8 ต.ค. 2019 เวลา 10:30 • การศึกษา
กูปรี วัวป่าที่สาบสูญ🐂
กูปรี หรือ โคไพร เป็นสัตว์จำพวกกระทิงและวัวป่า
ตัวโต โคนขาใหญ่ ปลายหางเป็นพู่ขนเหมือนพู่กัน
กูปรี สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์
กูปรีตัวผู้ จะมีขนสีดำ ตัวใหญ่ มีน้ำหนักประมาณ 700 - 900 กิโลกรัม เขาตัวผู้นั้นจะโค้งเป็นวงกว้าง แล้วตีวงโค้งไปข้างหน้า ปลายเขาแตกออกเป็นพู่คล้ายเส้นไม้กวาดแข็ง ขาทั้ง 4 มีถุงเท้าสีขาวเหมือนกระทิง ส่วนตัวผู้ที่แก่นั้นจะมีเหนียงใต้คอยาวห้อยลงมาจนเกือบจะถึงดิน เชื่อว่าใช้ในการระบายความร้อน
ภาพระยะใกล้ตรงเขาของกูปรี
กูปรีตัวเมีย จะมีขนสีเทา มีเขาตีวงแคบแล้วม้วนขึ้นด้านบน ไม่มีพู่ที่ปลายเขา โคนเขาใหญ่ ปลายเขาแหลม ไม่มีการแตกกิ่ง ยาวประมาณ 1 เมตร
กูปรีแม่ลูก
กูปรีมักจะหากินตอนกลางคืน คาดว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมนุษย์ เมื่อถึงรุ่งเช้าก็จะกลับเข้าป่าทึบไป นอนพักผ่อนตอนบ่ายโดยจะล้อมกันเป็นวงเล็ก ๆ และแน่นหนา ตกเย็นจึงออกมาที่ทุ่งหญ้าหากินอีกครั้ง หากเป็นในฤดูฝนกูปรีอาจเข้าป่าทึบน้อยลงเนื่องจากเลี่ยงแมลงรบกวน อาหารได้แก่ ไผ่ , หญ้าข้าวเปลือก และหญ้าโรด
กูปรี สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์
กูปรีมักจะอาศัยกันเป็นฝูง ฝูงหนึ่งประกอบด้วยตัวเมียและเด็ก ส่วนตัวผู้จะแยกออกไปรวมจับกลุ่มเป็นฝูงชายล้วนต่างหาก ในฤดูแล้งจึงมาร่วมฝูงกับตัวเมีย ฝูงหนึ่งอาจมากถึง 20 ตัว กูปรีมีนิสัยตื่นตัวไม่อยู่นิ่ง ชอบขุดดินและแทงตอไม้ ซึ่งเป็นเหตุที่ปลายเขาแตกเป็นพู่ เปรียบเทียบกับวัวแดงแล้ว กูปรีตื่นตัวมากกว่าและมีท่วงท่าการวิ่งสง่างามกว่า บางครั้งกูปรีก็หากินร่วมกับวัวแดงและควายป่า ชอบลงโป่งและตาน้ำ เดินหากินคืนหนึ่งอาจไกลถึง 15 กิโลเมตร สมาชิกในฝูงมีการแยกออกและกลับมารวมกันอยู่เสมอ
กูปรีนั้นมีเขตกระจายพันธุ์อยู่ในเทือกเขาพนมดงรัก บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา-ลาว-เวียดนามเท่านั้น อาศัยอยู่ในป่าเปิด ทุ่งหญ้าสลับป่าทึบ คาดว่าในฤดูฝนฝูงกูปรีจะอพยพขึ้นที่สูง
แต่ปัจจุบันไม่มีรายงานการพบเห็นกูปรีมานานแล้ว จนครั้งหนึ่งเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว แต่ก็ยังมีนักวิชาการหลายคนที่เชื่อว่าอาจจะยังพอมีหลงเหลืออยู่ในชายแดนไทยกับกัมพูชาแถบจังหวัดศรีสะเกษ รวมถึงบริเวณชายแดนระหว่างลาวตอนใต้และเวียดนามด้วย เพราะมักจะมีข่าวว่าพบสัตว์ลักษณะคล้ายกูปรีบ่อย ๆ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่น่าเชื่อถือพอ
สัญลักษณ์ของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์
ด้วยความที่กูปรีเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ผู้ก่อตั้ง มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ใช้รูปกูปรี เป็นสัญลักษณ์ของมูลนิธิ เพื่อเน้นถึงความสำคัญของสัตว์หายากที่มีอยู่ในภูมิภาคอินโดจีน ไม่มีที่อื่นในโลกและเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์
สัญลักษณ์ของทีมฟุตบอลศรีสะเกษ
นอกจากนี้แล้ว ทีมฟุตบอลจังหวัดศรีสะเกษมีฉายาว่า "กูปรีอันตราย" และใช้กูปรีเป็นสัญลักษณ์ประจำทีมด้วย เพราะว่ากูปรีเป็นสัตว์ที่พบได้เฉพาะที่จังหวัดศรีสะเกษเท่านั้น
และสำหรับประเทศกัมพูชา กูปรีก็ยังเป็นสัตว์ประจำชาติของกัมพูชาอีกด้วย
กูปรี สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 4
ปัจจุบันคาดว่าเหลือกูปรีอยู่ราว 100-300 ตัวเท่านั้น IUCN ได้จัดสถานภาพไว้ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CE) ไซเตสจึงจัดกูปรีไว้ในบัญชีหมายเลข 1 ในประเทศไทย และเป็นหนึ่งใน 15 สัตว์ป่าสงวน ในลำดับที่ 4
ข้อมูลอ้างอิง📖
โฆษณา