26 ก.ย. 2019 เวลา 11:07 • ไลฟ์สไตล์
“เกิดอะไรขึ้นกับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น ?”
เดิมทีบทความนี้ ผมตั้งใจจะใช้ชื่อว่า “เคล็ดลับการบริหารเงินให้ปังอย่างคนญี่ปุ่น” เนื่องจากได้รับแรงบันดาลใจจากการฟัง podcast รายการ The money case ตอน “คนญี่ปุ่นบริหารเงินกันอย่างไร”
Cr. pixabay
แต่เมื่อค้นหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ กลับพบข้อมูลที่น่าประหลาดใจซึ่งขัดแย้งกับภาพที่เราคุ้นชินเกี่ยวกับคนญี่ปุ่นที่มีนิสัยขยันขันแข็งและมีวินัย เช่น คนญี่ปุ่นมีวิธีบริหารจัดการเงินที่เป็นระเบียบแต่ทำไมคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่าตัวเองยากจนลง หรือเรื่องที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อบทความนี้ ที่จะแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ คนหนุ่มสาวเหล่านั้นเค้ามีวิธีบริหารจัดการเรื่องเงินทองอย่างไร พวกเขาทำงานหนักกันขนาดไหน และมีวิธีรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างไร
เราจะมาเรียนรู้จากคนญี่ปุ่นกัน.....ตามผมมาเลยครับ
Cr. pixabay
ในประเทศญี่ปุ่น “มนุษย์เงินเดือน” ยังคงเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมสูงอันดับต้น ๆ ในปัจจุบัน
เงินเดือนเริ่มต้นของคนญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 200,000 – 300,000 เยน (ประมาณ 6 – 7 หมื่นบาท) ต่อเดือน
ผู้ชายที่มีภรรยา จะให้ภรรยาเป็นคนเก็บและบริหารเงินสำหรับใช้จ่ายในครอบครัว และเก็บออมไว้ใช้ในยามเกษียณ โดยสามีจะมีหน้าที่หาเงินเข้าบ้านเพียงอย่างเดียว ส่วนหน้าที่จัดการเรื่องอื่น ๆ ภายในบ้านภรรยาจะเป็นคนจัดการ
Cr. pixabay
ผมเคยได้ยินมาว่าภรรยาชาวญี่ปุ่นจะนำเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายภายในครอบครัวมาลงทุนให้งอกเงยด้วยวิธี เทรดหุ้น หรือ Forex ด้วย เรียกได้ว่า เรื่องบู๊ บุ๋น ภรรยาชาวญี่ปุ่นต้องเป็นได้หมด
ดังนั้น นอกจากเรื่องงานบ้านแล้ว ภรรยายังมีหน้าที่จัดการเรื่องรายรับ – รายจ่ายในครอบครัว และควบคุมดูแลค่าใช้จ่ายภายในบ้านทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงการให้เงินสามีไปทำงานด้วย
โดยปกติภรรยาจะให้เงินสามีไปทำงานเป็นรายเดือน เฉลี่ยประมาณ 20% ของเงินเดือน ซึ่งผมลองคำนวณดูคร่าว ๆ สมมติสามีมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 60,000 บาท จะได้เงินไปทำงานเดือนละ 12,000 บาท เฉลี่ยวันละ 400 บาท แต่เมื่อคิดถึงค่าครองชีพในเมืองใหญ่ ๆ อย่างเช่น โตเกียวซึ่งเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงติดอันดับโลกแล้วล่ะก็ ผมว่าอาจจะตึงมือไปซักหน่อย
Cr. pixabay
สำหรับคนที่ทำงานปีแรก ๆ ซึ่งเงินเดือนยังไม่มากนัก ก็สามารถประหยัดเงินค่าอาหารได้ เนื่องจากวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นนั้น เจ้านายหรือรุ่นพี่มักจะพาไปเลี้ยงมื้อเย็นอยู่เป็นประจำ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 4 วัน
ซึ่งการไปเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายหลังเลิกงานนั้น สังคมญี่ปุ่น ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ถึงขนาดมีคนพูดไว้ว่า ถ้าวันไหนสามีกลับบ้านตรงเวลา ภรรยาจะค่อนข้างกังวลเลยทีเดียว เพราะสามีอาจจะมีปัญหาไม่สามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้
คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับความเครียดที่สะสมมาจากการทำงานหนัก เนื่องจากคนญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการทำงานที่จริงจัง ถ้าเป็นในเวลางานจะไม่มีการพูดคุยหรือกิจกรรมอื่นเลยนอกจากการทำงาน โดยเวลาทำงานปกติคือ 8.30 – 17.30 น. แต่เอาเข้าจริงมักจะเลิกงานโดยเฉลี่ยประมาณ 21.00 น. ซึ่งหากนับชั่วโมงการทำงานแล้วจะยาวนานถึง 10 – 13 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว
Cr. pixabay
แม้จะทำงานหนักขนาดไหน แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่าตนเองยากจนลง โดยสังเกตจากการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นจนหลายครอบครัวต้องใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน เสื้อผ้าหรือของใช้อื่น ๆ ซึ่งเปลี่ยนจากของแบรนด์เนมเป็นแบบธรรมดาที่เน้นราคาประหยัด ส่วนมื้อกลางวันจะเลือกอาหารที่หารับประทานง่าย ๆ จำพวกอาหารตามร้านสะดวกซื้อที่ลดราคา
นั่นอาจเป็นเพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากความเชื่อที่ว่าคนญี่ปุ่นมักจะจ้างงานกันตลอดชีวิต แต่ปัจจุบันกลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ การเลิกจ้างพนักงานที่อายุมากและเงินเดือนสูงโดยจ้างเด็กจบใหม่มาทำงานแทนดูจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วในสังคมการทำงานของคนญี่ปุ่น คนไร้บ้านที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคนเหล่านี้บางส่วนก็เคยเป็นพนักงานบริษัทที่ถูกเลิกจ้างและไม่สามารถกลับเข้าไปสู่ระบบการจ้างงานได้
Cr. pixabay
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ อาจเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีอัตราเฉลี่ยการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยในปี พ.ศ. 2560 คนญี่ปุ่นเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสูงถึง 21,321 คน
ด้วยเหตุนี้เอง คนญี่ปุ่นจึงมักจะมีวิธีการคลายเครียดแบบแปลก ๆ ในแบบที่เรามักจะนึกไม่ถึงอยู่เสมอ อย่างเช่น ธุรกิจเปิดร้านบริการคลายเครียดแนวใหม่ โดยหนุ่ม ๆ สามารถเลือกสาวสวยมานอนกอด (กอดอย่างเดียวนะห้ามทำอย่างอื่น) เพื่อคลายความเหนื่อยล้าอันเนื่องมาจากการทำงานหนัก และยังเป็นการบำบัดความเครียด ช่วยทำให้นอนหลับสบายยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมของหนุ่ม ๆ ชาวญี่ปุ่นมากเลยทีเดียว
Cr. pixabay
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้วมีความรู้สึกกับสังคมญี่ปุ่นในทุกวันนี้อย่างไรบ้างครับ การทำงานหนักเพื่อหาเงินมาใช้จ่ายและรักษาตัวในยามป่วยไข้ยังเป็นคำตอบที่ถูกต้องอยู่หรือไม่
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องทำตัวเป็นหนูถีบจักรที่ไม่รู้เมื่อไหร่ถึงจะหยุดถีบได้
หลายคนเลือกที่จะหยุดวงจรเหล่านี้ด้วยการจบชีวิตลงก่อนวัยอันควร
และนั่นอาจจะถึงเวลาที่เราต้องย้อนกลับมามองดูตัวเองแล้วก็ได้ ว่าจริง ๆ แล้วเราต้องการเป็นอย่างนั้นหรือไม่...
คำตอบจะเป็นเช่นไรคงต้องลองถามคนที่อยู่ข้างในคุณดูครับ
References:
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา