5 ต.ค. 2019 เวลา 10:00 • ความคิดเห็น
"โจ้กเกอร์ : เสียงหัวเราะ น้ำตา และความพินาศของมนุษย์"
ในมหานครอันยิ่งใหญ่ทุกหนแห่งในโลก หากเราลองสังเกตดูให้ดี จะมีซอกหลืบแห่งความมืดมิด ความสกปรกโสโครก เชื้อโรคและกลิ่นเน่าเหม็นแฝงเร้นอยู่ตามตรอกซอกซอยเสมอ ไม่มีเมืองศิวิไลซ์แห่งใดที่จะขาวสะอาดและบริสุทธิ์ทุกตารางนิ้ว
ก็แน่แหละว่าเมื่อทุกผู้คนมาอยู่รวมตัวกันมากเข้า พื้นที่ทุกตารางนิ้วของมหานครก็ล้วนถูกจับจอง ใครมีเงินมากกว่า มีพวกพ้องมากกว่า ก็เข้าครอบครอง ใครไร้ญาติขาดมิตร ไร้เงินไร้งานก็ต้องเบียดเสียดกันอยู่ในที่อับ ทนกับคุณภาพของอาคารเก่า กลิ่นชื้น ๆ ของรา หรือผจญกับหนูและแมลงสาป
Gotham มหานครสมมุติในโลกการ์ตูนและภาพยนตร์ก็คือภาพสะท้อนมหานครที่รุ่งเรืองแต่เต็มไปด้วยปัญหาแฝงเร้น
ความเหลื่อมล้ำของสังคมกดดันผู้คนที่ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบโดยไม่รู้ตัว คนที่ร่ำรวยจนเสียดฟ้าไม่อาจเข้าใจความเจ็บปวดและความช้ำใจของคนเบื้องล่าง ส่วนคนทำงานก็ไม่อาจหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่คนที่อยู่ต่ำกว่าตนลงไปได้เพราะต้องทำมาหากิน
ชีวิตของ Arthur Fleck ก็คือชีวิตของคนชั้นล่างในสังคม ไม่อาจหลีกหนีจากปัญหา แต่ก็ไม่อาจแก้ปัญหา มิหนำซ้ำยังถูกผู้อื่นซ้ำเติม เหมือนการกดทับบาดแผลแล้วราดลงด้วยเกลือ เจ็บปวดอยู่ป่านใจจะขาดแต่ยังต้องหัวเราะออกมาเพราะรอยโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายขาด
และการถูกกดทับนี้ก็นำไปสู่การก่อกบฏ
กบฏต่อสังคมและชะตาชีวิต
แต่หากจะก่อกบฏให้ได้ผลแล้วไซร้ ก็มีแต่ต้องทำให้ระบบที่ดำรงอยู่ลุกเป็นไฟ
Photo credit: Warner Bros.
เราอาจเคยสงสัยว่าผู้เป็นอาชญากรนั้นไฉนจึงเลือกทางเดินที่ผิด
ทำไมจึงเลือกค้ายาเสพติด หรือฉกฉิ่งวิ่งราว ปล้นบ้านโน้นออกบ้านนี้ หรือทำตัวเป็นมิจฉาชีพหลอกลวงผู้คนไปเรื่อย และที่น่าฉงนที่สุดในปัจจุบันยุคของเราก็คือกลุ่มเด็กซิ่งรถจักรยานยนต์หรือ “เด็กแว้น” ที่คนจำนวนมากไม่เข้าใจว่าจะจับกลุ่มแข่งรถเสียงดังรบกวนผู้อื่นไปทำไม ไฉนจึงไม่เรียนหนังสือ แต่กลับสร้างปัญหาให้สังคม
คำถามคือ “เราเข้าใจปัญหาสังคมมากเพียงใด เข้าใจถึงรากเหง้าหรือต้นตอของปัญหาสังคมนี้มากแค่ไหน”
เป็นเรื่องธรรมดาว่า เมื่อใดเกิดปัญหาบางอย่างขึ้นในระบบชุมชนหรือสังคม มนุษย์มักเลือกโทษมนุษย์ด้วยกันเองมากกว่าจะโทษคำว่าระบบ
Image by Gerd Altmann from Pixabay
เพราะระบบไม่มีตัวตน ขณะที่มนุษย์ผู้ก่อการมีเนื้อหนัง จิตใจและหูตาให้รับรู้ มนุษย์เราส่วนใหญ่จึงทึกทักไปว่ามนุษย์ที่เหมือนกับเรานี้ควรมีวิจารณญาณหรือมองเห็นโลกแบบเดียวกับเรา
พวกเขาควรมองเห็นความสำคัญของการศึกษา การเคารพกฎหมาย การรักตนเอง และอีกสารพัดมุมมองแง่บวกที่มนุษย์พยายามคิดถึงเสมอเพื่อปลอบประโลมใจตนเอง
แต่ในความเป็นจริงนั้น มนุษย์เราต่างกัน และสายตาที่เรามองโลกนี้ก็ไม่เหมือนกัน
เมื่อเราอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบหนึ่ง แนวโน้มที่เราจะมองในแบบเดียวกับคนอีกฝั่งหนึ่งย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะขนาดพวกเดียวกันยังมองไม่เหมือนกันเลย
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมคนเช่นโจ้กเกอร์จึงถือกำเนิดขึ้นมาได้ เพราะในขณะที่บางคนยอมรับกับโชคชะตาอาภัพของตนเอง ก็มีอีกหลายคนที่ไม่อาจยอมรับ และในบรรดาคนที่ยอมรับไม่ได้ก็มีคนที่คิดการผิดแปลกพิสดารออกไป
เช่น แทนที่จะขอทานหรือกินหลับนอนตามใต้สะพานลอยหรือขอข้าวคนอื่นกิน คนที่พิสดารแต่เฉลียวฉลาดก็จะคิดถึงการหาเงินที่ไม่อยู่ในระบบอันชอบธรรม นั่นคือคิดถึงการฉกชิงวิ่งราวบ้าง หรือถ้าได้ไปอยู่ในเครือข่ายอาชญากรท้องถิ่นก็ข้ามขั้นไปค้ายา และอาจสถาปนาตัวเองเป็นเจ้าพ่อในเงามืดเมื่อเวลาอันเหมาะสมมาถึง
ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะ สังคมหรือระบบของสังคมละเลยคนชายขอบเหล่านี้ เมื่อถึงจุดหนึ่งช่องโหว่ของระบบอาจสร้างคนที่พิสดารแปลกแยกกว่าคนอื่นขึ้นมา และคนเช่นนั้นก็อาจมีความคิดอุตริอยากล้มล้างระบบทั้งหมดเลยก็ว่าได้
เหมือนเช่นที่โจ้กเกอร์ได้เข้าใจถึงความหมายของการใช้ความรุนแรงในการฆ่าผู้อื่น และมองเห็นผลกระทบสืบเนื่องจากอาชญากรรม นั่นแหละที่ทำให้โจ้กเกอร์ตัดสินใจจะเป็นโจ้กเกอร์ไม่ใช่เพื่อให้ผู้อื่นมาชื่นชมตน แต่เพราะเขาเห็นแล้วว่าสังคมที่อยู่กันอย่างปกติสุขของมนุษย์ทั่วไปคือสังคมที่มีความบกพร่องอยู่เต็มไปหมด และเขาเองก็คือผลผลิตของความบกพร่องนั้น
เขาจึงอยากจะล้อเล่นกับระบบ แต่เขาจะเอาคืนมันให้เจ็บแสบ จะให้มันต้องร้อนร้าวเหมือนถูกไฟเผาและกระทืบซ้ำ และเขาจะยืนมองมัน หัวเราะใส่มันให้สาแก่ใจที่มันเคยทำกับเขา
Photo by raquel raclette on Unsplash
แน่นอนว่า...เราคงไม่อยากให้โลกนี้มีโจ้กเกอร์ขึ้นมาจริง ๆ
โจ้กเกอร์เป็นหนึ่งในวายร้ายของการ์ตูนแบทแมนที่มีสีสันมากที่สุดตัวหนึ่ง แต่ความโดดเด่นของโจ้กเกอร์นั้นเพิ่งได้รับการปรุงแต่งให้มีความน่าสนใจก็ในฉบับภาพยนตร์ที่ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1989 ภายใต้การกำกับของทิม เบอร์ตัน และได้แจ็ค นิโคลสันมารับบทโจ้กเกอร์
Photo credit: Warner Bros.
โดยภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวยังได้ฉายให้เห็นต้นกำเนิดของโจ้กเกอร์ที่ค่อนข้างทารุณผิดแปลกไปจากความเป็นการ์ตูน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เห็นความวิปริตของโจ้กเกอร์นั่นเอง
บทของโจ้กเกอร์กลายเป็นมาเป็นบทที่น่าสนใจและทรงพลังอีกครั้งในแบทแมน The Dark Knight ของคริสโตเฟอร์ โนแลนซึ่งออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 2008
เป็นโจ้กเกอร์ที่มีความวิปริตผิดแผกจากมนุษย์แต่ก็เต็มไปด้วยพลัง ความเฉลียวฉลาด ความเจ้าเล่ห์ และความมุทะลุดุดัน อย่างไรก็ดี โจ้กเกอร์ใน The Dark Knight เลือกที่จะไม่เผยให้เห็นที่มาที่ไป ภาพยนตร์ในยุคหลังของ DC จึงเลือกที่จะมุ่งประเด็นไปที่จุดกำเนิดของโจ้กเกอร์
Photo credit: Warner Bros.
การสร้างจุดกำเนิดให้โจ้กเกอร์ใน Joker (2019) นับเป็นการนำเสนอที่น่าทึ่ง งดงาม น่าเศร้า และน่าสมเพช เพราะโจ้กเกอร์เป็นผลผลิตของระบบอันบกพร่องของสังคมมนุษย์
ในสังคมที่ทุนนิยมกลืนกินทุกสิ่งทุกอย่าง ระบบของรัฐแทบไม่อาจช่วยเหลือให้ประชาชนทั่วไปมีกินอย่างอิ่มหนำ ซ้ำร้ายคนชายขอบทั้งหลายก็ไม่อาจหลีกลี้ไปจากมหานครใหญ่ หากมีคนบอกพวกเขาให้ไปอยู่ชนบท หรือทำไร่ไถนาที่บ้านเกิด พวกเขาอาจตอบกลับมาว่า “ก็แล้วจะให้ไปอยู่ที่ไหน” เพราะถ้าไม่อยู่ที่นี่ก็มีแต่ไปตายเอาดาบหน้าที่อาจจะแย่ยิ่งกว่า
ตัวละครโจ้กเกอร์จึงสะท้อนให้เราเห็นภาพของสังคมที่ค่อย ๆ พังทลายลงอย่างช้า ๆ ที่ว่าพังก็คือสังคมของมนุษย์ในมหานครอันยิ่งใหญ่นั้นหาใช่สวรรค์วิมาน แต่เป็นแหล่งอาชญากรรมที่เต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบ การดูถูก และการเป็นทาสของเงินตรา ชื่อเสียง และการมีตัวตนต่อหน้าผู้อื่น
เมื่อมองในแง่นี้แล้ว พวกเราทุกคนอาจมีความเป็นโจ้กเกอร์ บางทีเราอาจรับบางส่วนบางเสี้ยวที่แตกร้าวในตัวของโจ้กเกอร์มาไว้ในตัวเราโดยไม่รู้ตัวก็ได้
เพราะที่สุดแล้วพวกเราทุกคนก็ยังคงต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดต่อไปในสังคมที่เราตระหนักอย่างขมขื่นในบางคราว่า...
"มันช่างไม่ยุติธรรมกับเราเอาเสียเลย"
โฆษณา