและขยายลงมาตีกรุงศรีอยุธยา​ ภายหลังเนเมียวสีหบดีได้รวบรวมกำลังเพิ่มเติมจากกองกำลังต่างๆในรัฐฉานปราบกบฏในล้านนาและยึดครองล้านช้างได้แล้ว
ประมาณเดือน ๗ พ. ศ. ๒๓๐๘ ในรัชสมัยพระบรมราชาที่ ๓ หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์​ พระเจ้ามังระเห็นว่าไทยอ่อนแอคงไม่มีกำลังจะตัานพม่าได้เป็นโอกาสดี ที่จะเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา​ จึงโปรดให้มังมหานรธาซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ยกเข้ามาปราบเมืองทวายยกกำลังเข้าตีไทยจากด้านตะวันตกอีกทางหนึ่ง
เดือน ๓ ปีระกาพุทธศักราช ๒๓๐๘ พม่าได้เข้ามาตั้งอยู่ในเขตชานกรุงศรีอยุธยาแล้ว​ ได้ส่งกองทหารลาดตะเวนคอยจับชาวบ้าน​ ริบทรัพย์สินและอาหารแถบเมืองวิเศษชัยชาญ​ เมื่อชาวไทยถูกข่มเหงหนักเข้าก็รวบรวมกำลัง คิดต่อสู้พม่า ได้ฆ่ากันทหารกองหนึ่ง แล้วพากันหลบหนีไปซ่องสุม​ผู้คน​ ตั้งเป็นค่ายอยู่ที่บ้านบางระจัน​ พม่าได้ส่งกองทัพมาโจมตีค่ายบางระจันถึง ๘ ครั้ง​
คนไทยในค่ายบางระจันมีกำลังใจดี​ เพราะได้พระอาจารย์ธรรมโชติ​ จากวัดเขานางบวช​ ซึ่งมาอยู่​ ณ​ วัดโพธิ์เก้าต้น​ เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาคมบำรุงขวัญ​ การสู้รบเริ่มตั้งแต่เดือน ๔ ปีระกา ๒๓๐๘​ จนถึงเดือน ๘ ปีจอ ๒๓๐๙​ ช่วงเวลา ๕​ เดือน​ แม้ว่าไทยจะเสียเปรียบด้านอาวุธและกำลังคน​ แต่ก็สามารถมีชัยชนะต่อกองทัพพม่าถึง ๗ ครั้ง​ ฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายจำนวนนับพัน​ ในที่สุดค่ายบางระจันก็ต้องเสียแก่พม่า เมื่อวันจันทร์เดือน ๘ แรม ๒ ค่ำปีจอ​ พุทธศักราช ๒๓๐๙
แม้ว่าค่ายบางระจันจะต้องพ่ายแพ้แก่พม่า​ แต่วีรกรรมครั้งนั้นได้รับการจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์และจิตใจของประชาชนชาวไทยตลอดมา​ นามของวีรชนและค่ายบางระจันมักได้รับการยกย่องอยู่เสมอว่า​ เป็นตัวอย่างที่ดีแห่งความกล้าหาญ​ ความสมัครสมานสามัคคี​ และความเสียสละ​ แม้กระทั่งชีวิตเลือดเนื้อเพื่อประเทศอันเป็นที่รัก
จังหวัดสิงห์บุรีพร้อมด้วย ประชาชนชาวไทยพร้อมใจกัน สร้างอนุสาวรีย์และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชได้เสด็จประกอบพิธีเปิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๙
รายนามวีรบุรุษในอนุสาวรีย์ทั้ง ๑๑ คน มีดังนี้
๑. นายแท่น ชาวบ้านศรีบัวทอง แขวงเมืองสิงห์บุรี
๒. นายอิน ชาวบ้านศรีบัวทอง แขวงเมืองสิงห์บุรี
๓. นายเมือง ชาวบ้านศรีบัวทอง แขวงเมืองสิงห์บุรี
๔. นายโชติ ชาวบ้านศรีบัวทอง แขวงเมืองสิงห์บุรี
๕. นายดอก ชาวบ้านสี่ร้อย แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ
๖. นายทองแก้ว ชาวบ้านสี่ร้อย แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ
๗. ขุนสรรค์สรรพกิจ(ทนง) กรมการเมืองสรรคบุรี
๘. นายพันเรือง กำนันตำบลบางระจัน
๙. นายทองแสงใหญ่ ผู้ช่วยกำนัน ตำบลบางระจัน
๑๐. นายจันเขียว หรือจันหนวดเขี้ยว นายบ้านโพธิ์ทะเล
๑๑. นายทองเหม็น ผู้ใหญ่บ้านกลับ
โฆษณา