22 ก.ย. 2019 เวลา 12:30
แชร์ความรู้  "Trade War to Tech War and Financial War" (ตอนที่ 3 - บทสรุป)
ระหว่างจีน กับ สหรัฐอเมริกา..
หากคุณต้องเลือก คุณจะเลือกฝั่งไหน...?
เอริก ชมิดต์ อดีต CEO ของ Google ทำนายเอาไว้เมื่อปลายปีที่แล้วว่า อินเตอร์เนตในทศวรรษหน้า จะถูกแบ่งเป็นสองค่าย คือ ค่ายจีน กับค่ายที่ไม่เอาจีนนำโดยสหรัฐฯ หรือเรียกว่า  "Two Internets" โดยทางเอริก ยังชี้ให้เห็นว่า ด้วยนโยบาย Belt and Road ของจีน จะทำให้ทั้ง 60 กว่าประเทศ ที่อยู่ในเป้าหมายของจีน "ต้องเลือก" ใช้โครงสร้างต่างๆ ที่จีนหยิบยื่นให้ใช้ (แบบที่ไม่ค่อยมีอิสระในการเลือก)
ที่มารูปและข่าว Google จาก Business Insider และ CNBC
ทั้งนี้ทาง Google เองก็กำลังพิจารณาออก Search Engine ในรูปแบบที่มีการเซ็นเซอร์ เพื่อให้บริการในจีน แต่ทาง ซุนดา พิชัย CEO Google ในปัจจุบัน ยังกล่าวว่าบริษัทยังไม่ใกล้เคียงที่จะออกผลิตภัณฑ์สำหรับจีน
ซึ่งประเด็น Two Internets นี้มีความเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับสงครามการค้า จีน-สหรัฐฯ โดยอาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดร ให้ชื่อว่า "โลกทวิภพ" และบรรยายสรุปเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ...
- สงครามการเงิน จะกลายเป็น Plaza Accord 2.0?
จีนจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์แบบญี่ปุ่น ที่ถูกทางสหรัฐฯเล่นงาน โดยครั้งนั้นญี่ปุ่นไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีทหาร และเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ไม่ได้เชื่อมกับสหรัฐฯ อีกทั้งระบบการเงินที่ของญี่ปุ่นเปิดกว่าจีนมาก ผิดกับจีนที่มีระบบการเงินที่เป็นเหมือนกล่องดำ ที่ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง (ยกเว้นพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่รู้ ฮ่าๆ)
- Financial War อาจไม่ใช่เรื่องค่าเงิน แต่เป็นสกุลเงิน!
กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทางจีนพยายามผลักดันให้ "หยวน" เป็นเงินสกุลหลักของโลก พยายามเอาเข้าตระกร้าเงินของโลก อย่างไรก็ตามจีนเองดันถือพันธบัตรสหรัฐฯมหาศาล ทำให้ดอลล่าร์สหรัฐฯ ก็พังไม่ได้เหมือนกัน
แต่เร็วๆนี้ พี่มาร์คแห่งเฟสบุ๊ก ประกาศจะออกสกุลเงินดิจิตอล "Libra" ออกมาให้คนในประเทศเฟสบุ๊กเกิน 2 พันล้านคนใช้กัน นับเป็นสองเท่าของประชากรจีน ซึ่งจีนก็ยอมไม่ได้ จีนมีความพยายามที่จะออก "หยวนดิจิตอล" มาแข่ง คำถามในวงนโยบายจีนคือ Libra จะกระทบยังไงต่อเศรษฐกิจจีน เพราะอย่างที่เราทราบกันว่าในจีนก็แบนเฟสบุ๊ก อย่างนี้หาก Libra แจ้งเกิดได้จริงจะเป็นการทำให้ระบบการเงินที่อิงดอลล่าร์สหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้นอีกหรือไหม??
2
- บทเรียนจากสิ่งมีชีวิตที่ไม่ปรับตัว
1
บางท่านอาจรู้จัก "The Meg" ซึ่งเป็นฉลามยักษ์ในยุคไดโนเสาร์ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยมีทฤษฎีที่อธิบายการสูญพันธุ์ของ The Meg อยู่ 2 ทฤษฎี คือ
หนึ่ง มีปลาวาฬยักษ์มาจัดการ!!
ซึ่งปัจจุบันได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง!
