8 ต.ค. 2019 เวลา 07:05 • ประวัติศาสตร์
แหล่งภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์
ประตูผา อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง
เจาะเวลาหาอดีต: ดูสังคมเมื่อ 3,000ปีก่อน
แหล่งภาพเขียนสีโบราณประตูผา
ภาพเขียนสีประตูผาท่านจารจด
เล่าเป็นบทความเป็นไปในหนหลัง
สามพันปีผ่านพ้นคงยืนยัง
ทรงพลังโดดเด่นในแผ่นศิลา..
ประตูผาเป็นแหล่งภาพเขียนสีที่อุดมสมบูรณ์ทีสุดของภาคเหนือ,มีภาพเขียนกว่า 1,872 ภาพ มีอายุก่อนประวัติศาสตร์เก่ากว่า 3พันปี ตั้งอยู่บนถนนสายลำปาง-งาวกม.ที่48 ด้านขวามือของถนนหลังศาลเจ้าพ่อประตูผา เขียนบนผนังหน้าผายาวราว 300เมตร แสดงชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมประเพณีพิธีกรรมตลอดจนเครื่องมือที่ใช้ เช่นการล่าสัตว์ เลี้ยงสัตว์ การเต้นรำ การฝังศพเป็นต้น
ภาพเขียนสีพบกระจายอยู่หลายกลุ่มเป็นระยะๆ พบตั้งแต่ในระดับสูงประมาณเอวจนถึงสูงกว่า 10 เมตร
จากการศึกษาของกรมศิลปากร พบว่าภาพทั้งหมดมีมากกว่า 1,872 ภาพ โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ตามลักษณะการเว้าของหน้าผา เรียงต่อกันเป็นช่วงๆ แต่ละกลุ่มมีชื่อและรายละเอียดภาพโดยสังเขป ดังนี้
ภาพกลุ่มที่ 1
ภาพกลุ่มที่ 1ผาเลียงผา ประกอบไปด้วยภาพเลียงผา วัว เต่า นก ม้า ปะปนกับภาพมือทั้งแบบเงาทึบและกึ่งเงาทึบที่มีการตกแต่งลวดลายภายในมือเป็นลายเส้นแบบต่างๆ บางภาพประทับอยู่บนภาพสัตว์ บางภาพประทับซ้อนกันหลายครั้ง และบางภาพประทับอยู่บนภาพสัญลักษณ์ นอกจากนี้ยังพบภาพวาดที่แสดงถึงเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์
ภาพกลุ่มที่ 2
ภาพกลุ่มที่ 2ผานกยูง ประกอบไปด้วยภาพคนเพศชาย ภาพสัตว์คล้ายนกยูง ภาพสัตว์เลื้อยคลานประเภทตะกวด (?) พังพอน (?) กระรอก บ่าง ภาพสัญลักษณ์คล้ายดอกไม้ ภาพวัว ภาพสัญลักษณ์ทั้งรูปสี่เหลี่ยมที่มีการตกแต่งภายในและภาพภาชนะที่มีลักษณะคล้ายภาชนะที่ทำด้วยโลหะ
นอกจากนี้ยังมีภาพมือที่ทำด้วยเทคนิคการประทับแบบกึ่งเงาทึบ การพ่น และวาดแบบอิสระ
ภาพกลุ่มที่ 3
ภาพกลุ่มที่ 3-ผาวัว ประกอบไปด้วยภาพเงาทึบและภาพโครงร่างของสัตว์คล้ายวัว กระจง เก้งหรือกวาง บางภาพเป็นโครงร่างขนาดใหญ่ของสัตว์มีเขาคล้ายวัว มีภาพมือประทับ และตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ และยังพบว่าภาพมือประทับบางภาพมีการตกแต่งด้วยลายขีดในแนวขวาง ด้วยลายเส้นขนาดเล็กทั่วฝ่ามือ ด้านหน้าวัวปรากฏภาพคน 7 คน ยืนรายล้อมอยู่ จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งประกอบพิธีกรรมฝังศพวาดภาพเขียนสี
ภาพกลุ่มที่ 4 ผาเต้นระบำ ประกอบไปด้วยภาพคน 5 คน และสัตว์ มีคนในภาพนุ่งผ้าทรงกระบอกโป่งพอง ถืออาวุธคล้ายธนู ด้านหลังของคนดังกล่าว มีภาพคนอีก 2 คน กำลังเคลื่อนไหวก้าวเท้าไปข้างหน้า และมีภาพเงาทึบของวัว หันหน้าเข้าหากันในลักษณะต่อสู้ และมีภาพบุคคลแสดงกิริยาเคลื่อนไหวในท่าวิ่งเข้ามาอยู่ระหว่างวัวทั้งสองตัว คล้ายกับการห้ามวัว แต่ปัจจุบันก็ลบเลือนออกไปมาก
ภาพกลุ่มที่ 4
ภาพกลุ่มที่ 5 ผาหินตั้ง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 ต่อเนื่องกับกลุ่มภาพที่ 4 ปรากฏเป็นภาพกลุ่มคน (9 คน) วาดแบบตัดทอนส่วน ภาพสัตว์คล้ายเก้ง ภาพสัญลักษณ์
ส่วนที่ 2 เป็นภาพที่แสดงรายละเอียดของบุคคลนอนหันศีรษะไปทางทิศใต้ ร่างของบุคคลถูกวาดตามแนวขวาง ตลอดทั้งตัว และมีเครื่องหมายกากบาททับไว้ ในบริเวณบริเวณส่วนทรวงอก ด้านหลังภาพมีแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ ่ในแนวตั้งอยู่ 2 ภาพ ด้านบนแม่งสี่เหลี่ยมดังกล่าวมีภาพสี่เหลี่ยมในแนวนอนลักษณะโค้งวางอยู่เหนือภาพคน จึงมีความเป็นไปได้ว่าภาพแท่งสี่เหลี่ยมคือเสาหินที่น่าจะอยู่ในรูปแบบของหินตั้งประเภทโต๊ะหิน
ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมหินใหญ่ช่วงสมัยหินกลางจนถึงต้นสมัยโลหะ และภาพบุคคลที่มีลักษณะคล้ายถูกพันห่อไว้พร้อมกับมีเครื่องหมายกากบาททับร่าง ซึ่งอาจหมายถึงร่างของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว
ภาพกลุ่มที่ 5
ภาพกลุ่มที่ 6 ผานางกางแขน ปรากฏภาพบุคคลคล้ายสตรีที่มีส่วนท้องค่อนข้างใหญ่ แขนทั้งสองข้างกางออกไปด้านขางของลำตัว ปลายแขนงอลง ในระดับบนของกลุ่มภาพ ยังพบภาพคล้ายบุคคลที่มีศีรษะกลม ช่วงล่างของศีรษะในระดับหูมีติ่งยื่นออกมาทั้ง 2 ข้าง คล้ายหมวกปีกหนา แขนขนาดเล็กทั้ง 2 ข้างกางออกตั้งฉากกับลำตัว ที่มีส่วนท้องขนาดใหญ่ บริเวณช่วงล่างของภาพปรากฏภาพสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก 2 ตัว
คาดว่าน่าจะเป็นตะกวดหรือจิ้งจก ใช้เทคนิคการวาดภาพโครงร่างและใช้ลายเส้นเล็กๆขีดทับในบบริเวณส่วนลำตัว ซึ่งอาจเป็นการสื่อความหมายให้เห็นรายละเอียดของขนสัตว์
ภาพกลุ่มที่ 6
ภาพกลุ่มที่ 7ผาล่าสัตว์ เป็นภาพกลุ่มสุดท้ายที่พบ จากลักษณะเพิงผาที่ตัดตรง ทำให้ภาพเขียนสีลบเลือน ภาพที่ปรากฏเป็นภาพบุคคล 2 คน นุ่งผ้าปล่อยชายยาว บุคคลทางด้านขวาของภาพถืออุปกรณ์วงกลม ลักษณะคล้ายห่วง แสดงการเคลื่อนไหวคล้ายจะคล้องจับเอาวัว ส่วนบุคคลอีกคนหนึ่งถือวัตถุคล้ายไม้ในลักษณะเงื้อง่า คล้ายอาการตีวัว ซึ่งอาจแสดงถึงกิจกรรมการจับหรือฝึกฝนสัตว์ สัตว์อื่นๆที่พบในภาพนี้ คือสุนัขและลิง
ภาพกลุ่มที่ 7
[อุปกรณ์การเขียน]
เขียนด้วยสีแดงที่มีความเข้มจางของสีต่างกันในแต่ละภาพ สีแดงน่าจะมาจากดินเทศ เพราะพบหลักฐานจากการขุดค้นบริเวณเพิงผาใต้ภาพเขียนสีกลุ่มที่ 1 ที่พบก้อนดินเทศมีร่องรอยการขัดฝนจนเรียบ และโครงกระดูกหมายเลข 3 บริเวณช่วงปลายแขน มือ และต้นขา ที่พบกลุ่มดินเทศวางตัวเรียงเป็นแนวยาวและติดแน่นกับโครงกระดูก
[แหล่งวัตถุดิบของดินเทศ]
น่าจะมาจากภายในพื้นที่ เพราะในแอ่งประตูผา โดยเฉพาะบริเวณเนินเขาต่างๆ พบก้อนดินเทศหรือหินสีแดงขนาดต่างๆกระจายอยู่ทั่วไป รวมทั้งตามลำน้ำบริเวณดอยผาแดง (ห่างออกไปจากแหล่งโบราณคดีประมาณ 5 กิโลเมตร) ที่เป็นแหล่งต้นน้ำของน้ำแม่หวดสาขาหนึ่ง พบชั้นดินเทศเป็นชั้นหนาเรียงตัวสลับกับหินชนิดอื่นๆ ลำน้ำบริเวณเชิงดอยนี้ยังปรากฏดินเทศเต็มพื้นท้องน้ำเป็นระยะทางยาวมาก
[อุปกรณ์ผสมสีและใส่สี]
น่าจะเป็นเปลือกไม้หรือผลไม้ เช่น กะลามะพร้าว น้ำเต้า กระบอกไม้ไผ่ หรืออาจเป็นภาชนะดินเผา ซึ่งจากการสำรวจผิวดินบริเวณกลุ่มภาพที่ 2 พบเปลือกน้ำเต้าที่มีร่องรอยสีแดงติดอยู่ภายใน อีกทั้งการขุดค้นใต้ภาพกลุ่มที่ 1 พบชิ้นส่วนน้ำเต้าเป็นจำนวนมาก จึงอาจเป็นไปได้ว่าเป็นเปลือกน้ำเต้า
[อุปกรณ์ระบายสี]
ภาพบางภาพมีลายเส้นขนาดเล็กมาก จึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะใช้พู่กันวาด ซึ่งพู่กันอาจทำจากกิ่งไม้หรือแท่งไม้ทุบปลายจนนิ่ม สามารถซึมซับน้ำสีได้ หรืออาจเป็นดอกหญ้าหรือขนสัตว์หรืออื่นๆ มัดรวมเป็นจุก ส่วนการระบายหรือลงสีทึบของภาพแบบเงาทึบ อาจใช้ทั้งพู่กันและ/หรือนิ้วมือ
[เนื้อหาของภาพเขียนสี]
ทำให้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับการดำรงชีวิตที่น่าจะมีทั้งการล่าสัตว์มีอุปกรณ์ อาวุธ เครื่องมือต่างๆ และการเลี้ยงสัตว์ มาเลี้ยงหลายชนิด ทำให้ทราบถึงสภาพแวดล้อมในอดีต ที่อุดมสมบูรณื ส่วนมากจะเป็นสัตว์ป่าตามสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าเขา ทราบถึงลักษณะการแต่งกายของคนในสมัยนั้น การละเล่น หรือบวงสรวงด้วยพิธีกรรมต่างๆที่มีความสัมพันธฺกับสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงด้วย ตลอดจนประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับความตายหรือการปลงศพ จึงเห็นว่าครอบคลุมสภาพความเป็นอยู่ของหมู่ชนที่พัฒนาความเป็นอยู่ของสังคมสมัยนั้น
[การตีความ]
จึงแสดงให้เห็นว่าในยุคสมัยนั้นมีการแต่งตัว มีการละเล่น เต้นรำ มีการบวงสรวง พิธีกรรมในการตาย การปลงศพ ซึ่งในการขุดค้นพบหม้อลายเชือกทาบคล้ายบ้านเชียงด้วย จึงอาจในยุคสมัยใกล้เคียงกัน จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีเหมือนและใกล้เคียงกัน
อย่างน้อยแสดงว่ามีคนอาศัยบนผืนดินไทยกระจายอยู่กว้างขวางทุกภาคของประเทศไทยมากกว่า 3 พันปี เมื่อเทียบกับภาพเขียนที่พบบริเวณจังหวัดอื่นไม่ว่าที่แม่ฮ่องสอน กาฬสินธ์ ผาแต้ม อุบลราชธานี นครราชสีมา กาญจนบุรี ราชบุรีและทางภาคใต้ด้วย
แสดงให้เห็นว่าหมู่ชนนี้ก็มีความเป็นอยู่ อุปกรณ์ สัตว์เลี้ยง มีวัฒธรรม พิธีกรรมในการดำรงชีวิตที่เป็นระบบ ระเบียบ เพื่อพัฒนาเป็นสังคม บ้านเมืองที่เจริญซับซ้อนต่อไป
มีแจ้งว่าได้มีคนทำลายภาพเขียนสีเสียหายไปบางส่วน ด้วยการทุบแตก หรือเขียนสีทับด้วย ดังนั้นนการรักษาโบราณสถานจึงต้องช่วยกันทุกคน ด้วยการศึกษาให้รู้ เข้าใจและตระหนักเพื่อการศึกษาที่ละเอียดลุ่มลึกมากขึ้นในอนาคต และให้ความรู้แก่รุ่นลูกหลานเราได้รู้ว่า มีภูมิปัญญาโบราณ เกิดขึ้นแล้วในแผ่นดินไทยของเรา เช่นเดียวกับแหล่งอารยธรรมยิ่งใหญ่อื่นๆของโลกเช่นกัน...
น่าชมภาพเขียนสีท่านจารจด
เรื่องงามงดบทความได้สืบสาน
ชีวิตเก่าเล่าความไว้ข้ามกาล
ถึงลูกหลานให้รู้ความเป็นมา
ท่านเป็นใครสูญหายไม่รู้ได้
เป็นคนไทยรึไม่ให้ศึกษา
เราลูกหลานว่านเถาต่อกันมา
อยู่รักษาดินแดนท่านสืบไป..
โฆษณา