25 ก.ย. 2019 เวลา 13:12 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ในปัจจุบันนักดาราศาสตร์ค้นพบ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ แล้วกว่า 4,000 ดวง ความท้าทายต่อไป คือการเก็บข้อมูลให้ละเอียดมากพอที่จะสามารถยืนยันได้ว่าดาวเคราะห์นอกระบบเหล่านั้นมีดวงจันทร์บริวารอยู่หรือไม่
เมื่อไม่นานมานี้ นักดาราศาสตร์ได้พบร่องรอยการมีอยู่ของดวงจันทร์ที่โคจรรอบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP 49-b ซึ่งเป็นดาวเคราะห์แก๊ส ที่ห่างจากโลกเพียง 550 ปีแสง
ดวงจันทร์ดวงนี้ ถูกจัดอยู่ในประเภทซูเปอร์เอิร์ธร้อน (Hot super-Earth) เนื่องจากพื้นผิวส่วนใหญ่ปกคลุมไปด้วยลาวา และมีการปะทุของภูเขาไฟอย่างต่อเนื่องคล้ายดวงจันทร์ไอโอของดาวพฤหัสบดี(ดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ)
เนื่องจากดวงจันทร์มีขนาดเล็ก
การจะตรวจจับดวงจันทร์นอกระบบสุริยะโดยตรงนั้นถือว่าเป็นได้ยากมากนักดาราศาสตร์จึงต้องหาวิธีอื่นๆในการค้นหา
เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาค้นพบว่าแก๊สโซเดียมและโพแทสเซียมสามารถใช้ระบุลักษณะทางธรณีวิทยาของดวงจันทร์ที่มีการปะทุของภูเขาไฟอยู่เสมอ หรือใช้ระบุว่าดาวเคราะห์ดวงใดมีวงแหวนได้
นักดาราศาสตร์จึงใช้วิธีดังกล่าวศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP 49-b พบว่าดาวดวงนี้มีแก๊สโซเดียมมากผิดปกติ แก๊สนี้อยู่ห่างไกลเกินกว่าจะเป็นแก๊สที่ปลดปล่อยออกมาจากตัวดาวเคราะห์เอง
พวกเขาจึงสร้างแบบจำลองการสูญเสียแก๊สโซเดียมและโพแทสเซียมจากดาวพฤหัสบดีกับดวงจันทร์ไอโอ และดาวเคราะห์แก๊สนอกระบบสุริยะดวงอื่นอีกมากมาย เพื่อนำมาทำนายการมีอยู่ของดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ WASP 49-b
เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบ พบว่าข้อมูลทั้งสองมีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน จึงเป็นไปได้ว่าดาวเคราะห์ WASP 49-b มีดวงจันทร์บริวารที่คล้าย ดวงจันทร์ไอโอ โคจรอยู่ แต่ปริมาณแก๊สโซเดียมที่พบมากผิดปกตินี้ อาจเป็นผลจากวงแหวนดาวเคราะห์ที่เมื่อได้รับพลังงานที่มากพอจะเกิดการแตกตัวเป็นไอออนออกมาได้เช่นกัน
แม้ผลการศึกษาจะยังไม่ฟันธงว่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดังกล่าวมีดวงจันทร์บริวารอยู่จริงหรือไม่ แต่การเก็บข้อมูลให้มากขึ้น เพื่อนำมาปรับปรุงแบบจำลองในอนาคต จะสามารถยืนยันการมีอยู่ของดวงจันทร์ดังกล่าวได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง :
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา