9 ต.ค. 2019 เวลา 05:48 • ประวัติศาสตร์
นายทหารที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงรักมากจนถึงขั้นแม้ทำผิดโทษหนักหนาเพียงใดก็ “ฆ่าไม่ลง”
1
สวัสดีครับทุกท่านวันนี้เราจะย้อนไปเรื่องอดีตกันบ้าง วันนี้ผมได้ไปเจอบทความประวัติศาสตร์สั้นเรื่องที่น่าสนใจเรื่องนึงเกี่ยวกับนายทหารท่านนึงที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงไว้เนื้อเชื่อใจและทรงรักเป็นอันมากนั้นก็คือ "สมเด็จเจ้าพระยาสุรสีห์ทหารที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงรักจน “ฆ่าไม่ลง” นั่นเองครับ
เรื่องราวของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หรือวังหน้า “พระยาเสือ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงมีบทบาทสําคัญต่อบ้านเมืองนี้อย่างยิ่ง ไม่ว่าจะอยู่ในแผ่นดินของใคร จนเป็นที่ยอมรับว่าทรงเป็น “นักรบ” คนสําคัญพระองค์หนึ่งในแผ่นดินกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
3
พระราชประวัติ
"สมเด็จเจ้าพระยาบวรสุรสิงหนาท" (วังหน้า)
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท มีพระนามเดิมว่า บุญมา เป็นพระโอรสพระองค์ที่ 5 ในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) และพระอัครชายา (หยก) ประสูติในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดีขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน จ.ศ. 1105 ตรงกับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2286
2
เมื่อทรงเจริญวัยได้รับราชการเป็นมหาดเล็กตำแหน่งนายสุดจินดา มหาดเล็กหุ้มแพร ในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ใน พ.ศ. 2310 เมื่อข้าศึกยกมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ขณะนั้นพระนครอ่อนแอมาก พระยาวชิรปราการ (สิน) จึงพาสมัครพรรคพวกตีฝ่าออกจากพระนครศรีอยุธยา มุ่งไปรวบรวมกำลังที่หัวเมืองชายทะเลตะวันออก ที่ชลบุรี เพื่อจะรบสู้ขับไล่ข้าศึกจากพระนคร เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกบ้านเมืองสับสนเป็นจลาจล นายสุดจินดาได้เสด็จลงเรือเล็กหลบหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา และมุ่งจะเสด็จไปยังเมืองชลบุรีด้วยเช่นกัน ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ได้นำครอบครัวและบริวารอพยพหลบภัยข้าศึกไปตั้งอยู่ ณ อำเภออัมพวา เมืองสมุทรสงครามซึ่งแต่เดิมขึ้นกับเมืองราชบุรี ก่อนที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจะเสด็จไปถึงชลบุรี ได้เสด็จไปพบพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่อำเภออัมพวาก่อน ได้ทรงชวนให้เสด็จไปหลบภัย ณ ชลบุรี ด้วย แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยังไม่พร้อมเสด็จ ทรงพระราชทานเรือใหญ่พร้อมเสบียงอาหาร ทรงพระราชดำริให้ไปฝากตัวทำราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และทรงแนะนำให้เสด็จไปรับท่านเอี้ยง พระชนนีของพระยาตากสิน ซึ่งอพยพไปอยู่ที่บ้านแหลม พร้อมทั้งทรงฝากดาบคร่ำ และแหวน 2 วง ไปถวายเป็นของกำนัลอีกด้วย
8
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึก ทรงให้ทหารรักษาการอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้น และที่ธนบุรี ช่วงนั้นบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะระส่ำระสาย แยกเป็นชุมนุมเป็นก๊กเหล่าถึง 6 ชุมนุม พระยาตากสินเป็นชุมนุมหนึ่งที่สามารถรวบรวมไพล่พลตั้งอยู่ที่จันทบุรี เข้าตีข้าศึกที่รักษากรุงศรีอยุธยาแตกไป แล้วจึงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี เมื่อปีชวด สัมฤทธิศก พ.ศ. 2311 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ในขณะนั้นทรงได้รับการสถาปนาบรรดาศักดิ์เป็นพระมหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจในขวา
8
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้ทรงร่วมศึกสงครามขับไล่อริราชศัตรูปกป้องพระราชอาณาจักรตลอดพระชนมชีพของพระองค์ ได้เสด็จไปในการพระราชสงครามทั้งทางบก และทางเรือ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ถึง 16 ครั้ง และในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อีก 8 ครั้ง ได้แก่
3
"เหตุการณ์สำคัญ"
เมื่อปีพ.ศ. 2310 ตีค่ายโพธิ์สามต้นของข้าศึก
พ.ศ. 2311 ตีค่ายพม่าที่บางกุ้ง และที่สมุทรสงคราม ขณะนั้นทรงมีบรรดาศักดิ์เป็น พระมหามนตรี และเสด็จไปรับพระเชษฐาธิราช จาก อำเภออัมพวา เข้ามารับราชการกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และทรงรับสถาปนาเป็น พระราชวรินทร์
1
พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงยกกองทัพไปปราบชุมนุมเจ้าพิษณุโลก และยกไปปราบชุมนุมเจ้าพิมายที่นครราชสีมา พระมหามนตรี และพระราชวรินทร์ได้ร่วมการสงครามที่ด่านขุนทด มีชัยชนะในเวลา 3 วัน ความชอบในการสงครามครั้งนี้ พระราชวรินทร์ได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอภัยรณฤทธิ์ และพระมหามนตรี เป็นพระยาอนุชิตราชา จางวางตำรวจ
พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ และพระยาอนุชิตราชา ยกทัพไปปราบกรุงกัมพูชา ตีได้เมืองเสียมราฐ
2
พ.ศ. 2313 พระยาอนุชิตราชาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็น พระยายมราช ได้ยกทัพไปร่วมกับทัพหลวงปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง ตีได้เมืองสวางคบุรี และได้หัวเมืองเหนือไว้ในพระราชอำนาจทั้งหมด เมื่อเสร็จราชการศึกครั้งนี้ ได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก เป็นผู้ปกป้องพระราชอาณาจักรฝ่ายเหนือ และได้ยกทัพไปตีทัพโปมยุง่วนที่มาล้อมเมืองสวรรคโลก
3
พ.ศ. 2315 เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช ได้ยกทัพไปปราบพม่าที่ยกมาตีเมืองลับแล หรืออุตรดิตถ์ และเมืองพิชัยจนแตกพ่ายไป
1
พ.ศ. 2316 เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช และพระยาพิชัย ได้ยกทัพไปรบถึงประจัญบาน กับทัพโปสุพลาที่เมืองพิชัย จนข้าศึกแตกพ่าย ครั้งนี้เองที่พระยาพิชัยได้รับสมญานามว่า "พระยาพิชัยดาบหัก"
พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งขณะนั้นเป็น เจ้าพระยาจักรี กับเจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช ยกทัพหัวเมืองเหนือไปตีเมืองเชียงใหม่ มีชัยชนะ และเจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราชได้คุมทัพเหนือไปล้อมทัพพม่าที่เขาชะงุ้ม ตีค่ายพม่าที่เขาชะงุ้ม และปากแพรกแตกจนพม่ายอมแพ้
1
พ.ศ. 2318 เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช และเจ้าพระยาจักรี ได้รับพระราชบัญชาให้ยกทัพจากพิษณุโลกไปขับไล่โปสุพลา ที่ยกมาตีเมืองเชียงใหม่ และต่อมาอะแซหวุ่นกี้ ยกมาล้อมเมืองพิษณุโลก เจ้าพระยาทั้งสองจึงนำไพล่พลออกจากพิษณุโลกไปตั้งมั่นที่เมืองเพชรบูรณ์ ต่อมาพม่าถอนกำลัง จึงได้คุมกำลังเมืองนครราชสีมาติดตามตีทัพที่กำลังถอยแตกกลับไป
3
พ.ศ. 2320 ได้ยกทัพจากกรุงธนบุรีไปสมทบทัพเจ้าพระยาจักรีที่นครราชสีมา ตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองอัตบือ สุรินทร์ สังขะ ขุขันธ์ ไว้ได้ จากความชอบในการพระราชสงครามครั้งนี้ เจ้าพระยาจักรีได้รับเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก"
2
