7 ต.ค. 2019 เวลา 03:16 • สุขภาพ
ขาเป็นตะคริวตอนนอน (Nocturnal cramp)..แคลเซี่ยม and beyond
ข้าพเจ้าเชื่อว่า ภาวะนี้น่าจะพบบ่อยจริง เพราะตัวอย่างกรณีศึกษาวันนี้ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือ ข้าพเจ้าเอง ที่ในช่วงอายุ 10-15 ปี มีอาการน่องเป็นตะคริวขณะหลับบ่อยมาก เป็นแต่ละทีก็ถึงกับตื่นมาร้องโอดโอย ร้อนถึงแม่ต้องมาจับเท้าเหยียดน่องกลางดึก
แม่พยายามหาวิธีสารพัดมาช่วยให้อาการดีขึ้น ทั้งคะยั้นคะยอให้ดื่มนม หาแคลเซียมรสส้มเม็ดฟู่ละลายน้ำ มาให้ ซึ่งข้าพเจ้าก็กินบ้างไม่กินบ้างตามประสามนุษย์นิสัยแมว (ดึงหางจะไปหน้า ดึงหัวไปหน้าจะถอยหลัง :) แต่อาการตะคริวก็เป็นห่างขึ้น จากเกือบทุกวันเป็น 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์...
และหายไปเมื่อข้าพเจ้าขึ้นชั้นมัธยมปลาย
ตัดฉากมา..ไม่นานมานี้ ข้าพเจ้าตกใจเมื่ออาจารย์อาวุโสท่านหนึ่ง ขอให้สั่งยาต้านมาลาเรียรุ่นคุณปู่ ชื่อ Quinine 200 mg ก่อนนอน เพื่อลดอาการตะคริว ซึ่งท่านบอก 'ได้ผลชะงัด'แต่ยา Quinine ในการรับรู้ของข้าพเจ้าคือ ยาอันตรายที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชัก ตาบอด ได้ แต่ท่านก็ยืนยันว่าท่านใช้มา 40 ปีแล้วไม่มีปัญหา....
และก็ได้ผลจริง โชคดีไม่มีผลข้างเคียงอย่างที่กลัวค่ะ
บางท่านก็มีประสบการณ์ แก้ปัญหาตะคริวตอนกลางคืนสำเร็จ โดยใส่ถุงเท้าที่ขา
ตะคริว (cramp) เกิดจากอะไร?
เมื่อพูดถึงสาเหตุการเกิดตะคริว หรือ 'ภาวะกล้ามหดไม่ยอมเลิก'
ข้าพเจ้าจะแยกต้นเหตุเป็นสองส่วน
1.เกิดจาก ผู้ปฎิบัติงาน คือ กล้ามเนื้อ (myogenic)
'กล้ามหดไม่ยอมเลิก'
2.เกิดจาก ผู้สั่งการ คือเส้นประสาทกับไขสันหลัง ( Neurogenic)
ภาพประยุกต์จาก (1)
เริ่มทีสาเหตุจากกล้ามเนื้อ Myogenic cramp
...
อาจฟังดูประหลาด แต่กล้ามเนื้อเราต้องใช้พลังงาน (ATP) ทั้งการหดตัว และการคลายตัว
โดยในกระบวนการคลายตัว จะอาศัยเกลือแร่แคลเซียม (Ca) ร่วมด้วย
ภาวะใด ที่ทำให้กล้ามเนื้อขาดพลังงาน เช่น เลือดมาเลี้ยงไม่ดี หรือ กล้ามเนื้อมีกระบวนการเผาผลาญแป้ง ไขมัน ไม่ดี หรือ ภาวะขาดแคลเซียม จึงเกิดตะคริวได้
ภาวะนี้พบได้ในคนปกติ วัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ ที่ร่างกายนำแคลเซียมไปใช้ในการเจริญเติบโต
ในคนที่ออกกำลังกล้ามเนื้อหักโหม
และพบในคนมีโรคเรื้อรังที่ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดไปขาไม่ดี เช่น เบาหวาน, หลอดเลือดดำขาคั่ง (venous insufficiency)
ต่อกันที่ต้นเหตุจากระบบประสาท Neurogenic
...
ปกติกล้ามเนื้อเรา จะมีระบบควบคุมไม่ให้หดสั้นหรือเหยียดยาวเกิดไป ด้วยการรับฟังสัญญานสองฝ่าย (คล้ายๆ สภามีฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล)
คือฝ่ายสนับสนุนให้หดตัว จากมิเตอร์ในกล้ามเนื้อ เรียกว่า muscle spindle
กับฝ่ายสนับสนุนให้เหยียดคลาย จากมิเตอร์ในเส้นเอ็น เรียกว่า tendon spindle (เรียกอีกชื่อว่า golgi tendon)
จึงเป็นเหตุผลว่าเวลาเกิดตะคริว การเยียดเอ็นของกล้ามเนื้อที่หดเป็นตะคริว จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลาย ผ่านการกระตุ้น tendon spindle นั่นเอง...
1
การเสียสมดุล ไม่ว่าจะเกิดจากมีอะไรไปทำให้สัญญานฝ่ายสนับสนุนหดตัวดังกว่ามาก (hyperexcitability) ไม่ว่าจะจากเส้นประสาทหรือไขสันหลัง ก็จะเกิดตะคริวได้ง่าย
ภาวะนี้พบในคนที่มีรอยโรคในไขสันหลัง, เส้นประสาทถูกกดทับ, เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม
เหตุที่ตะคริวมักเป็นตอนกลางคืน สันนิษฐานว่า เกิดจากการที่กล้ามเนื้ออยู่เฉยๆ ไม่มีสัญญานขอให้คลายตัวจาก tendon spindle เลย จึงเป็นที่มาของการเหยียดยืด"เอ็น" กล้ามเนื้อก่อนเข้านอน น่าจะช่วยลดการเกิด cramp ได้ หลักการสำคัญ คือ tendon spindle เป็นมิเตอร์ที่รับรู้ช้า การเหยียดจึงต้องค้างไว้ไม่ต่ำกว่า 30 วินาที (2)
แนวทางบรรเทาอาการตะคริว
https://www.zehrcenter.com/preventing-muscle-cramps/
เมื่อจัดกลุ่มตามสาเหตุ อาจแบ่งแบบนี้ค่ะ
1.หากคิดถึง myogenic เป็นหลัก
- ทานแคลเซียมเสริม
- ดื่มน้ำให้พอเพียง-การนวดประคบ หรือใส่ถุงเท้าเพิ่มความอุ่นช่วยเพิ่มเลือดไหลเวียน
- warm up ไม่ออกกำลังหักโหม
2.หากคิดถึง neurogenic เป็นหลัก
- การเยียดยืดกล้ามเนื้อ "ก่อนเข้านอน"
- การใช้ยาทีลด hyperexcitabilrty เช่นยา quinine, carbamazepine,diltiazem หรือ carnabinoid ยาเหล่านี้มีหลักฐานว่าได้ผล แต่มีผลข้างเคียงจึงควรเลือกใช้เฉพาะรายที่ไม่ตอบสนองวิธีอื่น. Gabapentin ไม่ได้ผล
- วิตามินเสริมการทำงานของเส้นประสาท เช่น vitamin B complex, vitamin E อาจช่วย(3)
เขียนเสียเพลิน ขอไปทำงานต่อละคะ ใครมีทิปการแก้ปัญหาขาเป็นตะคริวก่อนเชิญแชร์ จะขอบคุณอย่างสูงค่ะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา