3 ต.ค. 2019 เวลา 01:00 • ข่าว
"ชนหินจนแกร่งกล้าก็มิอาจชนคน"
ตลอดชีวิตสามสิบย่างสี่สิบ ผมไม่เคยได้ยินชื่อของ “นกชนหิน” หรือ Helmeted hornbill มาก่อนเลยกระทั่งไม่กี่วันก่อนนี้เอง
นกชนหินเป็นหนึ่งในสายพันธุ์นกเงือกที่พบได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาศัยอยู่ในป่าดิบชื้น มีถิ่นอาศัยกระจายตัวจากไทย มาเลเซียไปจนถึงอินโดนีเซียที่มีป่าดิบชื้นแน่นหนา ในประเทศไทยพวกมันอาศัยอยู่ในภาคใต้ตามป่าเขาติดแถบชายแดน กินลูกของต้นไทรเป็นอาหารหลัก
พวกมันมีนิสัยเหมือนนกเงือกสายพันธุ์อื่นคือ จับคู่เดียวตลอดชีวิต ตัวเมียกกไข่และเลี้ยงลูกอยู่ในรัง ผู้เป็นพ่อมีหน้าที่ออกหาอาหารมาป้อนให้เมียและลูกน้อย
เพิ่งจะไม่กี่ปีนี้เองที่นกชนหินกลายเป็นสัตว์ป่าที่ตลาดมืดต้องการอย่างหนักหนา และส่งผลให้พรานเถื่อนออกล่าพวกมันอย่างสุดขีดเพราะสนนราคาที่แพงขึ้นอย่างรวดเร็ว
Photo credit:https://www.allaboutbirds.org/
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่านกชนหินในป่าดิบชื้นของอินโดนีเซียถูกล่าอย่างสาหัส เดือนหนึ่ง ๆ มีนกชนหินถูกฆ่าหลายร้อยตัว ร่วมปีหลายพันตัวเพียงเพื่อเอาหัวกะโหลกที่โหนกนูนของพวกมันไปทำเป็นเครื่องประดับ ด้วยความที่เป็นกะโหลกสีแดงฉานและมีความแข็ง กะโหลกของพวกมันถูกมองว่ามีคุณลักษณะเหมือนงาช้าง จนได้รับสมญานามว่า “งาสีเลือด”
และเมื่อความต้องการในตลาดมืดร้อนแรงขึ้น พรานป่าในไทยก็หยิบอาวุธขึ้นออกล่าพวกมันเช่นกัน
กระแสของนักอนุรักษ์ตื่นตัวอย่างฉับพลันพร้อมการตั้งแคมเปญสนับสนุนให้นกชนหินเป็นหนึ่งในสัตว์สวงนของไทย ถ้าพวกมันได้รับการตอบรับจากภาครัฐ นกชนหินจะกลายเป็นสัตว์สงวนลำดับที่ ๒๐ ของประเทศ
เรื่องของนกชนหินชวนให้ผมคิดถึงที่มาที่ไปของความนิยมในกะโหลกอันแปลกตาของพวกมัน บางทีผู้มีรสนิยมแปลกประหลาด หรือบรรดาเศรษฐีปรารถนาจะได้ของประดับที่สมแก่ฐานะก็ได้ เพราะอะไรที่จะสมฐานะย่อมต้องเป็นของหายาก แปลกตา ชนิดที่ว่าหาคู่แข่งเสมอเหมือนมิมี
ความจริงนั้น การนำกะโหลกนกชนหินไปทำเครื่องประดับหรือของสะสมคงมีมานานแล้ว แต่ความต้องการของตลาดเพิ่งสูงขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และนั่นทำให้นกชนหินในอินโดนีเซีย ประเทศที่มีปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรป่าดิบชื้น กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของพรานเถื่อน
พอล่ามากเข้าก็เริ่มขาดแคลน ในที่สุดพรานก็จะเปลี่ยนทิศเปลี่ยนแกนไปที่มาเลเซียและไทย
ทั้งนี้ ข้อความข้างต้นเป็นเพียงข้อสันนิษฐานของผมเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงก็คือมีความต้องการกะโหลกนกชนหินสูงมากในขณะนี้ ค่าหัวของพวกมันแพงจนพรานไม่อาจมองข้ามได้
แล้วเราในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งจะสามารถทำอะไรเพื่อพวกมันได้บ้าง
การปกป้องสิ่งมีชีวิตใด ๆ รอบตัวเราเป็นเรื่องยากเสมอ เหมือนครั้งที่เราทุกคนเอาใจช่วยมาเรียมและยามิลให้รอดพ้นจากชะตากรรมของการถูกทิ้งกลางทะเล แต่จนแล้วจนรอดทั้งสองตัวก็ไม่อาจรอดพ้นมัจจุราชไปได้ โดยเฉพาะกรณีของมาเรียมที่ต้องตายลงเพราะกลืนกินเศษพลาสติกเข้าไปในท้องจนติดเชื้อ
กล่าวได้ว่าความตายของสัตว์ป่าส่วนใหญ่ที่เราคุ้นหูและรู้จักเกิดจากน้ำมือมนุษย์เป็นสำคัญ การปกป้องสัตว์จากมนุษย์ด้วยกันเองคืองานที่ยากที่สุด
แต่แม้จะยาก ในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งก็อยากจะเชิญชวนทุกท่านช่วยกันลงชื่อสนับสนุนเพื่อให้ผู้ที่ทำหน้าที่ในวงการอนุรักษ์ยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เรามิอาจรู้ได้ว่าเรื่องนี้จะช้าไปหรือไม่ แต่ด้วยว่าพวกเราไม่สามารถแบกปืนลงไปช่วยเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนและปกป้องเจ้านกชนหินได้ เราจึงทำได้เพียงลงชื่อและส่งเสียงสนับสนุนเท่านั้น
สำหรับแคมเปญใน Change.org ทุกท่านสามารถลงชื่อสนับสนุนได้ตามลิงก์นี้ http://change.org/SaveHornbill และช่วยกันแชร์หรือส่งต่อให้เพื่อนใจอนุรักษ์ของท่านได้ลงชื่อกันตามมา
หรือลงชื่อในระดับนานาชาติเพื่อเรียกร้องให้ทางการของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีนร่วมกันปกป้องพวกมันที่ https://www.rainforest-rescue.org/petitions/1088/hands-off-the-helmeted-hornbill
แม้เราจะทำได้แค่หวังว่าภาครัฐจะหันมาใส่ใจเหล่านกชนหินและลงมือปกป้องพวกมันอย่างสุดกำลัง แต่ก็ยังดีกว่าเราเพิกเฉยไม่สนใจอะไรเลย
นกชนหินวิวัฒนาการมาเป็นล้านปี อย่าให้พวกมันต้องจบสิ้นลงเพราะมิอาจชนชนะความโลกของคนเลยครับ
ข้อมูลอ้างอิง​: Watcharabul Leesuwan/Facebook
โฆษณา