พ.ศ. 2321 เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับเจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช เกณฑ์ทัพเรือจากกัมพูชา ไปล้อมเมืองเวียงจันทน์ 4 เดือนจึงตีได้ และตีหัวเมืองต่างๆ ในแคว้นลาวจนจดตังเกี๋ยของญวนไว้ได้ด้วย และในครั้งนั้น เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร กลับคืนเวียงจันทน์มาประดิษฐานที่กรุงธนบุรีด้วย
3
พ.ศ. 2324 เจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช เป็นแม่ทัพหน้าร่วมกับเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพไปตีกัมพูชา แต่ต้องเสด็จกลับกรุงธนบุรี เนื่องจากบ้านเมืองเกิดจลาจล เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้เสด็จปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์และสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี แล้วโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเสด็จเถลิงพระราชมนเทียรที่พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล บันทึกบางฉบับจะเอ่ยพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรสถานมงคลบ้าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์บ้าง (หมายความรวมถึงรัชกาลที่ 1 และสมเด็จวังหน้า) ไม่เป็นที่แน่นอน ซึ่งพระนามนี้ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดระเบียบเกี่ยวกับพระเกียรติเจ้านายใหม่ โดยให้ขานพระนามว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้ทรงร่วมการพระราชสงคราม ระหว่าง พ.ศ. 2325 ถึง พ.ศ. 2345 รวม 8 ครั้ง คือ
5
พ.ศ. 2328 สงครามเก้าทัพ รบกับทัพพระเจ้าปดุง ที่ยกทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แม้มีไพร่พลน้อยกว่าข้าศึก แต่ทรงทำกลอุบายลวงข้าศึก จนสามารถมีชัยชนะ ในปีนั้น ยังได้เสด็จนำทัพเรือไปตีพม่าที่ไชยา และเสด็จไปปราบปัตตานีที่เอาใจออกห่าง และตีเมืองกลันตัน ตรังกานู เป็นเมืองขึ้นของไทยด้วย
1
พ.ศ. 2329 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้เสด็จนำทัพไปรบกับพระเจ้าปดุง ที่เข้ามายึดตำบลท่าดินแดง และสามสบ ได้ตีทัพพม่าแตก
พ.ศ. 2330 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองลำปางคืน และตีทัพพม่าที่ป่าซางแตก เสร็จการสงครามนี้ ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่ มาประดิษฐาน ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ที่กรุงเทพฯ
2
พ.ศ. 2336 เสด็จไปตีเมืองทวายสำเร็จ
พ.ศ. 2340 เสด็จยกทัพไปป้องกันเมืองเชียงใหม่ ตีพม่าที่ลำพูน และเชียงใหม่แตก
1
พ.ศ. 2345 ได้เสด็จไปขับไล่กองทัพข้าศึกออกจากเชียงใหม่ แต่เมื่อเสด็จไปถึงเมืองเถิน ทรงพระประชวรโรคนิ่ว ต้องประทับรักษาพระองค์โดยมีกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงพยาบาลพระอาการอยู่ต่อมาเมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล เพื่อทรงพยาบาลสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจนกระทั่งพระอาการประชวรกำเริบและได้เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบูรพาภิมุขในหมุ่พระวิมาน เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2346 พระชนมายุ 60 พรรษา
2
และเมื่อครั้งยังกินตําแหน่งเจ้าพระยาสุรสีห์ ในแผ่นดินกรุงธนบุรี ถือเป็น “ข้าหลวงเดิม” ที่ พระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดปรานมากที่สุดคนหนึ่ง
1
ภาพจาก : Silva - Mag.com
พระองค์เป็นขุนศึกคู่บัลลังก์รบเคียงคู่กับพระเจ้าตากสินมหาราช มาตั้งแต่ศึกกู้แผ่นดินหลังกรุงศรีอยุธยาแตก โดยมีความก้าวหน้าในราชการเป็นลําดับ คือ เมื่อแรกถวายตัวร่วมรบกับพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เป็นที่พระมหามนตรี เจ้ากรมตํารวจ แล้วเลื่อนเป็นพระยาอนุชิตราชา พระยายมราช และกินตําแหน่งเจ้าพระยาสุรสีห์ สําเร็จราชการเมืองพิษณุโลก เมืองชั้นเอกของหัวเมืองฝ่ายเหนือ เป็นตําแหน่งสุดท้าย
2
ตลอดรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เป็นแม่ทัพสู้ศึกสําคัญมิได้ขาด และเป็นบุคคลหนึ่งที่พระเจ้าตากสินมหาราชทรงรักจน “ฆ่าไม่ลง” ดังที่ปรากฏความโดยพิสดารในหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ โดย สังเขปดังนี้
คืนหนึ่งพระเจ้าตากทรงนั่งพระกรรมฐานที่พระตําหนักแพ โดยมีสมเด็จพระวันรัตน (ทอง อยู่) นั่งกํากับเป็นประธาน เวลานั้นเจ้าพระยาสุรสีห์ข้ามฟากมาจากบ้านประสงค์จะเข้าเฝ้า เจ้าพนักงานที่ล้อมวงรักษาการณ์อยู่ เห็นเข้าจึงร้องห้ามมิให้เฝ้าเพราะทรงนั่งพระกรรมฐานอยู่
4
ฝ่ายพระยาพิทักษภูบาล จางวางรักษาพระองค์ ก็ได้โบกมือให้ออกไปเสีย แต่เจ้าพระยาสุรสีห์เข้าใจผิด คิดว่ากวักมือเรียก จึงค่อยย่องเข้าไป
2
สมเด็จพระวันรัตน (ทองอยู่) แลเห็นเข้าก็ถวายพระพรว่า เจ้าพระยาสุรสีห์ย่องเข้ามาจะทําร้ายพระองค์เป็นแน่ พระเจ้าตากลุกกระโดดเข้าจับตัวเจ้าพระยาสุรสีห์ไว้ได้โดยฉับไว แต่เมื่อค้นตัวดูไม่พบอาวุธซ่อนอยู่ จึงมีพระราชดํารัสถามว่า “เหตุใดจึงย่องเข้ามาในที่ห้าม จะเป็นกระบฤฤา”
4
เจ้าพระยาสุรสีห์จึงกราบทูลว่าพระยาพิทักษภูบาลกวักมือให้เข้ามา ฝ่ายพระยาพิทักษฏบาล ก็แก้ว่าไม่ได้กวักมือเรียก แต่โบกมือให้ออกไป พระเจ้าตากจึงมีพระราชดํารัสว่า ตัวเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ย่อมรู้กฎหมายข้อห้ามดี เมื่อทําผิดเช่นนี้จะว่าอย่างไร เจ้าพระยาสุรสีห์จึงกราบทูลว่า โทษนี้ต้องริบราชบาตร เฆี่ยน 90 ที แล้วประหารชีวิตเสียไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป
7
พระเจ้าตากได้ทรงฟังก็สังเวชพระทัย “กลั้นน้ำพระเนตรไว้ไม่ได้” ทรงกันแสงแล้วตรัส ว่า ปรับโทษหนักเกินไป “ข้าได้สัญญาไว้กับเจ้าเมื่อเจ้ารับแม่ของข้ามาให้แก่ข้านั้น ข้าว่าข้าจะ ไม่ฆ่าเจ้า” ให้ปรับโทษให้เบาลง เจ้าพระยาสุรสีห์จึงกราบทูลว่า เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ไม่ประหารชีวิต ก็ต้องลงพระราชอาญาเฆี่ยน 60 ที แล้วจําคุกไว้จนตาย
1
พระเจ้าตากจึงมีพระราชดํารัสอีกว่า หากจําคุกจนตาย “ข้าจะได้ใครใช้เล่า พี่เจ้าคนเดียว ไม่ภอใช้” ให้ปรับใหม่เบาลงอีก เจ้าพระยาสุรสีห์กราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้นให้เฆี่ยน 60 ที แล้วถอด เป็นไพร่ พระเจ้าตากทรงไม่ยอมอีก มีพระราชดํารัสว่า “เป็นไพร่ เข้าใกล้พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้ ข้าจะปรึกษาหาฤากับใครเล่า”
1
เจ้าพระยาสุรสีห์จึงกราบทูลว่า ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน 60 ที แล้วอยู่ในตําแหน่งเดิม พระเจ้าตากก็ทรงพอพระทัย “พ่อชอบใจแล้ว” เรื่องจึงยุติลง
จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ “ส่วนตัว” ระหว่างพระเจ้าตากกับเจ้าพระยาสุรสีห์นั้น “ไม่ธรรมดา” รวมไปถึงความไว้วางใจในข้อราชการที่ทรงตั้งให้ “กินเมือง” พิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองสําคัญระดับเมืองลูกหลวงคุมยุทธศาสตร์หัวเมืองฝ่ายเหนือมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ถือว่า เป็นความไว้วางใจแบบ “ไม่ธรรมดา” เช่นกัน
4
ข้อมูลจาก : ปรามินทร์ เครือทอง. “วังหน้า ‘พระยาเสือ’ เมื่อต้องโค่นพระเจ้าตาก” เอกสารสมโสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 23 กุมภาพันธ์2560
เรียบเรียงเนื้อหา/นำเสนอบทความโดย :
"สาระหลากด้าน"
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านนะครับขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านนะครับ ขอบคุณครับ😊🙇"
โฆษณา