7 ต.ค. 2019 เวลา 12:00
สวัสดีครับ เผลอแป๊บเดียวก็ย่างเข้าปลายปีอีกแล้ว
เหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 เดือนเต็ม ก็จะสิ้นปี
😉 แอดพี่บีขอนำเสนอซีรีส์ใหม่...
ที่จะช่วยเพื่อนๆ ในการวางแผนภาษีในปีนี้
พร้อมแล้ว มาลุยกันเลยครับ!
💰 Tax Series #1
: เงินเดือนเท่านี้...จ่ายภาษีเท่าไร?
🙋‍♂️ ใครเคยทดลองคำนวณภาษี
ที่ตัวเองต้องจ่ายในแต่ละปีบ้างครับ?
น้องๆ หลายๆ คน บอกกับพี่บีว่า...
"ภาษีก็ทำอยู่วันเดียวเนี่ยแหละ ตอนยื่น"
ซ้ำร้าย...บางคนทำวันสุดท้าย ยื่นไม่ทันก็มี 😓
แต่ละปี...ได้แต่บ่นกับตัวเองว่า
"เสียภาษีเพิ่มอีกแล้ว" 😥
หรือ "ดีจังได้เงินภาษีคืนตั้งสองหมื่น" 😁
(ไม่ใช่อะไรนะ...ไม่เคยทำรายการลดหย่อนเอาไว้)
📌 ขอย้ำเอาไว้ตรงนี้ครับว่า
เงินคืนภาษี...ไม่ใช่โบนัสที่เราได้มาฟรีๆ
แต่คือเงินของเราเองนั่นแหละครับ..ที่จ่ายเกิน
📝 หากวางแผนภาษีให้ดี
นอกจากจะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า
แล้วยังสามารถนำเงินส่วนเกินที่จ่ายไว้
ไปทำให้เกิดประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง
ดีกว่าเอาเงินไปฝากไว้เฉยๆ กับรัฐ
เพื่อมาขอคืนทีหลังแน่นอน
เพราะนอกจากไม่ได้ดอกเบี้ยแล้ว
ยังเสียโอกาสนำเงินส่วนนี้ไปทำให้งอกเงยอีก
เกริ่นมานาน เข้าเรื่องกันเลยดีกว่าครับ
ยาวหน่อย แต่รับรองว่าเข้าใจง่าย เอ้า...เริ่ม! 😀
(1) ด่านแรก...ก่อนที่เริ่มวางแผนลดหย่อนภาษี
ต้องรู้ก่อนครับว่า "เรามีภาระภาษีที่ต้องจ่ายเท่าไร?"
💰 เงินที่เราต้องจ่าย มาจาก "เงินได้สุทธิ"
ซึ่งคำนวณง่ายๆ ตามสูตรในภาพด้านล่างนี้เลย
อ้อ...ในภาพนี้ ยกตัวอย่างเป็นคนโสดนะครับ
หากเป็นคนมีครอบครัว อาจจะมีค่าลดหย่อนสามี-ภรรยา หรือบุตรเพิ่มเติมจากนี้
รายได้ = รายได้ทั้งปี รวมโบนัส (ถ้ามี) ด้วยนะครับ
ค่าใช้จ่าย = กฎหมายกำหนดให้หักได้เป็นต้นทุนการทำมาหารายได้ของเราที่ 50% ของรายได้ทั้งปี
"แต่ไม่เกิน 100,000 บาท"
ค่าลดหย่อน = สิทธิประโยชน์ที่ช่วยลดภาระภาษี
ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนที่มีติดตัวมาของตัวเอง ครอบครัว หรือส่วนอื่นๆ ที่มีเพิ่มเติม
💰 เงินได้สุทธิ...จึงมาจากการหักลบสามส่วนนี้
ออกจากรายได้ทั้งหมดของเรานั่นเอง
สังเกตไหมครับ ว่าส่วนที่จะช่วยให้เราจ่ายภาษีน้อยลง คือ ส่วนที่เป็น "ค่าลดหย่อน"
แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องตั้งหน้าตั้งตาเพิ่มค่าลดหย่อนเยอะๆ เพื่อที่จะจ่ายภาษีน้อยลงนะครับ
สิ่งสำคัญคือ...
เราต้องรู้ก่อนว่าเราอยู่ในอัตราฐานภาษีขั้นใด
เพราะการลดหย่อนสามารถทำได้
ตามอัตราของฐานที่เราอยู่ครับ
พร้อมแล้วมาดูต่อที่ด่านถัดไปกันเลยครับ
(2) ด่านที่สอง...รู้จักอัตราภาษี
ซึ่งเป็นตัวคูณ เงินได้สุทธิของเรา
อัตราภาษีคิดเป็นแบบขั้นบันได
ตั้งแต่ 5% - 35% ตามระดับเงินได้สุทธิ
🔎 ลองมาดูตัวอย่างกันนะครับ
สมมติว่า คุณ A ทำงานมีเงินเดือน 40,000 บาท
ไม่มีโบนัส 😭 มีค่าลดหย่อนเฉพาะประกันสังคมที่จ่าย 750 บาททุกเดือน
เมื่อคิดเงินได้สุทธิออกมา จะอยู่ที่ 311,000 บาท
ดูจากตารางแล้วตกที้ฐานภาษีขั้นที่ 3 (10%)
🙅‍♂️ แต่ช้าก่อน! ระดับฐานภาษี 10%
ไม่ได้หมายความว่าจะนำเงิน 311,000 บาท
ไปคูณ 10% ตรงๆ เลยนะครับ
แต่ให้คิดภาพว่าแต่ละฐาน...
มีกล่องภาษีที่เก็บเงินตามขั้นอยู่
เราต้องหย่อนเงินในกล่องนี้ตั้งแต่ฐานแรก
ทยอยขึ้นไปจนครบจำนวนเงินได้สุทธิของเรา
🗳 กล่องแรก : 0%
บรรจุเงินได้สูงสุด 150,000 บาท
= คุณ A หยอดเงินก้อนแรกลงไปเต็มพอดี ที่ 150,000 บาท แต่ไม่ต้องเสียภาษี เพราะฐานนี้ยกเว้น
🗳 กล่องที่สอง : 5%
บรรจุเงินได้สูงสุด 150,000 บาท
= คุณ A หยอดเงินก้อนที่สองลงไป เต็มกล่องที่ 150,000 บาท (ส่วนนี้นำมาคูณ 5%)
🗳 กล่องที่สาม : 10%
บรรจุเงินได้สูงสุด 200,000 บาท
= คุณ A หยอดเงินส่วนที่เหลืออีก 11,000 ลงไป
ครบเงินที่มี (ส่วนนี้นำมาคูณ 10%)
การคำนวณดูจากภาพด้านล่างได้เลยครับ 👇
หลังจากคูณตามฐานภาษีแต่ละขั้นแล้ว
และไม่มีค่าลดหย่อนเพิ่มเติม
คุณ A จะต้องจ่ายภาษี 8,600 บาท
(3) ด่านที่สาม...
หากต้องการจ่ายภาษีลดลงจะทำอย่างไร?
💁‍♂️ ง่ายๆ ครับ "เพิ่มค่าลดหย่อน เพื่อลดฐานภาษี"
กรณีนี้จะเห็นว่า คุณ A มีส่วนที่เลยมาอยู่ที่ฐาน 10% จำนวน 11,000 บาท หากลดส่วนนี้ได้
อัตราภาษีที่ต้องจ่ายจะเด้งลงมาอยู่ที่ฐาน 5% แทน
🔎 สมมติว่า คุณ A มีการส่งสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ 5% ของเงินเดือน
(40,000 × 5%) × 12 เดือน = 24,000 บาท
เท่ากับว่าคุณ A มีค่าลดหย่อนเพิ่มอีก 24,000 บาท
📝 เงินได้สุทธิ จาก 311,000 บาท
จะเหลือ 287,000 บาท
ซึ่งอยู่ในฐานภาษี 5%
(287,000 - 150,000) × 5% = 6,850 บาท
คุณ A สามารถประหยัดเงินที่ต้องจ่ายภาษี
ลงไปได้ 1,750 บาท
แถมยังได้สะสมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณอีก 😀
ตัวอย่างข้างต้นอาจจะดูเป็นเงินไม่มากเท่าไร
แต่ถ้าเงินได้ของเรา ยิ่งอยู่ในฐานภาษีสูงขึ้นเท่าไร
เงินก้อนที่ต้องจ่ายนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
พี่บีสรุปเป็นตารางคร่าวๆ ตามเงินเดือนมาให้ดูกัน
💁‍♂️ ลองดูนะครับว่าเพื่อนๆ อยู่ในฐานใด
และต้องจ่ายภาษีสูงสุดแค่ไหน
🔎 นอกจากเช็กค่าลดหย่อนต่างๆ ที่มี เช่น
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว
- ค่าลดหย่อนครอบครัว พ่อแม่ สามีภรรยา บุตร
- อสังหาริมทรัพย์
- เงินบริจาค
- ค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
แล้วเรายังสามารถวางแผนการเงินเพื่อลดหย่อนเพิ่ม ในส่วนของการออมต่างๆ ได้อีก
เช่น ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ กองทุนรวม LTF และ RMF
💰 ซึ่งการลดหย่อนด้วยการออม
นับว่าได้ประโยชน์สองต่อ
ทั้งสร้างรายได้ในอนาคต
และลดภาษีที่ต้องจ่ายตอนนี้
สนใจแบบไหน ลองเลือกดูนะครับ 😀
สุดท้ายนี้ แม้ปัจจุบันจะมีเครื่องมือช่วยคำนวณภาษีมากมาย แต่การรู้พื้นฐานเอาไว้ จะช่วยให้เราเข้าใจ ที่มาที่ไป และใช้เครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นครับ 😀
หวังว่าบทความในชุด Tax Series นี้
จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ บ้าง ไม่มากก็น้อย
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านกันนะครับ 😀🙏
ติดตาม #TaxSeries วางแผนภาษีง่ายๆ
กับกรุงเทพประกันชีวิต ได้ที่นี่
แล้วพบกันในตอนต่อไปนะครับ 💙
โฆษณา