และสอง เกิดเพราะอดตาย
โดยฉลาม The Meg นั้นอาศัยในน้ำอุ่น และกินปลาวาฬที่ตัวเล็กกว่าเป็นอาหาร แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม ทำให้ปลาวาฬต้องอพยพไปอยู่บริเวณน้ำเย็น ผลกระทบก็เลยตกมาที่ The Meg เลยหาของกินไม่ได้ แลัวตัวมันเองก็ยังย้ายไปอยู่ในบริเวณน้ำเย็นไม่ได้ด้วย
จึงเป็นทฤษฎีที่บอกว่า The Meg สูญพันธุ์เพราะไม่รู้จักปรับตัว
ปัจจุบัน การค้า-มหาสมุทรโลกก็มีเปลี่ยนแปลงไป ทั้งความผันผวน และการเปลี่ยนแปลงของ Trade lanes ที่จะปรับตามโลกสองแกน แกนหนึ่งคือ มหาอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ นำโดย ทรัมป์ ส่วนอีกแกนหนึ่งคือ ผู้ท้าชิงอย่างมังกรจีน นำโดย สีจิ้นผิง
สถานการณ์ สหรัฐ-จีน ปัจจุบันเหมือน "ผัว-เมีย" ที่ยื่นฟ้องร้อง "หย่า" กันแล้ว เข้าหน้ากันไม่ติด จะทำให้กลับมาคบกัน มา "รักกัน" เหมือนเดิมคงยาก ส่วนไทยเราเป็นจุดเล็กๆในเกมนี้ แต่ดันมาตั้งอยู่ใน "จุดยุทธศาสตร์" ของศึกครั้งนี้ ก็ต้องพยายาม ปรับตัวให้ทัน เชื่อมโลกให้ได้ทั้งสองแกน
1
อย่าปล่อยให้ตัวเองเป็น The Meg ที่ไม่ปรับตัว และอดตายจนสิ้นเผ่าพันธุ์...
-จบการบรรยาย-
พิเศษ! ถาม-ตอบ สงครามการค้า
1) อาจารย์อาร์มคิดว่าสงครามการค้านี้จะจบยังไง?
- ทุกครั้งที่มหาอำนาจใหม่มาท้าทาย ส่วนใหญ่จะมีสงครามเกิดขึ้น ครั้งนี้หลีกเลี่ยงได้ไหมยังไม่รู้ แต่อาจารย์คิดว่ามีโอกาสที่จะเกิดสมดุลใหม่ เพราะจีนเองยังตามหลังสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยีอื่นๆ อีกมาก คงยังต้องพึ่งพากัน
1
2) สหรัฐฯ เน้นนโยบายระยะสั้น เน้นประชานิยม จะยั่งยืนสู้จีนได้อย่างไร ?
- เห็นด้วยกับข้อสังเกต แต่การปกครองพรรคเดียวแบบจีน ก็อาจมีอะไรซ่อนอยู่ในภูเขาน้ำแข็ง ยังไม่รู้ว่าอนาคตจีนจะเป็นอย่างไร
3) ไทยเราจะฉวยโอกาสจากสงครามการค้าอย่างไรดี?
- ต้องย้อนถามว่า จีนเป็นข้อคิดอะไรได้บ้างให้ประเทศกำลังพัฒนา? อาจารย์เห็นว่า ข้อคิดที่ได้คือ ไม่มี one-size-fit-all-answer คือ แต่ละประเทศต้องหาสูตรของตัวเอง สิ่งสำคัญคือควรถามว่า เราจะเอาธุรกิจหรือประเทศเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซของโลก (ที่กำลังเปลี่ยนใหม่) ได้ยังไง ถ้าโลกแยกเป็นสองห่วงโซ่ หรือ หลายห่วง เราจะทำอย่างไรดี ต้องวิเคราะห์ ลงรายละเอียด
4) จีนเชื่อมโยงกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไง? รถไฟ (ความเร็วสูง) ที่เชื่อมลงมา จะส่งผลอย่างไร?
- ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ที่จีนทำได้สำเร็จไปแล้ว ก็คือ ลาว ตกลงที่จะใช้รถไฟจากจีนแล้ว ส่งผลให้ไทยก็ต้องใช้เทคโนโลยีจีนอย่างแน่นอน (เลือกไม่ได้แล้ว โดยทางวิศวกรรม หากใช้หลายเทคโนโลยีปนกัน จะวุ่นน่าดู) รวมไปถึงประเทศอื่นๆก็ต้องตาม รถไฟก็เป็นแพลตฟอร์มอย่างหนึ่ง พอสร้างไปเส้นหนึ่ง ก็ควรจะใช้เทคโนโลยีเดิม สำหรับเส้นทางสายใหม่นี้ จะส่งผลสำคัญในแง่ส่งออกสินค้า และส่งออกคน ส่งผลกระทบที่ชัดเจนกว่าสงครามเย็น เพราะไทยเราอยู่ในภูมิภาคนี้
1
5) ห่วงโซ่แยก 2 อัน หากมองเป็น 3 มิติ คือ ที่ตั้งของประเทศ ธุรกิจ แพลตฟอร์ม และเราจะวางแผนอย่างไร?
2
- ไทย ทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้ประโยชน์ ไทยได้เปรียบและค่อนข้างเนื้อหอม เช่น Alibaba ต้องการมาใช้ไทยเป็นฐานสำคัญ แนวคิดเรื่องการทำให้เกิดความสมดุล ต้องดูที่รายละเอียด เช่น เราเจรจาหลายๆ ฝ่าย พร้อมกันรึเปล่า ควรเจรจากับใครบ้าง
- ข้อที่น่ากังวลคือ เวลาจีน Alibaba เค้ามาประชุม เค้าเอามาคนเดียว (หนุ่มมาก) เจรจาในนาม Alibaba เทียบกับฝั่งไทยต้องมี 10 คน แถมตัดสินใจเลยไม่ได้ ต้องไปคุยกันเองอีก ทางจีนเค้าก็งงๆ
- เวลาคนจีนต่อรอง เค้าคิดเรื่องอำนาจต่อรองตลอดเวลา เช่น พอได้ดีลจากลาวแล้ว ก็เลยเลิกจีบไทย
- ธุรกิจ พอพูดถึง Free Trade ทำให้ Pie ใหญ่ขึ้น พอมีเงื่อนไขมากขึ้นจากสงครามการค้า ทำให้ส่วนแบ่งเล็กลง ก็ต้องลงรายละเอียด
- ไทย แทบจะไม่มีโอกาสที่จะส่งออกแพลตฟอร์มไปแข่งกับชาวโลก แต่ข้อดีคือ ทั้งสองฝ่ายต้องการไทย เราก็ต้องคิดให้ถึงในมุมยุทธศาสตร์ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการแข่งกันครั้งนี้
6) สงครามการค้า เค้าทะเลาะกัน ในระยะสั้นดูเหมือนอาเซียนจะได้ประโยชน์ และดูเหมือนเวียดนามจะได้ประโยชน์มากกว่าไทย แต่ประวัติศาสตร์จีนไม่ค่อยถูกกับเวียดนาม จะคิดได้อย่างไร?
- อย่างที่เล่าคือ สถานการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนยุคพลาซ่าแอคคอร์ด ตอนนั้นพอญี่ปุ่นมองมาทางอาเซียน ก็มีแค่ไทย ที่ดูน่าลงทุน พอมายุคนี้ ไทยไม่ได้เปรียบเรื่องค่าแรง แถมประเทศเพื่อนบ้าน ก็เปิดประเทศและพัฒนาขึ้นมาเป็นคู่แข่ง แต่ไทยก็ยังได้เปรียบบางอย่าง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ส่วนเวียดนามมีความพร้อมที่ดีและยังมีสิทธิประโยชน์ทางการค้า GSP กับสหภาพยุโรป เวียดนามเลยได้เปรียบกว่าเราตอนนี้
7) ไทยควรคิดกับสหรัฐอเมริกายังไง วางตัวยังไง?
- ต้องบอกว่า มิติความมั่นคง ทางทหาร ไทยใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มากไป มีสนธิสัญญากับสหรัฐฯ ซึ่งความกังวลของจีนก็ประเด็นนี้แหล่ะ โดยก่อนหน้านี้มีข่าว จีนทำสนธิสัญญากับกัมพูชาใช้ สีหนุวิลล์ เป็นฐานทัพ หากเกิดสงครามจริงๆ
- ส่วนด้านเศรษฐกิจทาง ทรัมป์ ไม่ค่อยมีนโยบายที่ชัดเจนในการมาอินโด-แปซิฟิก ไม่เหมือนจีน แต่อย่างที่บอกว่าไทยก็เนื้อหอมใช่ย่อย โดยตามกระแสข่าว มีความเป็นไปได้ที่ทั้ง ทรัมป์ และ สีจิ้นผิง จะมาประชุมที่ไทย (ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน)
ก็ขอจบการแชร์ไว้เพียงเท่านี้
.
.
.
.
ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันนะครับ 🙆
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
ติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า" ได้หลายช่องทาง
✌️Blockdit (อ่านสนุกกว่า): https://www.blockdit.com/pages/5cf403f48a04c80fff7950bb
👌Line openchat (พูดคุยแลกเปลี่ยน ระหว่างผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก): https://line.me/ti/g2/hxcbVyO45-1yxNkh-vKf1g

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา