3 ต.ค. 2019 เวลา 03:50
พุทธ​ประวัติ​ ตอนที่​ 22
นิมิตอุปมา​ 3 ข้อ ปรากฏ​
ในตอนนี้เอง...
เมื่อพระ​บรมโพธิสัตว์​ทรงประทับนั่ง
ใต้ร่มไม้ ณ ตำบล​อุรุ​เวลา​เสนา​นิคม​นี้
ในขณะที่​พระ​องค์​ได้เริ่มปรารภ
ความเพียรอยู่นั้น ก็ได้เกิดนิมิต
อุปมา 3 ข้อ ขึ้นในจิตของพระองค์
ซึ่งตัวของพระองค์นั้น มิเคยได้ยิน
ได้ฟังมาก่อนเลย นิมิตนั้นมาปรากฏแจ่มแจ้งขึ้นในพระปรีชาญาณของพระองค์โดยลำดับ ดังนี้...
นิมิต​อุปมา​ข้อที่ 1 แสดงขึ้นว่า :
***สมณ​พราหมณ์​เหล่าใด
มีกายไม่ได้หลีกออกจากกาม
ทั้งยังมีความพอใจ รักใคร่ในกาม
ยังละให้สงบ ระงับมิได้
สมณ​พราหมณ์​เหล่านั้น...
แม้ได้เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า
ที่เกิดจาก ความเพียร​ก็ดี มิได้เสวยก็ดี มิควรที่จักตรัสรู้
เพราะเปรียบเสมือนไม้สดที่ชุ่ม
ด้วยยาง ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ...
บุคคลผู้ที่มีความต้องการด้วยไฟ
ได้นำเอาไม้นั้น มาสีกันหวังจักให้เกิดไฟ
ก็จักต้องเหน็ดเหนื่อลำบากเปล่า
เพราะ​ไฟย่อม มิเกิดขึ้น
เพราะ​ไม้นั้น ยังสดอยู่ด้วยยาง
อีกทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ***
นิมิต​อุปมา​ข้อที่​ 2 แสดงว่า​ :
***สมณ​พราหมณ์​เหล่าใด​
แม้มีกายหลีกออกจากกามแล้ว
แต่ยังมีความพอใจรักใคร่ในกาม
ยังละให้สงบระงับมิได้
สมณ​พราหมณ์​เหล่านั้น...
แม้ได้เสวยทุกขเวทนาอันเผ็ด
ร้อนแรงกล้า ที่เกิดจาก​ความเพียร​
ก็ดี มิได้เสวยก็ดี​ ก็มิควรจักตรัสรู้
เพราะเหมือนไม้สดที่ชุ่มด้วยยาง
แม้วางอยู่บนบกห่างไกลจากน้ำ
อันบุคคลนั้น ก็มิอาจนำมาสีกันให้
เกิดไฟได้ ต้องทนเหน็ดเหนื่อยเปล่า
เพราะว่า​ไม้นั้นยังสดชุ่ม​อยู่​ด้วยยาง***
นิมิต​อุปมา​ข้อที่​ 3 แสดง​ว่า :
***สมณ​พราหมณ์​เหล่าใด​
มีกายหลีกออกจากกามแล้ว อีกทั้งยังละทิ้งความพอใจรักใคร่ในกามได้แล้ว ละให้สงบระงับดีแล้ว
สมณ​พราหมณ์​เหล่านั้น...
เมื่อได้​เสวย​ทุกขเวทนาอันเผ็ดร้อนอย่างแรงกล้า ที่เกิดจากความเพียรก็ดี
มิได้เสวยก็ดี​ สมควร​ที่จัก​ตรัสรู้​ได้
เพราะเปรียบเหมือน ไม้แห้ง
ที่ปราศจากยาง และวางกองไว้บนบก
อันพึงมีบุคคลที่จักนำไม้แห้งนั้น
มาสีกันให้เกิดเปลวไฟลุกขึ้นได้
เพราะไม้นั้นเป็นไม้ที่แห้ง อีกทั้งยังอยู่บนบกห่างไกลจากน้ำ***
ด้วยนิมิตอุปมา 3 ข้อนี้เอง
จึงเป็นกำลังสนับสนุนให้พระองค์ทรงมุ่งมั่นในการกระทำความเพียรทาง (ทุกรกิริยา)
เพื่อป้องกันจิตมิให้น้อมเข้าไปสู่กามารมณ์ได้ และยังเกิดความเชื่อมั่นว่า นี่จักเป็นหนทางทำให้บรรลุ
พระโพธิญาณได้แน่นอน...
เอวัง​ก็มี​ด้วย​ประการ​ฉะนี้​
หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัย ท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
หากท่านผู้ใดชอบ ก็ขอฝากติดตามอ่านตอนต่อไปด้วยนะขอรับ ^-^
ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน​ผู้อ่าน​ขอธรรมของพระพุทธองค์จงมีแด่ ท่าน​ สาธุครับ​ (ต้นธรรม)
เอกสารอ้างอิง
#หนังสือ.ปฐมสมโพธิกถา
#หนังสือพุทธประวัติ​ตามแนวปฐมสมโพธิ (พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์)
#เพิ่มเติมเนื้อหาใหม่/ภาพประกอบ.ต้นธรรม
โฆษณา