1 ต.ค. 2019 เวลา 03:50
พุทธประวัติ ตอนที่ 20
ทรงศึกษาลัทธิของดาบส (ฤๅษี)
ในสมัยนั้นเอง...
ที่แคว้นมคธ ก็ได้มีพวกนักบวชที่ตั้งตนเป็นคณาจารย์สอนวิชาลัทธิต่างๆ และสำนึกที่มีชื่อเสียงอย่างมาก ก็มีอยู่หลากหลายสำนักด้วยกัน ในแต่ละสำนักนั้น ต่างก็มีศิษย์สาวกและมีคนนับถือเป็นอันมาก...
จึงทำให้กรุงราชคฤห์นี้ เป็นแหล่งการศึกษาเรียนรู้ที่สำคัญมากๆ และยังเป็นที่สัญจรจาริกผ่านไปมาของบรรดาเจ้าลัทธิ นักบวชต่างๆ เพื่อที่จะเผยแพร่ลัทธิ​คำสอน​ของตนให้มีบุคคลประชาชนทั่วไปได้มาเลื่อมใส​ศรัทธา​ในสำนักลัทธิของตนนั้นเอง...
และในสมัยนั้น...
มีเหล่าคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ในตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช ซึ่งอยู่ในแคว้นนี้มีอยู่ด้วยกันสองสำนัก คือ  
- สำนักอาจารย์
(อาฬารดาบสกาลามโคตร)    
- สำนักอาจารย์
(อุทกดาบสรามบุตร)
ซึ่งทั้งสองสำนักอาจารย์นี้ ตั้งอาศรม
สอนศิษย์อยู่ในบริเวณเชิงป่านอกเมือง
ลำดับนั้น...
พระโพธิสัตว์ก็ได้ทรงเสด็จจาริกไปจากเชิงเขามัณฑวบรรพต เพื่อแสวงหาสำนักอาจารย์ลัทธิต่างๆ
ที่ว่ากันว่า เมื่อเข้าไปฝึกปฏิบัติตนแล้ว
จะสามารถค้นพบกับทางตรัสรู้ได้...
และพระโพธิสัตว์ ก็เสด็จได้เข้าไปสู่
สำนักของอาจารย์อาฬารดาบส
กาลามโคตร เป็นสำนักแรก ที่ทรงเข้าไปศึกษา และได้เล่าเรียนใน วิชา
(อนุปุพพวิหารสมาบัติ)
และพระองค์ก็ทรงใช้เวลาไม่นานนัก ก็ทรงสำเร็จ สมาบัติ 7
คือ รูปาวจรฌาน 4 และ อรูปาวจรฌาน 3 (รูปฌาน 4 กับ อรูปฌาน 3)
ก็หมดสิ้นซึ่งความรู้ของอาจารย์
อาฬารดาบสกาลามโคตร
และอาจารย์นั้นก็ได้ชักชวนให้พระโพธิสัตว์ได้อยู่เป็นอาจารย์ สอนลูกศิษย์ด้วยกันที่สำนักนี้...
แต่ทว่า
พระโพธิสัตว์ ก็ตรัสตอบปฏิเสธไป
ด้วยเหตุที่ว่า วิชาเหล่านี้ยังมิใช่ทางหลุดพ้นที่แท้จริง
พระองค์จึงได้ขอลาจากสำนัก
อาจารย์อาฬารดาบสกาลามโคตร
และเสด็จออกแสวงหา สำนักอาจารย์
ที่มีวิชาความรู้ที่มากขึ้นกว่านี้
ต่อไปอีก...
ครั้นในเวลาต่อมา...
พระโพธิสัตว์ ก็ได้เสด็จเข้าไปสู่
สำนักของอาจารย์อุทกดาบสรามบุตร
และพระองค์ก็ได้ทรงศึกษาอยู่ในสำนักนี้ ด้วยเวลาไม่นาน พระองค์​ก็ได้สำเร็จถึงขั้น อรูปฌาน 4 คือ
เนวสัญญานาสัญญายตนะสมาบัติ
คือ สำเร็จฌานครบสมาบัติ 8
จากนั้น...
พระโพธิสัตว์ จึงตรัสถามอาจารย์
อุทกดาบสรามบุตร ถึงธรรมอันที่วิเศษสูงสุดขึ้นไปกว่านี้อีก...
แต่ทว่า...
ท่านพระดาบสรามบุตรนั้น
ก็ไม่สามารถ ที่จะบอกตอบไปได้มากกว่านี้แล้ว เพราะว่าตนเองนั้นก็หมดสิ้นซึ่งความรู้ทั้งปวงแล้วเช่นกัน
และจากนั้น ท่านอาจารย์อุทกดาบสรามบุตร  ก็ยังกล่าวยกย่อง
ให้พระโพธิสัตว์ เป็นอาจารย์เทียบเท่าเสมอกันตนเอง และขอร้องให้ช่วยกันอยู่สอนศิษย์ต่อไป ในสำนักของตน
ในตอนนั้นเอง...
พระโพธิสัตว์ ทรงดำริพระทัยว่า...
เส้นทางปฎิบัติเหล่านี้ยังมิใช่
เส้นทางตรัสรู้สู่ พระโพธิญาณ
พระองค์จึงทรง ปฏิเสธ​และขอลาออกจากสำนักอาจารย์อุทกดาบสรามบุตร ในวันนั้น แล้วเสด็จจาริกไปเสาะแสวงหาเส้นทางใหม่ ที่​จะสามารถ​ค้นหาวิถีทางที่จะตรัสรู้ ที่แท้จริงได้ต่อไป...
ครั้นเวลาต่อมา...
พระโพธิสัตว์ ก็ได้ทรงเสด็จจาริกไปสู่
ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
แล้วทรงพิจารณาเห็นแล้วว่า ที่นี้นั้น เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ มีแนวไพรสณฑ์เขียวขจีอุดมสมบูรณ์
มีแม่น้ำ​เ​นร​ั​ญ​ชรา​ไหลผ่าน อีกทั้งมีน้ำที่ใสสะอาด ที่สำคัญ สถานที่นี้ ก็ไม่ได้อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านของชาวบ้านนัก สะดวกแก่การเที่ยวภิขาจารเป็นอย่างยิ่ง...
สถานที่นี้ เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาเห็นสมควรแล้ว แก่การบำเพ็ญเพียรเจริญสมณธรรม
แสวงหาอริยคุณพิเศษ
พระองค์จึงได้ทรงประทับ
และกระทำมหาประธานวิริยะ
กล่าว​คือ ความเพียรอันยิ่งใหญ่
ณ สถานที่นี้แล...
เอวัง​ก็มี​ด้วย​ประการ​ฉะนี้​
หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัย ท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน​ผู้อ่าน​ขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน​ สาธุครับ​ (ต้นธรรม)
เอกสารอ้างอิง
#หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
#หนังสือพุทธประวัติ​ตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
#เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
โฆษณา