5 ต.ค. 2019 เวลา 14:08 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เลี้ยงปลาทอง #2
เคล็ด(ไม่)ลับ
ห้ามจับตัวปลาขึ้นมาดูเล่นบ่อย ๆ :
การจับปลาทองหรือปลาสวยงามสายพันธุ์อื่น ๆ ขึ้นมาดูบ่อย ๆ ไม่ว่าจะด้วยมือเปล่าหรือด้วยอุปกรณ์อะไรก็ตาม ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ตัวปลาสวยงามของเราเกิดการบอบช้ำได้ง่าย แต่ถ้าจำเป็นต้องตักขึ้นมาจริง ๆ ควรใช้กระชอนหรือตาข่ายสวิงสำหรับจับปลาโดยเฉพาะเท่านั้น ไม่ควรใช้มือจับโดยตรงบ่อยเกินไป
ในบางทีปลาคลายเมือกออกมาเป็นจำนวนมากอาจทำให้เกิดกรณีปลาหลุดออกจากมือได้ แล้วปลาก็ตกลงสู่พื้นโดยตรง ปลาอาจจะน็อคหรือเกิดอาการบอบช้ำจากภายในได้ ถ้าร้ายแรงสุดปล่อยไปนาน ๆ ปลาอาจตายได้จาการตกจากที่สูงสู่พื้นโดยตรง การที่เราใช้สวิงหรือตาข่ายจับปลาจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยต่อตัวปลามากที่สุด และไม่ทำให้ตัวปลามีบาดแผลตามตัวอีกด้วย เพราะบาดแผลส่งผลให้เกิดการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ตามมา
"ปลาป่วย" ควรแยกออกมารักษาจากปลาตัวอื่นทันที :
"ปลาป่วย" เป็นปัญหาสำหรับคนเลี้ยงปลาต้องเจอกันทุกคน โดยเฉพาะปลาทองมักจะป่วยง่ายมาก ๆ เป็นปลาสวยงามที่ไวต่อสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เป็นอย่างยิ่ง อย่างกรณีฝนตกอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ อาจจะทำให้ปลาทองป่วยขึ้นมา โดยจะมีอาการเบื่ออาหารไม่อยากอาหารหรือกินอาหารน้อยลง มีปรสิตสีขาวติดตามตัวทั้งครีบและหางก็มีอีกด้วย หากยิ่งเราพบว่าในตู้ปลาของเรามีปลาป่วย ให้รีบแยกปลาตัวนั้นออกมาจากปลาตัวอื่นทันที เพื่อจะได้รีบรักษาให้หายขาดตั้งแต่ช่วงที่ยังเป็นไม่มาก
ถ้ากรณีปล่อยไปนาน ๆ แล้วมารักษา โอกาสที่ปลาตัวอื่นที่อยู่ในบ่อหรือในตู้เดียวกันก็มีโอกาสที่จะป่วยตามกันไปหมด แล้วที่นี้การรักษาก็จะยากยิ่งขึ้น ถ้ารักษาไม่หายโอกาสที่ปลาตายก็จะสูง
ห้ามเลี้ยงปลาเยอะจนเกินขนาด :
การเลี้ยงปลาจำนวนมากในที่เดียวกันและในที่ที่จำกัดมากจนเกินไป ทำให้ปลาไม่มีที่ในการว่ายน้ำไปมาอย่างสะดวกสบาย สุ่มเสี่ยงอย่างมากที่ปลาจะทำร้ายกันเองกัดกันเอง เพราะปลาจะเกิดความเครียดสูงอย่างมากภายในตู้ ตัวที่แข็งแรงที่สุดก็จะไล่กัดตัวที่อ่อนแอ ทำให้ตัวที่แข็งแรงที่สุดก็จะอยู่รอด ส่วนตัวที่อ่อนแอก็จะตายไป
การที่ปลากัดกันไม่ใช่เป็นแค่เพราะความเครียดสูง แต่มีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ภายในตู้ปลานั้นเปลี่ยนไปไม่ว่าจะเรื่องของ ระบบนิเวศ สมดุลต่าง ๆ ภายในตู้ จนเกิดให้ปลาที่เราเลี้ยงแย่งอาหารกันกิน แย่งอากาศในการหายใจ และที่สำคัญที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดอาการเครียดของปลาได้ และถ้าปล่อยไปเป็นระยะเวลานาน ๆ ปลาที่เราเลี้ยงก็จะเริ่มทยอยตายไปเรื่อย ๆ
จนสุดท้ายระบบนิเวศจะปรับเองจนลงตัว คือ "เหลือจำนวนปลาที่เหมาะสมกับตู้หรือบ่อปลานั้น ๆ ทำให้ปลาไม่กัดกัน อาหารเพียงพอ อากาศในการหายใจเพียงพอ ปลาก็จะหยุดการตายได้ในที่สุด"
