6 ต.ค. 2019 เวลา 14:06 • สุขภาพ
"MPS" 👉โรคยอดฮิตคนวัยทำงานคืออะไร?
MPS​ ย่อมาจาก​ Myofacial pain syndrome เป็นกลุ่มของอาการ​ "ปวดกล้ามเนื้อ" และ​ "เนื้อเยื่อพังผืด​ กลุ่มโรคนี้อาจจะมีอาการปวดเมื่อยแบบเล็กน้อย​ แต่ถ้าเป็นแล้วจะบั่นทอนความสุขจากการทำงานได้มาก
✍️แล้วอาการของคนเป็นโรคนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
ลองสังเกตุตัวเองกันดูนะครับ​ ว่าตัวเราเองมีอาการแบบนี้บ้างหรือไม่
👉 ปวดตื้อๆ​ จะพบบ่อยบริเวณ​ "ต้นคอ​ บ่า​ สะบัก​ และบั้นเอว"
👉 อาจมี​ปวดร้าวไปเฉพาะที่ได้​ เช่น​ ปวดบ่าด้านขวาแล้วร้าวขึ้นก้านคอหรือขมับขวา​ เป็นต้น
👉 อาจมีอาการปวดตลอดเวลา​ หรือปวดเมื่อใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ
✍️ ต่อไปเรามาดูสาเหตุ​กันว่า​ อาการดังกล่าวข้างต้น​ เกิดจากสาเหตุ​อะไรได้บ้าง?
👉 สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก​ การทำงานในท่าเดิมนานๆ​ ซ้ำๆ​ หรือการอยู่ในท่าทางหรือภาวะที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน​ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวผิดปกติ​ เกิดของเสียคั่งในกล้ามเนื้อ​ ทำให้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ​ เมื่อรักษาด้วยยาแก้ปวดก็จะบรรเทาอาการได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น​ ตราบใดที่เรายังไม่แก้ไขท่าทาง​ที่ผิดปกติ
พอถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า... ถ้าเป็นแล้วจะรักษาให้หายขาดได้ไหม​ แล้วต้องทำอย่างไร?
👉 โรค​ MPS​ นี้สามารถรักษาให้หายขาดและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำได้​ หากคุณได้รับคำแนะนำ​ กลับไปค้นหาและแก้ไข​ "ท่าทางที่ผิดปกติ" ในชีวิตประจำวัน​ โดนคุณต้องสังเกตุท่าทางที่มักอยู่ในท่านั้นๆ​ เป็นเวลานาน​ หรือสังเกตุจากกิจกรรม​ที่มักกระตุ้นให้มีอาการปวด​ เช่น​ หากเรานั่งใช้เมาส์​คลิกทำงานหน้าคอมฯ นานๆ​ จะรู้สึกปวดตื้อๆ​ ตึงๆ​ บริเวณบ่า​ หรืออาจร้าวขึ้นบริเวณต้นคอได้​ เป็นต้น
ดังนั้น.. หากเราเป็นคนหนึ่งที่ต้องทำงานในท่าเดิมๆ​ ตลอดวัน​ ควรทำอย่างไร?
✍️ ท่าทางที่เหมาะสมทั้ง​ การนั่ง​ การยืน รวมทั้งการนอน​ ควรจัดให้กล้่ามเนื้อ​อยู่ใน​ "สภาพ​ที่สมดุล" หลีกเลี่ยงการนั่งตัวงอ ตัวเอียง​ หลังค่อม​ ห่อไหล่​ ศีรษะ​ควรตั้งตรง​ หลีกเลี่ยงการก้ม​ เงย​นานๆ​ รวมทั้งสภาพแวดล้อมภายนอก​ เช่น​ โต๊ะ​ เก้าอี้​ คอมพิวเตอร์​ ฯ​ ก็ต้องจัดให้อยู่ในลักษณะ​ที่เหมาะสมกับสรีระรูปร่างของเรา
✍️ ควรหยุดพักเปลี่ยนท่าทางระหว่าง​วันเป็นระยะ​ เช่น​ ลุกขึ้น​ หรือบิดตัวไปมาเป็นระยะ
✍️ หากมีอาการตึงกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่ง​ ควรทำการยืดกล้ามเนื้อใน​ "ท่าทางเฉพาะ" ต่อกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ
วิธีการยืดกล้ามเนื้อในแต่ละมัดกล้ามเนื้อ​ มีอยู่ด้วยกัน​ 5 ท่าหลักๆ​ โดยแต่ละท่ายืดค้างไว้​ 30​ วินาทีต่อครั้ง​ ทำซ้ำประมาณ​ 10 ครั้ง​ วันละ​ 2 -​ 3 รอบ​ แต่ถ้าทำแล้วปวดมากขึ้นควรหยุดทำแล้วปรึกษาคุณ​หมอก่อนนะครับ
🗣️ คราวนี้มาดูวิธีการยืดกล้ามเนื้อแต่ละส่วนกันว่าทำอย่างไรบ้าง?... ไปดูกันเลยครับ
1. ท่าการยืดกล้ามเนื้อบริเวณ​ "คอ"
ค้างไว้​ 30​ วินาทีต่อครั้ง​ ทำซ้ำ 10 ครั้ง​ วันละ​ 2 -​ 3 รอบ​
2. ท่าการยืดกล้ามเนื้อบริเวณ​ "บ่า"
ยืดค้างไว้​ 30​ วินาทีต่อครั้ง​ ทำซ้ำ​ 10 ครั้ง​ วันละ​ 2 -​ 3 รอบ​
3. ท่าการ​ยืด​กล้ามเนื้อ​บริเวณ​ "สะบัก"
ยืดค้างไว้​ 30​ วินาทีต่อครั้ง​ ทำซ้ำ 10 ครั้ง​ วันละ​ 2 -​ 3 รอบ​
4. ท่าการ​ยืด​กล้ามเนื้อ​บริเวณ​ "หลัง"
ยืดค้างไว้​ 30​ วินาทีต่อครั้ง​ ทำซ้ำ 10 ครั้ง​ วันละ​ 2 -​ 3 รอบ​
5. ท่าการ​ยืด​กล้ามเนื้อ​บริเวณ​ "สะโพก"
ยืดค้างไว้​ 30​ วินาทีต่อครั้ง​ ทำซ้ำ​ 10 ครั้ง​ วันละ​ 2 -​ 3 รอบ​
คราวนี้ก็บริหารกล้ามเนื้อกันได้​เลยนะครับ​ ใครปวดเมื่อย​บริเวณ​ไหนก็ทำตามขั้นตอนในรูปด้านบน​ หากปวดเยอะสามารถรับประทานยาบรรเทาอาการปวดได้​ คือ​ ยา​พาราเซตามอล​ ซึ่งเป็นยาสามัญ​ประจำบ้าน​ แต่หากทานแล้วไม่ดีขึ้นต้องปรึกษา​แพทย์​หรือ​เภสัชกร​นะครับ
สรุปอย่างคร่าวๆ​ โรค​ MPS​ อีกสักรอบนะครับ
🗣️MPS เป็นกลุ่มโรคอาการปวดของกล้ามเนื้อและผังผืด​ เกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งในท่าทางเดิมที่นานเกินไป​ ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ​ สามารถป้องกันได้ด้วยการจัดท่าทางการทำงานให้เหมาะสม​ พักเปลี่ยนท่าทางเป็นระยะ​ และใช้ท่ากายบริหารเฉพาะส่วนมัดกล้ามเนื้อที่ปวดข้างต้นให้เหมาะสมนะครับ​ ❤️
สำหรับคนที่อ่านมาจนจบบทความนี้...ซึ่งผมใช้เวลาในการเรียบเรียงข้อมูลค่อนข้างนาน​ เพื่อให้ทุกคนได้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น... หากมีข้อผิดพลาดหรือข้อสงสัย​ สามารถคอมเมนท์​บอกใต้โพสต์​ได้เลยนะครับ...ขอบคุณครับ
ด้วยความรักและหวังดี...เภสัชกรป้อนข่าว​🗣️❤️
Reference: ชนัดดา​ วงศ์เอกชูตระกูล.Myofacial​ pain syndrome. [cite 2019 Oct 6]. Available from : https://bit.ly/2Mjt3wx
โฆษณา