26 ก.ย. 2019 เวลา 11:37 • ธุรกิจ
สอน Finance ง่ายๆ ผ่านการชำแหละบัตร SCB Planet !!
ชำแหละในที่นี้ไม่ใช่เอาบัตรมาผ่าดูข้างในนะครับ แต่เราจะมาดูเงื่อนไขการใช้งานของบัตรกันว่า เราได้อะไร เสียอะไร/ แบงก์ได้อะไร เสียอะไร / ทำไมถึงได้เรทถูกกว่าที่อื่น / หรือมันจะมีเงื่อนไขอะไรซ่อนอยู่แล้วเราไม่รู้บ้าง มาหาคำตอบไปกับ”เล่า”ครับ
โดยตลอดการชำแหละ ผมจะสอดแทรกความรู้ในด้านของ Finance เข้าไปให้ด้วยเนอะ เพราะธุรกิจ Banking มันก็ต้องเกี่ยวกับ Finance เกือบทั้งหมดครับ
** บทวิเคราะห์นี้เป็นความคิดเห็นและมุมมองส่วนตัวเท่านั้นนะครับ**
===============
เรามาดูความพิเศษหลักของบัตรกันก่อน จากที่เป็น Talk of the town ของวงการ Shopping ต่างประเทศมาซักพัก บัตร SCB Planet มีคุณสมบัติเด่นๆ 3 ข้อง่ายๆ คือ
1. เป็น “บัตรเติมเงิน” ซึ่งเติมได้เฉพาะเงินบาท
2. สามารถแลกสกุลเงินต่างประเทศภายในบัตร ซึ่งได้”อัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกกว่า”ร้านอื่น
3. นำไปรูดใช้จ่ายที่ต่างประเทศได้โดย”ไม่เสียค่าธรรมเนียมความเสี่ยง” 2.5% เหมือนบัตรเครดิตทั่วไป
แค่ 3 ข้อนี้ก็ได้ใจนักช็อปไปครึ่งค่อนประเทศแล้ว เพราะจะดีแค่ไหนที่ได้เรทถูกกว่าชาวบ้าน แถมไม่เสียค่าความเสี่ยงอีก ค่าธรรมเนียมรายปีก็ไม่ต้องเสีย ค่าแรกเข้าก็ฟรี
คนขี้สงสัยอย่างผมก็จะมีคำถามว่า เฮ้ย ถ้ามันดีขนาดนี้แล้วแบงก์ได้อะไร ?? เพราะแบงก์คือธุรกิจแสวงหากำไร ถ้ามาลดแลกแจกแถมแบบนี้มันไม่น่าจะได้อะไรมากนัก
หลังจากคำถามนี้ผมก็สวมหมวก Finance ที่ผมเรียนมาเลย แล้วก็พอจะวิเคราะห์ได้ถึงประโยชน์ที่แบงก์จะได้จากบัตรใบนี้ครับ โดยแบ่งได้หลักๆ 3 ข้อเหมือนคุณสมบัติด้านบนเช่นกัน
ซึ่งจริงๆผมจะใช้คำว่า ข้อดีที่แต่ละคนเห็นกันว่าตัวเองได้เปรียบแบงก์ จริงๆแล้วเราเสียเปรียบเค้าอยู่ต่างหาก แต่บัตรใบนี้ใช้โฆษณา + คำพูดที่เล่นกับจิตวิทยาคนได้ดีมากๆจริงๆ ที่ทำให้รู้สึกไปแบบนั้น
ถ้าอยากรู้กันแล้ว ก็เลื่อนลงไปดูกันได้เลย
(ไม่ต้องกลัวว่าไม่เคยเรียน Finance มาแล้วจะงงนะครับ ผมอธิบายความหมายแบบง่ายๆให้ด้วย)
— — — — — — — —
ข้อแรก : “บัตรเติมเงิน”
การเป็นบัตรเติมเงินคือประโยชน์ข้อสำคัญที่สุดสำหรับแบงก์เลยครับ เพราะมันคือการที่แบงก์จะมีสภาพคล่อง (Liquidity) ที่ดีขึ้นเพราะได้รับเงินทันที แต่กว่าจะมีการใช้เงินนั้นจริงๆจะต้องรอเราไปเที่ยวต่างประเทศเสียก่อน
นี่คือการ Accelerate Revenue (เร่งรายรับ) หรือ การให้บริการแบบ Pre-paid (จ่ายค่าบริการล่วงหน้า) เหมือนพวกเติมเงินมือถือ หรือฟิตเนส