ควรเลี้ยงปลาทองกับปลาที่มีนิสัยคล้าย ๆ กัน :
นิสัยและสัณชาตญานของปลาทองเป็นปลาที่มีนิสัย "รักสงบ ไม่ดุร้าย" สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นได้ เช่น ปลาสอด ปลาหางนกยูง ปลากระดี่ ปลาเทวดา ฯลฯ เพราะปลาเหล่านี้เป็นปลาที่รักสงบ นิสัยไม่ดุร้ายเหมือน ๆ กัน แต่ก็มีปลาบางชนิดที่เลี้ยงรวมกับปลาทองด้วยไม่ได้เลย คือ ปลาแพะ ปลาหมูอินโด ปลาซักเกอร์
เพราะปลาเหล่านี้จะชอบกินเศษชิ้นเนื้อ เศษอาหารตามพื้นตู้ ผนังตู้ และมีนิสัยดุร้าย รุนแรงหน่อย ๆ จะมีสภาพร่างกายแข็งแรง บริเวณรอบตัวเกล็ดต่าง ๆ มีความคม แข็ง ในบางทีปลาทองเองอาจจะว่ายไปชนหรือไปกวนกับปลาสายพันธุ์อื่น จนทำให้ปลาตัวอื่นเกิดความเครียดแล้วมีโอกาสที่จะไปทำร้ายปลาทองจนได้รับบาดเจ็บได้ในที่สุด
ฉะนั้นแนะนำว่าให้เลี้ยงปลาทองกับปลาที่มีนิสัยคล้าย ๆ กันจะดีกว่า หรือง่ายที่สุดควรเลี้ยงแต่ปลาทองสายพันธุ์เดียวกันไปเลย หลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้ปลาทองเครียดได้อีกด้วย
เลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อปูน :
เราลองสังเกตกันว่าปลาทองตามฟาร์มเพาะเลี้ยงจะมีขนาดใหญ่กว่า ปลาที่เลี้ยงในตู้ปลาตามร้านค้าปลาสวยงามต่าง ๆ ก็เพราะว่าฟาร์มจะเลี้ยงในปริมาณที่มาก จึงปล่อยเลี้ยงรวมในบ่อขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ปลาจะสามารถว่ายน้ำได้อย่างอิสระ ส่งผลทำให้ปลาไม่เกิดความเครียด แถมสามารถหาอาหารตามธรรมชาติกินเองได้อีกด้วย เช่น สาหร่าย หนอนแดง ซึ่งอาหารเหล่านี้จะมีโปรตีนสูงมาก มีส่วนช่วยให้ปลาเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ปริมาณน้ำที่ลึกพอดียังช่วยให้ปลามีรูปทรงสวยตรงตามสายพันธุ์แบบดั้งเดิม หากใครอยากให้ปลาที่เราเลี้ยงตัวใหญ่ แนะนำให้เลี้ยงในบ่อปูนหรือบ่อดิน สุดท้ายขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้เลี้ยงและสายพันธุ์ของปลาทองที่เรานำมาเลี้ยงด้วยว่าขนาดใหญ่ได้เต็มที่มากสุดได้ขนาดไหน
การเลี้ยงปลาทองไม่ยากอย่างที่คิดเลยใช่ไหมครับ หวังว่าคงจะได้รับประโยชน์และสาระในการเลี้ยงปลาทองต่าง ๆ ไม่มากก็น้อยกันเลย สำหรับบางคนอาจจะเข้าใจผิดกันมาตลอด เมื่อรู้แล้วในครั้งนี้ก็ลองนำไปปรับใช้กันได้เลยนะครับ
การที่เราเลี้ยงปลาถูกวิธีก็เหมือนกับการที่เราดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี ถ้าเราดูแลตัวเองถูก เราก็จะสมบูรณ์ แข็งแรง มีความสุข ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย ๆ ปลาทองและปลาสายพันธุ์อื่น ๆ ก็เหมือนกัน ถ้าเราดูแลน้องปลาเหล่านั้นได้ถูกตามที่น้องปลาต้องการ ปลาสวยงามของคุณก็จะมีสีสันสดใสสวยงาม ตัวใหญ่ สมบูรณ์ แข็งแรงและอยู่กับคุณไปอย่างยาวนาน ตามอายุขัยของมันเลย
พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำออนไลน์
fishway
Website : ...coming soon...
Youtube : ...coming soon...
Tiktok : ...coming soon...
Line VOOM : ...coming soon...

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา