23 ก.ย. 2019 เวลา 12:16 • ประวัติศาสตร์
วิวัฒนาการสุดทึ่ง
จาก'หมาป่าดุร้าย'กลายเป็น'หมาบ้านแสนเชื่อง'ได้อย่างไร
+ ในอดีตมนุษย์ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติมากมายและสัตว์ป่าที่ดุร้าย แต่ธรรมชาติกลับปูหนทางอันแปลกใหม่ระหว่างมนุษย์กับสัตว์นักล่าคู่อาฆาตอย่างหมาป่าได้อย่างน่าอัศจรรย์
.
+ เดิมทีหมาป่าเป็นสัตว์นักล่าอันดับต้นๆ ของห่วงโซ่อาหารในยุโรปและเอเชีย พวกมันอาศัยกันเป็นฝูง ความเป็นสัตว์สังคมนี้เองช่วยให้หมาป่าปรับตัวกับมนุษย์ได้
.
+ การสูญพันธุ์ของสัตว์ใหญ่อย่างแมมมอธ อาจมีผลมาจากมนุษย์และสุนัขที่ออกล่าด้วยกัน ทำให้จำนวนประชากรแมมมอธลดลงอย่างรวดเร็ว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในสัตว์ที่เราคุ้นเคยดีคงไม่พ้น 'สุนัข' เพื่อนสี่ขาซึ่งมนุษย์ยกว่าเป็นสัตว์เลี้ยงผู้ซื่อสัตย์ ทว่าเมื่อย้อนกลับไปหลายหมื่นปีก่อน ทั้งรูปร่างหน้าตาและความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสุนัขกลับต่างออกไปสิ้นเชิง
1
มนุษย์ในยุคหินเมื่อหลายหมื่นปีก่อนต้องอาศัยท่ามกลางสภาพอากาศอันทรหด ทั้งสัตว์ป่าดุร้ายและภัยธรรมชาติที่ไม่รู้จะแผลงฤทธิ์เมื่อใด แต่ละแห่งที่มนุษย์อพยพไปมักจะพบกับสัตว์นักล่าคู่แข่งที่น่าสะพรึงกลัว มนุษย์ในทวีปเอเชียและยุโรปต้องเจอกับสัตว์นักล่าผู้อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารสายพันธุ์หนึ่ง เขี้ยวคมของสัตว์ชนิดนี้ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้พวกมันน่าสะพรึงกลัว แต่พวกมันยังอยู่กันเป็นฝูง มีสังคมค่อนข้างเป็นระบบ เจ้าสัตว์ชนิดนี้คือ 'หมาป่า'
ในยามออกล่า แม้จะมีขนาดเล็กกว่าเหยื่อ ประสาทรับกลิ่นของหมาป่าช่วยให้มันได้กลิ่นเหยื่อภายในรัศมี 1 ไมล์ได้อย่างง่ายดาย พวกหมาป่ายังมีกลยุทธ์อันชาญฉลาดเมื่อทำงานเป็นทีม หมาป่าตัวหนึ่งจะเผชิญหน้ากับเหยื่อ คอยแยกเขี้ยวขู่และเห่าเพื่อตรึงให้เหยื่ออยู่กับที่ เหยื่อที่ไม่รู้ตัวจะยืนจังก้าขาสั่น ชูคอกู่ร้องหวังจะไล่สัตว์นักล่าไปให้ไกล ในขณะที่หมาป่าตัวอื่นๆ จะค่อยตีวงล้อมเหยื่อจากรอบทิศ แล้วจู่โจมเมื่อได้จังหวะ จากนั้นงานเลี้ยงของหมาป่าก็เริ่มขึ้น
เมื่อมนุษย์มาตั้งหลักแหล่งไม่ไกลจากอาณาเขตของฝูงหมาป่า การแข่งขันระหว่างสองสายพันธุ์จึงเริ่มต้นขึ้น มนุษย์ที่เดินถลำเข้าไปในเขตแดนของสัตว์นักล่าสี่ขามักถูกโจมตี นายพรานที่ฉายเดี่ยวล่าเหยื่อมักถูกฝูงหมาป่าเข้าโจมตีเพื่อแย่งเหยื่อ เสียงเห่าหอนที่ดังก้องไปทั่วป่าในยามค่ำคืนทำให้มนุษย์ไม่กล้าออกไปนอกถ้ำหรือค่ายพักแรม ความสัมพันธ์ระหว่างสองสายพันธุ์นักล่าเป็นไปอย่างเชื่องช้า ต่างฝ่ายต่างสังเกตการณ์กัน หมาป่าอาจเริ่มกินซากสัตว์ที่มนุษย์ทิ้งในป่า
จุดเริ่มต้นของสุนัขเลี้ยงมาจากหมาป่าขี้สงสัยที่เข้ามาใกล้ถิ่นฐานมนุษย์เพื่อหาเศษอาหารเหลือ นานวันเข้าพวกมันก็เริ่มคุ้นชิ้นกับมนุษย์ขึ้นเรื่อยๆ จนกล้าเข้ามาใกล้มากขึ้น หมาป่าที่ไม่ก้าวร้าวเหล่านี้สามารถคลุกคลีกับมนุษย์และได้อาหารตอบแทน นานวันเข้าพวกมันก็ยิ่งมาอีก ในขณะที่หมาป่าดุร้ายที่ต้องออกล่าจึงประสบความสำเร็จน้อยกว่า อัตราการขยายพันธุ์อาจน้อยกว่าหมาที่เชื่อง
ฟอสซิลสุนัขเลี้ยงเก่าแก่โบราณที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมีอายุราว 14,000 ปีจากหลุมฝังศพยุคหินที่เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี ยังมีซากฟอสซิลจากแหล่งอื่นๆ ที่เก่ากว่ามาก แม้ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นหมาบ้านหรือหมาป่ากันแน่ คาดว่ามนุษย์เริ่มนำหมาป่ามาเลี้ยงตั้งแต่ 40,000-20,000 ปีก่อน
การคัดเลือกทางธรรมชาติเข้ามามีบทบาทจากจุดนี้ โอกาสรอดของหมาป่าที่เชื่องพุ่งสูงขึ้นไปอีกเมื่อมีอาหารจากมนุษย์มาเสริม พอหมาป่าเชื่องเหล่านี้ผสมพันธุ์กัน โอกาสผลิตลูกหลานที่มีนิสัยเชื่องและไม่ก้าวร้าวก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อผ่านไปหลายรุ่นหมาป่าเหล่านี้เริ่มอาศัยรอบชุมชนมนุษย์
ในยามที่มนุษย์ออกล่า หมาป่าเชื่องเหล่านี้มักติดตามไปด้วย จากความสัมพันธ์แบบคู่แข่งกลายมาเป็นการพึ่งพาอาศัยกัน หมาป่าเหล่านี้มักช่วยดมสะกดรอยตามสัตว์อื่นๆ แล้วพามนุษย์ไปหาเหยื่อ พวกมันยังช่วยเตือนภัยหรือป้องกันนักล่าอื่นๆ ที่เข้ามาในอาณาเขตของมนุษย์ด้วย
ในที่สุดพวกมันก็เข้ามาอาศัยร่วมชายคาเดียวกับมนุษย์ หมาป่าเริ่มกลายมาเป็นหมาเลี้ยง มนุษย์ยังคัดหมาเลือกหมาที่มีนิสัยเชื่องให้สืบทอดทายาทต่อไปด้วย
เมื่อลองมองดูวิถีชีวิตของมนุษย์กับหมาป่าแล้วจะพบความคล้ายคลึงกัน มนุษย์อยู่กันเป็นสังคม เช่นเดียวกับฝูงหมาป่า นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทั้งสองสายพันธุ์ปรับตัวเข้ากันได้ดีและเติมเต็มซึ่งกันและกัน มนุษย์เข้ามาแทนที่หมาป่าหัวหน้าฝูง ในขณะที่มนุษย์ให้ที่พักพิงและคอยป้องกันเพื่อนใหม่สี่ขาให้ปลอดภัย ทั้งสองช่วยกันล่าสัตว์และแบ่งอาหารกันจนประชากรสองสายพันธุ์ขยายตัวแซงสัตว์อื่นๆ
.
นับตั้งแต่นั้นมาที่แห่งใดที่มนุษย์ไปถึง สุนัขย่อมตามไปด้วย
มีงานวิจัยตีพิมพ์ใน Quaternary International เสนอว่า สาเหตุที่มนุษย์ล่าแมมมอธได้จำนวนมากในเวลาอันสั้น เป็นเพราะความช่วยเหลือของเจ้าเพื่อนใหม่สี่ขานั่นเอง ในพื้นที่ล่าขนาดใหญ่ในยุโรปพบซากแมมมอธมากมาย สุนัขอาจช่วยตามรอยเจ้าช้างยักษ์แล้วคอยดักหน้าไม่ให้แมมมอธหนี ในขณะที่มนุษย์ตีวงล้อมเข้ามา ไม่ต่างกับวิธีการล่าของฝูงหมาป่า
เมื่อมนุษย์เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีไปเรื่อยๆ มีอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น สุนัขก็ได้รับการคัดสรรลักษณะที่เหมาะกับงานของมนุษย์ไปด้วย สุนัขสำหรับเลี้ยงปศุสัตว์ถูกคัดให้มีลักษณะปราดเปรียว คล่องแคล่ว สุนัขเฝ้ายามถูกออกแบบให้มีร่างกายแข็งแรง มีแรงกัดเยอะ และรูปร่างแข็งแกร่ง สุนัขสำหรับล่าสัตว์เล็กอย่างหนูหรือตัวแบดเจอร์ถูกคัดให้มีร่างกายสั้นยาวเหมาะสำหรับไต่ท่อหรืออุโมงค์เข้าไปล่าสัตว์เล็ก แม้แต่สุนัขที่เพาะพันธุ์เพื่อให้ดูน่ารักโดยเฉพาะก็มีหลากหลายชนิด แต่การคัดพันธุ์เหล่านี้เป็นต้นตอปัญหาสุขภาพของสุนัขหลายชนิด ทั้งการหายใจไม่สะดวกของสุนัขที่มีใบหน้าแบน ปัญหากระดูกสันหลังของสุนัขรูปร่างยาว หรือแม้แต่อายุขัยที่อาจสั้นกว่าหมาป่า
ไม่น่าเชื่อว่าผลจากการคัดเลือกทางธรรมชาติและการคัดสายพันธุ์ด้วยฝีมือมนุษย์จะสร้างสายใยของสองสายพันธุ์คู่แข่งในอดีตให้กลายมาเป็นมิตรคู่ใจได้ จากนักล่าจอมขย้ำกลายมาเป็นสัตว์ซุกซนจอมขย้ำรองเท้าและเฟอร์นิเจอร์แทน
แม้อนาคตจะไม่แน่นอนและอาจเปลี่ยนไปทิศทางไหนก็ได้ ถึงอย่างนั้นธรรมชาติก็โคจรพามนุษย์กับสุนัขมาพบกันและอยู่เคียงข้างมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์มนุษย์ยังไม่ถือกำเนิด และอาจอยู่ร่วมกันไปอีกนานแสนนาน.
////////
โฆษณา