ในมุมมองของ Finance นั้น จะมีหลักการง่ายๆอย่างนึงในการบริหารเงิน คือการรับเงินให้เร็ว แต่จ่ายให้ช้า เพราะนอกจากจะสามารถนำเงินนั้นมาหมุนเวียนในธุรกิจได้แล้ว มูลค่าเงินมันจะเฟ้อไปตามเวลาอีกด้วย ทำให้เงินในอนาคตมีคุณค่าที่น้อยลง
(เงินเฟ้อคือการที่เงินจำนวนเท่าเดิม ซื้อของได้น้อยลง เช่น 20 บาทเมื่อ 10 ปีที่แล้วกินก๊วยเตี๋ยวได้ชามนึง แต่ตอนนี้ก๊วยเตี๋ยวชามเดียวกันราคา 30-40 บาทแล้ว เป็นต้น)
หรือหลายๆคนคงเคยได้ยินว่า บัตรเติมเงินของ Starbucks นั้นมีเงินอยู่มากกว่าเงินของธนาคารพาณิชย์บางแห่งด้วยซ้ำ
บัตร Planet ใบนี้ก็อาจจะเป็นแบบ Starbucks ได้ในไม่ช้านี้ เพราะเงินที่แลกไปเที่ยวต่างประเทศนั้นเวลาเติมเข้าไปแต่ละครั้งจะต้องเยอะกว่าการเติมเพื่อกินกาแฟแน่นอน
***แต่ข้อดีของบัตรก็คือเราสามารถแลกเงินกลับไปมาได้ และสามารถโอนกลับออกมาเข้าบัญชีได้ ไม่ใช่การเติมแล้วเติมเลย ไม่คืนเหมือนบัตรเติมเงินทั่วๆไป
— — — — — — — —
ข้อที่สอง ”อัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกกว่า”
จากตัวอย่างที่ผมเห็นมาตามรีวิวนะครับ จะได้เรทที่ถูกกว่า สมมุติว่าแลกเงินเยนญี่ปุ่น
ร้านแลกเงินชื่อดัง รับซื้ออยู่ที่ 28 บาท/100 เยน
และขายที่ 28.40 บาท/ 100เยน
แต่ Planet รับซื้ออยู่ที่ 28 บาท/100 เยน เท่ากัน
แต่ขายที่ 28.17 บาท/ 100เยน
จะเห็นได้ว่าเรทของบัตรจะถูกกว่า 23 สตางค์ หรือประมาณเกือบ 1%
อันนี้คือข้อดีของคนใช้ที่สามารถแลกเงินได้ในเรทที่ถูกกว่าที่อื่นๆครับ
แต่ที่อยากให้สังเกตุก็คือ ส่วนต่างค่าเงิน (Foreign Exchange Spread) ระหว่างการซื้อขายเงินต่างประเทศนั้น ยังเป็นบวกอยู่ครับ เพียงแต่ว่ามันบวกน้อยลง
Spread ร้านแลกเงินคือ 40 สตางค์
Spread ของบัตรอยู่ที่ 17 สตางค์
ถ้าเรามองในมุมของแบงก์ ถ้ามีคนซื้อขายเงินเยนกันตลอดทั้งวัน ก็ยังมีส่วนต่างที่ได้กำไรอยู่ เพราะรับซื้อถูกและขายแพง เพียงแต่จะได้กำไรตรงนี้น้อยกว่าร้านแลกเงิน
การที่แบงก์ให้แลกเงินถูกกว่านั่นคือ แบงก์ยอมหั่นกำไรส่วนต่างค่าเงินตรงนี้ลง ไม่ถึง 1% เพื่อแลกกับสภาพคล่องทางการเงินในข้อแรกนั่นเองครับ
ซึ่งตัวผมมองว่ารายได้หลักของแบงก์ไม่ใช้ตรงนี้อยู่แล้ว การยอมลดกำไรส่วนน้อยๆตรงนี้เพื่อแลกกับสภาพคล่องที่ดีขึ้น + ชื่อเสียงทางด้านบริการ มีแต่คุ้มกับคุ้ม
— — — — — — — —
ข้อที่สาม ”ไม่เสียค่าธรรมเนียมความเสี่ยง”
อันนี้มันไม่ต้องเสียแน่นอนอยู่แล้วครับ เพราะว่าปกติค่าธรรมเนียม 2.5% ตัวนี้จะคิดกับบัตรเครดิตเท่านั้น เนื่องจากการรูดบัตรเครดิตที่ต่างประเทศจะมีระยะเวลา 2-3 วันก่อนที่ transaction จะเสร็จเรียบร้อย
