12 ต.ค. 2019 เวลา 14:01 • ปรัชญา
EP72: “จิต” คือ อะไร ?
ธรรมธาตุหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด
ใกล้มากมานาน…แสนแสนนาน…
จนเราคิดว่า…จิตคือเรา…เราคือจิต
สิ่งที่พระตถาคตตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง
ถึงความจริงที่แท้และแนวทางแห่งการหลุดพ้น
ประการหนึ่งคือ
ความจริงเราคือสัตว์ผู้ติดยึดในขันธ์ห้า
คิดว่านามรูปนี้คือตัวเรา
และในนามหนึ่งคือ วิญญาณ
อันเป็นธาตุๆหนึ่งเรียกว่า อาการรู้แจ้ง
จิตมโนวิญญาณนี้เป็นสิ่งเดียวกัน
และทั้งหมดเป็นเพียงธรรมธาตุหนึ่งที่เราติดยึดว่ามันคือเรา
ในพระไตรปิฏกส่วนที่เป็นพุทธวจนะ
คือคำตรงจากพระโอษฐ์เป็นสัทธรรมอย่างไรบ้าง
เราลองศึกษาใคร่ครวญจากหมวดธรรม
“จิตมโนวิญญาณ”ไว้ดังนี้นะครับ…
พระตถาคตตรัสว่า
จิต คือ ลหุปริวตฺตํ
“สิ่งเบาเร็วที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด”
ไวมากจนยากมากจะอุปมา
(ในหลายพระสูตรท่านเปรียบราวไวกว่าแสงหลายเท่า)
ซึ่งจิตนั้นเกิดดับอยู่ต่อเนื่อง
เร็วกว่ากระพริบตาแม้กลางวันกลางคืน
ดังหยดน้ำฝนที่ตกลงมาในบ่อน้ำ
2
”จิตเป็นธรรมชาติที่กลับกลอกเร็วยิ่งนัก”
อาจเป็นอันตรายต่อพรหมจรรย์ของภิกษุผู้อยู่ในพรรษา
อาจหมดไปด้วยเพียงแค่ใครมาชวนด้วยทรัพย์สินเงินทอง
ลาภยศสรรเสริญ หญิงงาม ต่างๆนาๆ เท่านั้น
หรือเกิดคิดลักเอามา
แม้ไม่อาบัติ แต่ขาดพรรษา
(ขออนุญาตแปลว่าต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เมื่อไปยึดติดกับจิต)
จิตอบรมได้
และต้องอบรม
(แม้จะยากตอนเริ่มต้น)
จิตเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่พระตถาคตตรัสว่า
…ถ้าไม่อบรมแล้ว ย่อมไม่ควรแก่การงาน
ถ้าอบรมแล้ว ปรากฏแล้ว ย่อมควรแก่การงาน
…ถ้าไม่อบรมแล้ว ไม่กระทำให้มากแล้ว ย่อมไม่เป็นประโยชน์อย่างใหญ่
ถ้าอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์อย่างใหญ่
…ถ้าจิตไม่อบรมแล้ว ไม่กระทำให้มากแล้ว ย่อมนำทุกข์มาให้
ดังต้นจันทน์ ต้นไม้ที่เลิศกว่าต้นใด เป็นไม้อ่อนใช้งานได้ดี
ถ้าจิตอบรมแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นธรรมชาติอ่อน และควรแก่การงาน
จิตฝึกฝนได้
และต้องฝึกฝน
(แม้จะยากตอนเริ่มต้น)
จิตเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่พระตถาคตตรัสว่า
…จิตที่ไม่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่ไช่ประโยชน์ใหญ่
จิตที่ฝึกแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่
…จิตที่ไม่คุ้มครองแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่ไช่ประโยชน์ใหญ่
จิตที่คุ้มครองแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่
…จิตที่ไม่รักษาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่ไช่ประโยชน์ใหญ่
จิตที่รักษาแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่
…จิตที่ไม่สังวรแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อไม่ไช่ประโยชน์ใหญ่
จิตที่สังวรแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่
…จิตที่ไม่ฝึก จิตที่ไม่คุ้มครอง จิตที่ไม่รักษา จิตที่ไม่สังวร
ย่อมเป็นไปเพื่อไม่ไช่ประโยชน์ใหญ่
…จิตที่ฝึก จิตที่คุ้มครอง จิตที่รักษา จิตที่สังวร
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่
_เปรียบเสมือนเดือยข้าวสาลี หรือเดือยข้าวเหนียว ที่ใครตั้งไว้ผิด
เป็นไปไม่ได้ที่ มือเท้าเหยียบแล้วจะทำลาย หรือทำให้ห้อเลือด
ดังเป็นไปไม่ได้ที่ภิกษุจะยัง อวิชชาไม่เกิด หรือจะยังวิชชาให้เกิด จะยังนิพพานให้เกิด
เปรียบเสมือนเดือยข้าวสาลี หรือเดือยข้าวเหนียว ที่ใครตั้งไว้ถูก
เป็นไปได้ที่ มือเท้าเหยียบแล้วจะทำลาย หรือทำให้ห้อเลือด
ดังเป็นไปได้ที่ภิกษุจะยัง อวิชชาไม่เกิด หรือจะยังวิชชาให้เกิด จะยังนิพพานให้เกิด
…จิตเป็นไม้ดีต้องทำให้อ่อนดังต้นจันทน์โดยอบรมจิต
จิตจะนำไปรู้ตามความเป็นจริง เกิดปัญญา และหลุดพ้นได้ต้องฝึก คุ้มครอง รักษา สังวร ตั้งจิตไว้ให้ถูก…
จิตผ่องใสเป็นอย่างไร ?
… เราหากมีจิตอันโทษประทุษร้าย และตายไปตอนนี้ พึงตั้งอยู่ในนรกเหมือนถูกนำไปฝังไว้ อันนี้เพราะ
จิตถูกประทุษร้าย สัตว์บางพวกในโลกนี้ ภายหลังการตาย เพราะกายแตกทำลาย ย่อมเข้าถึงอุบาย ทุคติวินิบาต นรก… (ปทฺฏฐจิตฺตํ)
1
… เราหากมีจิตผ่องใส และตายไปตอนนี้ พึงตั้งอยู่ในสวรรค์เหมือนถูกนำไปเก็บไว้ อันนี้เพราะ
จิตผ่องใส สัตว์บางพวกในโลกนี้ ภายหลังจากการตาย เพราะกายแตกทำลาย ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ดังบุรุษยืนอยู่บนฝั่งมองดูเวิ้งน้ำขุ่นมัว ไม่เห็นหอยบ้าง ไม่เห็นกรวดหินปลาว่ายปลาหยุดนิ่งบ้าง ในห้วงน้ำนั้น เพราะว่าน้ำขุ่น ฉันใดฉันนั้น
จะเป็นไปไม่ได้ที่ เรานั้นจะรู้ประโยชน์ตน หรือจะรู้ประโยชน์ผู้อื่น หรือรู้ทั้งสองฝ่าย หรือทำให้แจ้งในคุณวิเศษ คือ ความรู้เห็นอันประเสริฐ (อุตริมนุสธรรม)ด้วยจิตที่ขุ่นมัว(อาวิเลน จิตฺเตน)
ดังบุรุษยืนอยู่บนฝั่งมองดูเวิ้งน้ำใส มองหอยบ้าง กรวดหินปลาว่ายปลาหยุดนิ่งบ้าง ในห้วงน้ำนั้น เพราะว่าน้ำใส ฉันใดฉันนั้น
จะเป็นไปได้ที่ เรานั้นจะรู้ประโยชน์ตน หรือจะรู้ประโยชน์ผู้อื่น หรือรู้ทั้งสองฝ่าย หรือทำให้แจ้งในคุณวิเศษ คือ ความรู้เห็นอันประเสริฐ (อุตริมนุสธรรม)ด้วยจิตที่ไม่ขุ่นมัว (อนาวิเลน จิตฺเตน)
จิตที่ขุ่นมัวย่อมไม่รู้ความจริง ตายไปตอนนั้นก็ลงอุบายอย่างเดียว
จิตประภัสสรเป็นอย่างไร ?
จิตนี้ผุดผ่อง แต่ก็เศร้าหมองด้วยอุปกิเลสที่จรมา
ปุถุชนไม่เคยฟังได้ยินคำพระตถาคต ย่อมไม่ทราบจิตนั้นตามความเป็นจริง
เขาไม่เคยฟัง จึงไม่มีการอบรมจิต
จิตนี้ผุดผ่อง และพ้นไปแล้ว (วิปฺปมุตฺตํ)
อริยสาวกฟังได้ยินคำพระตถาคต ย่อมทราบจิตนั้นตามความเป็นจริง
เขาสดับแล้ว จึงมีการอบรมจิต
ถ้าอบรมจิตตามคำตถาคต เราจะพ้นทุกข์
จิตผ่องแผ้ว เป็นอย่างไร ?
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว(ปริโยทาเต) ไม่มีกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อ อาสวักขยญาณ เห็นที่สุดแห่งกิเลส รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา
เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อม
หลุดพ้นจากกามาสวะ
หลุดพ้นจากภวาสวะ
หลุดพ้นจากอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว
เธอย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว
กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่ได้มีอีก
จิตไม่รักษา เป็นอย่างไร ?
จิตที่ไม่มีการรักษา
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมก็ไม่ได้รักษา
จึงมีสภาพเปียกแฉะ แล้วก็มีสภาพเน่าบูด
จึงเกิดการตายที่ไม่งดงาม
เหมือนบ้านเรือนที่ไม่รักษาคือ มุงหลังคาไม่ดี ทุกส่วนบ้าน
ตั้งแต่ยอดหลังคา กลอนหลังคา ฝาเรือน ไม่ได้รับการรักษา
อกไก่เปียกชื้น กลอนหลังคอ ฝาเรือนเปียกชื้น
และผุพัง ฉันใดฉันนั้น.
ผลของจิตพินาศ คืออะไร ?
จิตถึงความพินาศ
กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมถึงความพินาศ
มีสภาพเปียกแฉะ แล้วก็มีสภาพเน่าบูด
จึงเกิดการตายที่ไม่งดงาม…
เครื่องรองรับจิต คืออะไร ?
หม้อไม่มีฐานรองก็หมุนกลิ้งได้ง่าย ฉันใดฉันนั้น
จิตก็ต้องมีเครื่องรองรับ
นั่นคือ อริยมรรคมีองค์แปดนั่นเอง
ความรู้เห็นดี ความคิดดี พูดดี การทำงานดี การอาชีพดี ความเพียรดี สติดี สมาธิดี
(อ่านเพิ่มเติมในซีรี่ย์มรรคแปด)
(กล่าวให้ง่าย การนั่งสมาธิโดยตั้งสติให้ดูลมหายใจเข้าออก
เพียงแค่นี้ก็ได้เจริญมรรคแปด ก็ทำให้จิตไม่หมุนกลิ้ง หรือนิ่งได้)
เห็นจิตในจิต เป็นอย่างไร ?
จิตมีราคะ หรือจิตไม่มีราคะ ก็รู้ชัด
จิตมีโทสะ หรือจิตไม่มีโทสะ ก็รู้ชัด
จิตมีโมหะ หรือจิตไม่มีโมหะ ก็รู้ชัด
จิตหดหู่ หรือจิตไม่หดหู่ ก็รู้ชัด
จิตถึงความเป็นจิตใหญ่ (มหรคต) หรือจิตไม่ถึงความเป็นจิตใหญ่ ก็รู้ชัด
จิตมีธรรมอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ชัด
จิตตั้งมั่น หรือจิตไม่ตั้งมั่น ก็รู้ชัด
สภาพธรรมของจิตที่เราเห็นได้
ขณะเจริญสมาธิ
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า…
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต ขณะหายใจเข้าออก
เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง ขณะหายใจเข้าออก
เราเป็นผู้ทำให้จิตตั้งมั่น ขณะหายใจเข้าออก
เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ ขณะหายใจเข้าออก
ขณะนั้น เธอจะได้ชื่อว่า เป็นผู้เห็นจิตในจิต
อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส นำอภิชฌา และโทมนัส (ความโลภและโทสะ)ในโลกออกเสียได้
ใครไม่มีสติสัมปชัญญะ ก็จะไม่มีสติอยู่กับลมหายใจ เห็นจิตในจิตอยู่ประจำ มีความเพียรเผากิเลส นำอภิชฌา และโทมนัส (ความโลภและโทสะ)ในโลกออกเสียได้
ต่อไป จิตหลุดพ้น …
เกิดสัมมาทิฏฐิ ความคิดที่ถูกต้อง
เธอเห็นรูปไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง เมื่อเห็น ย่อมเบื่อหน่าย
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิ(หลงเพลิน) จึงมีความสิ้นไปแห่งราคะ(กำหนัด)
เพราะความสิ้นไปแห่งราคะ(กำหนัด) จึงมีความสิ้นไปแห่งนันทิ(หลงเพลิน)
เธอเห็นเวทนาอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง…
เธอเห็นสัญญาอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง…
เธอเห็นสังขารอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง…
เธอเห็นวิญญาณอันไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง…
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิราคะ ได้ชื่อว่า จิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี
เธอเห็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง เมื่อเห็น ย่อมเบื่อหน่าย
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิราคะ ได้ชื่อว่า จิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี
2
เธอเห็นรูป เสียง กลิ่น รส ธรรมารมณ์ ไม่เที่ยงนั่นแหละ ว่าไม่เที่ยง เมื่อเห็น ย่อมเบื่อหน่าย
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิราคะ ได้ชื่อว่า จิตหลุดพ้นแล้วด้วยดี
จิตหลุดพ้นดีแล้ว คืออย่างไร ?
นิสฺสารณิยธาตุ ธาตุที่พึงพรากได้ ๕ ประการ คืออะไรบ้าง ?
จิตใจโน้มน้อมไปสู่กาม จิตเธอไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่
แต่เมื่อมนสิการถึงเนกขัมมะ(ออกจากกิเลสรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสธรรมารมณ์) จิตเธอแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ น้อมไปในเนกขัมมะ
ชื่อว่าจิตดำเนินไปดีแล้ว พรากออกจากกาม อาสวะ ทุกข์ และความเร่าร้อน ไม่เสวยเวทนาที่เกิดเพราะเหตุนั้น
อีกประการหนึ่ง เมื่อจิตโน้มน้อมไปสู่พยาบาท จิตเธอไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่
แต่เมื่อมนสิการถึงความไม่พยาบาท จิตเธอแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ น้อมไปในความไม่พยาบาท
ชื่อว่าจิตดำเนินไปดีแล้ว พรากออกจากความพยาบาท อาสวะ ทุกข์ และความเร่าร้อน ไม่เสวยเวทนาที่เกิดเพราะเหตุนั้น
อีกประการหนึ่ง เมื่อจิตโน้มน้อมไปสู่วิหิงสา(ทำร้าย เบียดเบียน) จิตเธอไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่
แต่เมื่อมนสิการถึงความอวิหิงสา จิตเธอแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ น้อมไปในความอวิหิงสา
ชื่อว่าจิตดำเนินไปดีแล้ว พรากออกจากวิหิงสา อาสวะ ทุกข์ และความเร่าร้อน ไม่เสวยเวทนาที่เกิดเพราะเหตุนั้น
อีกประการหนึ่ง เมื่อจิตโน้มน้อมไปถึงรูปทั้งหลาย จิตเธอไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่
แต่เมื่อมนสิการถึงอรูป จิตเธอแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ น้อมไปในอรูป
ชื่อว่าจิตดำเนินไปดีแล้ว พรากออกจากรูป อาสวะ ทุกข์ และความเร่าร้อน ไม่เสวยเวทนาที่เกิดเพราะเหตุนั้น
อีกประการหนึ่ง เมื่อจิตโน้มน้อมไปสู่สักกายะ(ความเป็นตัวตน) จิตเธอไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่
แต่เมื่อมนสิการถึงความไม่สักกายะ จิตเธอแล่นไป เลื่อมใส ตั้งอยู่ น้อมไปในความไม่สักกายะ
ชื่อว่าจิตดำเนินไปดีแล้ว พรากออกจากสักกายะ อาสวะ ทุกข์ และความเร่าร้อน ไม่เสวยเวทนาที่เกิดเพราะเหตุนั้น
ความเพลินในห้าประการนี้จะไม่เกิด เพราะเราเป็นผู้ไม่มีอาลัย ตัดตัณหาได้แล้ว คลายสังโยชน์ได้แล้ว ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ
นี่แหละ ธรรมธาตุที่พึงพราก ๕ ประการ ได้แก่ กาม พยาบาท วิหิงสา รูป สักกายะ ดังนี้แล…
น้อมใจละสังโยชน์
ความฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ
…ย่อมไม่พิจารณาเห็นรูป(กาย)โดยความเป็นตน
…ย่อมไม่พิจารณาเห็นเวทนา(ความรู้สึก)โดยความเป็นตน
…ย่อมไม่พิจารณาเห็นสัญญา(ความคิดจำได้หมายรู้)โดยความเป็นตน
…ย่อมไม่พิจารณาเห็นสังขาร(ความคิดปรุงแต่ง)โดยความเป็นตน
…ย่อมไม่พิจารณาเห็นวิญญาณ(อาการรู้แจ้ง)โดยความเป็นตน
ทราบชัดซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันไม่เที่ยง ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงว่าไม่เที่ยง
ทราบชัดซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นทุกข์ ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงว่าเป็นทุกข์
ทราบชัดซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงว่าเป็นอนัตตา
ทราบชัดซึ่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปัจจัยปรุงแต่ง ย่อมทราบตามความเป็นจริงว่า แม้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ไม่มี
ย่อมทราบชัดตามความเป็นจริงเช่นนั้น เพราะเห็นความเป็นต่างๆแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เมื่อเราน้อมใจไปอย่างนี้ว่า ถ้าเราไม่พึงมี ของเราก็ไม่พึงมี ถ้าเราจักไม่มี ของเราจักไม่มีดังนี้ เรานั้นพึงตัดโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล
2
เหตุให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์
โพชฌงค์ทั้ง ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชา และวิมุตติบริบูรณ์
สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชา และวิมุตติบริบูรณ์
สุจริตทั้ง ๓ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์
อินทรีย์สังวร อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำสุจริต ๓บริบูรณ์
เห็นรูปที่น่าพอใจด้วยตาแล้ว ย่อมไม่ยินดี ไม่หวังจะเอามาทะนุถนอม ไม่ยังความกำหนัดให้เกิด และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นด้วยดีแล้วในภายใน
อนึ่ง เธอเห็นรูปที่ไม่น่าพอใจด้วยสายตาแล้ว ก็ไม่เสียใจ ไม่มีจิตตั้งอยู่ด้วยโทสะ มีใจไม่หดหู่ มีจิตไม่พยาบาท และกายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ ตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นดีแล้วในภายใน
ได้ยินเสียง…กลิ่นรสสัมผัสธรรมารมณ์…หลุดพ้นดีแล้วในภายใน
เพราะเหตุที่เธอเห็นรูปด้วยตาแล้วก็เป็นผู้คงที่ มีใจไม่หดหู่ มีจิตไม่พยาบาท ในรูปทั้งหลายที่น่าพอใจ และไม่น่าพอใจ กายของเธอก็คงที่ จิตก็คงที่ตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นด้วยดีแล้วในภายใน อินทรีย์สังวร อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำสุจริต ๓บริบูรณ์
สุจริตทั้ง ๓ ประการ อันบุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน ๔ บริบูรณ์
เธอย่อมเจริญกายสุจริตเพื่อละกายทุจริต
ย่อมเจริญวจีสุจริตเพื่อละวจีทุจริต
ย่อมเจริญมโนสุจริตเพื่อละมโนทุจริต
สติปัฏฐานทั้ง ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ ๗ บริบูรณ์
เมื่อพิจารณาเห็นกายในกาย(นั่งสมาธิ ทำอานาปานสติ)เนืองๆอยู่ มีความเพียร มีสติสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา(โลภ)และโทมนัส(โทสะ)ในโลกออกเสียได้ เมื่อพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา… จิตในจิต… ธรรมในธรรม …
โพชฌงค์ทั้ง ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมทำวิชชา และวิมุตติบริบูรณ์
เมื่อย่อมเจริญสติส้มโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ
ย่อมเจริญธัมมวิจยส้มโพชฌงค์…
ย่อมเจริญวิริยส้มโพชฌงค์…
ย่อมเจริญปีติส้มโพชฌงค์…
ย่อมเจริญปัสสัทธิส้มโพชฌงค์…
ย่อมเจริญสมาธิส้มโพชฌงค์…
ย่อมเจริญอุเบกขาส้มโพชฌงค์…
โฆษณา