#กฎหมายที่ใช้ควบคุมอาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด อพาร์ทเมนท์และโรงแรม ที่คนทำธุรกิจโรงแรมต้องรู้ !!!
คงมีหลายท่านที่มีความฝันอยากทำธุรกิจโรงแรมเป็นของตัวเองสักแห่งแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี เพราะนอกจากเงินลงทุนที่มากแล้ว ยังมีเรื่องของการออกแบบก่อสร้าง ข้อกฎหมายและการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ที่กว่าจะผ่านไปได้แต่ละขั้นตอนก็ยากจนหืดขึ้นคอ
อย่าเพิ่งท้อกันเลยนะคะ ฉันเองก็เป็นผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่มีความฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมสักแห่งและเริ่มต้นสร้างความฝันนี้ในตอนอายุ 34 ปี ความรู้ที่มีตอนนั้นก็เท่ากับศูนย์ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้ให้กับข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น มองอุปสรรคต่าง ๆ ที่เข้ามาให้มันเป็นความท้าทายและทำทุกอย่างจนสุดกำลัง สุดท้ายแล้วความสำเร็จมันก็เกิดขึ้นเองโดยที่ฉันเองก็คาดไม่ถึง
หวนคิดถึงวันแรกที่คุยกับน้องสถาปนิกยังนึกขำตัวเองอยู่เลยค่ะ บอกเขาว่าจะสร้างโรงแรมช่วยออกแบบโรงแรมให้หน่อย แต่นอกเหนือจากนั้นคือยังไม่มีข้อมูลอะไรอยู่ในหัวมากนักจนนึกโมโหตัวเองที่คุยกับเขาไม่รู้เรื่อง การจะสร้างโรงแรมหรือรีสอร์ทสักแห่งมันไม่ใช่รู้แค่เรื่องว่าเราจะออกแบบให้สวยงามในสไตล์ที่เราชอบ แต่มันยังต้องรู้ด้วยว่าขนาดห้องพักต้องมีพื้นที่เท่าไหร่ ขนาดของทางเดิน ลานจอดรถและอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่กฎหมายกำหนด สุดท้ายเลยตัดสินใจไปลงเรียนคอร์สอสังหาริมทรัพย์เพิ่ม เพื่อจะได้นำความรู้มาใช้เป็นแนวทางในการในการทำธุรกิจโรงแรมเล็ก ๆ ของตัวเองได้
สำหรับท่านที่อยากทำธุรกิจโรงแรมหรือรีสอร์ทขึ้นมาสักแห่งแต่ยังไม่เคยเรียนหรือมีความรู้ในเรื่องอสังหาริมทรัพย์มาก่อน ก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ ทุกอย่างมันอยู่ที่ใจ ถ้าเรามุ่งมั่นและมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทำมันจริง ๆ ในที่สุดเราก็จะหาหนทางเจอเองค่ะ ในบทความนี้เลยนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ใช้ควบคุมอาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด อพาร์ทเมนท์และโรงแรม มาแบ่งปันให้ทุกท่านได้อ่านกันค่ะ เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานเวลาคุยกับสถาปนิกและเป็นแนวทางในการออกแบบเพื่อให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้
กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความตามพระราชบัญญัติความคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บัญญัติไว้ว่า
 
“อาคารสาธารณะ” หมายความว่า อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการชุมนุมคนได้โดยทั่วไป เพื่อกิจการทางราชการ การเมือง การศึกษา การศาสนา การสังคม การนันทนาการ หรือการพาณิชยกรรม เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา หอสมุด สนามกีฬากลางแจ้ง สถานกีฬาในร่ม ตลาด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ ท่าอากาศยาน อุโมงค์ สะพาน อาคารจอดรถ สถานีรถ ท่าจอดเรือ โป๊ะจอดเรือ สุสาน ฌาปนสถาน ศาสนสถาน เป็นต้น
โรงแรม จัดอยู่ในหมวดอาคารสาธารณะ ดังนั้นเราจึงต้องมาดูข้อบัญญัติต่าง ๆ ตามกฎกระทรวงเพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบก่อสร้าง ดังนี้ค่ะ
 
พื้นที่ภายในอาคาร
• อาคารอยู่อาศัยรวมต้องมีพื้นที่ภายในแต่ละหน่วยที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยไม่น้อยกว่า 20 ตารางเมตร (หมวด 2 ส่วนที่ 2 ข้อ 19)
 
• ห้องนอนในอาคารให้มีความกว้างด้านแคบที่สุดไม่น้อยกว่า 2.50 เมตรและมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร (หมวด 2 ส่วนที่ 2 ข้อ 20)
 
• ช่องทางเดินในอาคารอยู่อาศัยรวม หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สำนักงาน อาคารสาธารณะ อาคารพาณิชย์ โรงงาน อาคารพิเศษ ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร (หมวด 2 ส่วนที่ 2 ข้อ 21)
 
• ห้องหรือส่วนของอาคารที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ห้องที่ใช้เป็นที่พักอาศัย บ้านแถว ห้องพัก โรงแรม ห้องเรียนนักอนุบาล ครัวสำหรับอาคารอยู่อาศัย ห้องพักคนไข้พิเศษ และช่องทางเดินในอาคาร ต้องมีระยะดิ่งไม่น้อยกว่า 2.60 เมตร
 
ระยะดิ่งตามข้างต้นให้วัดจากพื้นถึงพื้นชั้นถัดไป กรณีของชั้นใจ้หลังคาให้วัดจากพื้นถึงยอดฝาหรือยอดผนังอาคาร และในกรณีของห้องหรือส่วนของอาคารที่อยู่ภายในโครงสร้างของหลังคา ให้วัดจากพื้นถึงยอดฝาหรือยอดผนังของห้องหรือส่วนของอาคารที่ไม่ใช่โครงสร้างของหลังคา
 
ห้องในอาคารซึ่งมีระยะดิ่งระหว่างพื้นถึงพื้นอีกชั้นหนึ่งตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไป จะทำพื้นชั้นลอยในห้องนั้นก็ได้ โดยพื้นชั้นลอยดังกล่าวนั้นต้องมีเนื้อที่ไม่เกินร้อยละสี่สิบของเนื้อที่ห้อง ระยะดิ่งระหว่างพื้นชั้นลอยถึงพื้นอีกชั้นหนึ่งต้องไม่น้อยกว่า 2.40 เมตร และระยะดิ่งระหว่างพื้นห้องถึงพื้นชั้นลอยต้องไม่น้อยกว่า 2.40 เมตร ด้วย
 
• ห้องนํ้า ห้องส้วม ต้องมีระยะดิ่งระหว่างพื้นถึงเพดานไม่น้อยกว่า 2 เมตร
(หมวด 2 ส่วนที่ 2 ข้อ 22)
บันไดของอาคาร
 
• บันไดของอาคารอยู่อาศัยถ้ามีต้องมีอย่างน้อยหนึ่งบันไดที่มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ช่วงหนึ่งสูงไม่เกิน 3 เมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลูกนอนเมื่อหักส่วนที่ขั้นบันไดเหลื่อมกันออกแล้วเหลือความกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร และต้องมีพื้นหน้าบันไดมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได
 
บันไดที่สูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพักบันไดทุกช่วง 3 เมตร หรือน้อยกว่านั้น และชานพักบันไดต้องมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได ระยะดิ่งจากขั้นบันไดหรือชานพักบันไดถึงส่วนตํ่าสุดของอาคารที่อยู่เหนือขึ้นไปต้องสูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร
(หมวด 2 ส่วนที่ 3 ข้อ 23)
 
• บันไดของอาคารอยู่อาศัยรวม หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สำนักงาน อาคารสาธารณะ อาคารพาณิชย์ โรงงาน และอาคารพิเศษ สำหรับที่ใช้กับชั้นที่มีพื้นที่อาคารชั้นเหนือขึ้นไป รวมกันไม่เกิน 300 ตารางเมตร ต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 1.20 เมตร แต่สำ หรับบันไดของอาคารดังกล่าวที่ใช้กับชั้นที่มีพื้นที่อาคารชั้นเหนือขึ้นไปรวมกันเกิน 300 ตารางเมตร ต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ถ้าความกว้างสุทธิของบันไดน้อยกว่า 1.50 เมตร ต้องมีบันไดอย่างน้อยสองบันไดและแต่ละบันไดต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 1.20 เมตร
 
บันไดของอาคารที่ใช้เป็นที่ชุมนุมของคนจำนวนมาก เช่น บันไดห้องประชุมหรือห้องบรรยายที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 500 ตารางเมตรขึ้นไป หรือบันไดห้องรับประทานอาหารหรือสถานบริการที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือบันไดของแต่ละชั้นของอาคารนั้นที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร อย่างน้อยสองบันได ถ้ามีบันไดเดียวต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 3 เมตร
 
บันไดที่สูงเกิน 4 เมตร ต้องมีชานพักบันไดทุกช่วง 4 เมตร หรือน้อยกว่านั้น และระยะดิ่งจากขั้นบันไดหรือชานพักบันไดถึงส่วนตํ่าสุดของอาคารที่อยู่เหนือขึ้นไปต้องสูงไม่น้อยกว่า 2.10 เมตร
 
ชานพักบันไดและพื้นหน้าบันไดต้องมีความกว้างและความยาวไม่น้อยกว่าความกว้างสุทธิของบันได เว้นแต่บันไดที่มีความกว้างสุทธิเกิน 2 เมตร ชานพักบันไดและพื้นหน้าบันไดจะมีความยาวไม่เกิน 2 เมตรก็ได้
 
บันไดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองต้องมีลูกตั้งสูงไม่เกิน 18 เซนติเมตร ลูกนอนเมื่อหักส่วนที่ขั้นบันไดเหลื่อมกันออกแล้วเหลือความกว้างไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร และต้องมีราวบันไดกันตก บันไดที่มีความกว้างสุทธิเกิน 6 เมตร และช่วงบันไดสูงเกิน 1 เมตร ต้องมีราวบันไดทั้งสองข้าง บริเวณจมูกบันไดต้องมีวัสดุกันลื่น
(หมวด 2 ส่วนที่ 3 ข้อ 24)
 
• บันไดตามข้อ 24 จะต้องมีระยะห่างไม่เกิน 40 เมตร จากจุดที่ไกลสุดบนพื้นชั้นนั้น
 
• บันไดตามข้อ 23 และข้อ 24 ที่เป็นแนวโค้งเกิน 90 องศา จะไม่มีชานพักบันไดก็ได้แต่ต้องมีความกว้างเฉลี่ยของลูกนอนไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร สำหรับบันไดตามข้อ 23 และไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร สำ หรับบันไดตามข้อ 24
 
บันไดหนีไฟ
• อาคารที่สูงตั้งแต่สี่ชั้นขึ้นไปและสูงไม่เกิน 23 เมตร หรืออาคารที่สูงสามชั้นและมีดาดฟ้าเหนือชั้นที่สามที่มีพื้นที่เกิน 16 ตารางเมตร นอกจากมีบันไดของอาคารตามปกติแล้ว ต้องมีบันไดหนีไฟที่ทำด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อยหนึ่งแห่ง และต้องมีทางเดินไปยังบันไดหนีไฟนั้นได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง
 
• บันไดหนีไฟต้องมีความลาดชันน้อยกว่า 60 องศา เว้นแต่ตึกแถวและบ้านแถวที่สูงไม่เกินสี่ชั้น ให้มีบันไดหนีไฟที่มีความลาดชันเกิน 60 องศาได้ และต้องมีชานพักบันไดทุกชั้น
 
• บันไดหนีไฟภายนอกอาคารต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตรและต้องมีผนังส่วนที่บันไดหนีไฟพาดผ่านเป็นผนังทึบก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรที่เป็นวัสดุทนไฟ
 
(บันไดหนีไฟตามวรรคหนึ่ง ถ้าทอดไม่ถึงพื้นชั้นล่างของอาคารต้องมีบันไดโลหะที่สามารถเลื่อนหรือยืดหรือหย่อนลงมาจนถึงพื้นชั้นล่างได้)
 
• บันไดหนีไฟภายในอาคารต้องมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร มีผนังทึบก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรที่เป็นวัสดุทนไฟกั้นโดยรอบ เว้นแต่ส่วนที่เป็นช่องระบายอากาศและช่องประตูหนีไฟ และต้องมีอากาศถ่ายเทจากภายนอกอาคารได้โดยแต่ละชั้นต้องมีช่องระบายอากาศที่เปิดสู่ภายนอกอาคารได้มีพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 1.4 ตารางเมตร กับต้องมีแสงสว่างให้เพียงพอทั้งกลางวันและกลางคืน
 
• ประตูหนีไฟต้องทำด้วยวัสดุทนไฟ มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร สูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร และต้องทำเป็นบานเปิดชนิดผลักออกสู่ภายนอกเท่านั้น กับต้องติดอุปกรณ์ชนิดที่บังคับให้บานประตูปิดได้เอง และต้องสามารถเปิดออกได้โดยสะดวกตลอดเวลา ประตูหรือทางออกสู่บันไดหนีไฟต้องไม่ธรณีหรือขอบกั้น
 
• พื้นหน้าบันไดหนีไฟต้องกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างของบันไดและอีกด้านหนึ่งกว้างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร
 
(หมวด 2 ส่วนที่ 4 ข้อ 27-32)
ที่ว่างภายนอกอาคาร
• อาคารอยู่อาศัย และอาคารอยู่อาศัยรวม ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร (หมวด 3 ข้อ 33)
ที่จอดรถ
• โรงแรมที่มีที่พักตั้งแต่ 30 ห้องขึ้นไป ต้องมีที่จอดรถยนต์ ที่กลับรถ และทางเข้าออกของรถยนต์ไว้ (กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 ข้อ 2 )
• โรงแรมที่มีห้องพักไม่เกิน 100 ห้อง ให้มีที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 10 คัน สำหรับห้องพัก 30 ห้องแรก ส่วนที่เกิน 30 ห้องให้คิดอัตรา 1 คัน ต่อ 5 ห้อง เศษของ 5 ห้องให้คิดเป็น 5 ห้อง
• โรงแรมที่มีห้องพักเกิน 100 ห้อง ให้มีที่จอดรถยนต์ตามอัตราที่กำหนดในวรรคหนึ่งสำหรับห้องพัก 100 ห้องแรก ส่วนที่เกิน 100 ห้อง ให้ติดอัตรา 1 คันต่อ 10 ห้อง เศษของ 10 ห้องให้คิดเป็น 10 ห้อง
ขนาดของที่จอดรถ (ตามกฎกระทรวง 41/2537)
• จอดขนานกับแนวทางเดินรถ หรือทำมุมการจอดน้อยกว่า 30 องศา ให้มีความกว้างกว้าง 2.40 เมตร ยาว 6 .00 เมตร
• จอดตั้งฉากกับแนวทางเดินรถ ให้มีความกว้าง 2.40 เมตร ยาว 5.00 เมตร แต่ต้องไม่จัดเป็นเดินรถทางเดียว
• จอดรถทำมุมมากกว่า 30 องศา ให้มีความกว้าง 2.40 เมตร ยาว 5.50 เมตร
ทางเข้า 6.00 ม. ในกรณี รถเดินทางเดียว กว้าง 3.50 ม. (กฎกระทรวง 17/2517)
รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ IEE
โรงแรมต้องจัดทำรายงานผลกรทบต่อสิ่งแวดล้ม เมื่อพื้นที่อาคารตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป (ประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ ฯ บัญชีลำดับที่ 31) อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บทความ IEEและEIA คืออะไร แล้วเกี่ยวข้องอย่างไรกับธุรกิจโรงแรม?
สำหรับเนื้อหาที่แบ่งปันในบทความนี้ก็จะเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายล้วน ๆ นะคะ ซึ่งมันสำคัญมากที่เราต้องรู้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อให้การออกแบบก่อสร้างโรงแรมของเราถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดและไม่มีปัญหาเวลาที่เรานำแบบแปลนไปขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมค่ะ ฉันหวังว่าเนื้อหาใน www.a-lisa.net นี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้หลาย ๆ ท่านที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมหรือรีสอร์ทขนาดเล็ก สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางเพื่อดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นนะคะ วัตถุประสงค์ที่ฉันลงทุนลงแรงทำเว็บไซต์และนั่งหลังขดหลังแข็งเขียนบทความทั้งหมดนี้ก็เพราะอยากเห็นผู้คนในประเทศไทยของเราสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองได้ ไม่สำคัญว่าธุรกิจจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ แต่สิ่งสำคัญคือการได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า การได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและการได้อยู่กับคนที่เรารักอย่างมีความสุขในพื้นที่ของเราเอง ความสุขก็มีแค่นี้เองค่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
*** กฏกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543)ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊กที่นี่
*** กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม คลิ๊กที่นี่
#เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้คือพลังที่ยิ่งใหญ่
ติดตามบทความของเราทั้งหมดได้ที่
โฆษณา