ในระยะเวลา 2-3 วันนั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินขึ้นได้ ทางแบงก์เองจึงมีการชาร์จค่าธรรมเนียมตรงนี้เพื่อลดความเสี่ยงให้กับแบงก์เอง
แต่ !! บัตรใบนี้ไม่ใช่บัตรเครดิต แต่เป็นบัตรเติมเงินที่แลกเงินเป็นสกุลต่างประเทศไว้แล้ว และจะทำการตัดเงินสกุลนั้นในบัตรทันที เพราะฉะนั้นแบงก์จะไม่ต้องมากังวลเรื่องความเสี่ยงเรื่องนี้อีกต่อไป
***ผมชอบข้อนี้มากๆครับ เพราะการใช้บัตร Planet มันก็เหมือนการแลกเงินไปใช้เองนั่นแหละ แต่เวลาโฆษณา แบงก์พยายามวาง Product ให้เป็นบัตร พอเป็นบัตรคนก็จะติดภาพความเป็นบัตรเครดิต ต้องเสีย 2.5% นะ และพอไม่ต้องเสีย 2.5% ตรงนี้ คนก็ดีใจกันไปทั้งที่มันไม่ควรมีอยู่แล้ว
ซึ่งถือว่าโฆษณาโดยหยิบประเด็นนี้มาพูดมันประสบความสำเร็จมากๆๆ เลยทีเดียว
ตรงนี้เองเป็นข้อได้เปรียบที่ร้านแลกเงินไม่มีทางสู้ได้ครับ เพราะแบงก์ได้เปรียบจากการมีระบบที่พร้อม และสามารถใช้การรูดบัตรผ่านบริการของ VISA ได้อยู่แล้ว
ถ้าร้านแลกเงินจะมาสู้กับบัตรนี้ก็ต้องออกบัตร VISA ออกมาแข่งซึ่งจะมีต้นทุนที่สูงมาก ถือว่าเป็นการ Disrupt ร้านแลกเงินครั้งใหญ่มากๆ
— — — — — — — —
สรุปในมุมมองของผมนะครับ ผมคิดว่าบัตรใบนี้ดีมากสำหรับผู้ใช้อย่างเรา เงินก็ไม่ต้องถือ ไม่ต้องไม่ต่อคิวแลกเงิน เรทก็ถูก ค่าธรรมเนียมก็ไม่มี
และแบงก์เองก็ไม่ได้เสียเปรียบอะไรขนาดนั้น สาระสำคัญก็คือแบงก์ยอมลดกำไรจากส่วนต่างค่าเงิน (Foreign Exchage Spread) มาดึงดูดลูกค้าเพื่อแลกกับสภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity) ที่ดีขึ้น
คนที่เสียเปรียบจากบัตรนี้จริงๆก็คือร้านแลกเงินทั่วไปที่จะเสียลูกค้าไปเยอะมากถ้าไม่มีการปรับตัว
ก็มารอดูว่าร้านแลกเงินนั้นจะตอบโต้ยังไง สำหรับผมคิดว่าทำอะไรไม่ได้มาก เพราะเทคโนโลยีต่างๆยังสู้แบงก์ไม่ได้ อย่างมากที่ทำได้ก็คือลด Spread มาแข่งกัน และสุดท้ายก็ไม่น่าสู้แบงก์ที่สายป่านยาวกว่าอยู่ดี
แต่ยิ่งเค้าสู้กันเท่าไหร่ ผลดีก็ตกอยู่ที่ผู้บริโภคอย่างเรานั่นเองครับ 😂😂
===============
อาจจะไม่ได้เสริมความรู้ทางทฤษฎีเท่าไหร่นะครับ เพราะว่ากลัวจะยากและยืดยาวไป ทำได้แค่อธิบายศัพท์บางคำเท่านั้นเอง
แต่ก็คิดว่าอ่านง่าย และน่าจะได้ Concept กันไปบ้าง
ในโพสต่อๆไปก็จะนำเรื่องน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้และเล่มอื่นๆ รวมไปถึงเกร็ดความรู้ต่างๆ มาเล่าให้ฟังเรื่อยๆ สนใจก็กดติดตามเพจ “เล่า” ไว้เพื่อที่จะไม่พลาดเนื้อหาดีๆในอนาคตครับ
ติดตามเรื่อง “เล่า” ผ่าน facebook ได้ที่
#เล่า #เล่าหนังสือ #เล่าความรู้ #unfold #ส่งเสริมการอ่าน #ส่งเสริมการเรียนรู้
#SCBplanet #foreignexchangespread
โฆษณา