11 ต.ค. 2019 เวลา 11:10 • ประวัติศาสตร์
กำเนิดภาษาอังกฤษตอนที่ 2/2 (ฝรั่งเศสบุก)
1.
ไม่ได้มีแต่เกาะบริทาเนียเท่านั้นที่โดนไวกิ้งบุก
ประมาณปี ค.ศ. 800 ไปจนถึงปีค.ศ. 1066 เป็นยุคสมัยที่ชาวสแกนดิเนเวีย ที่เรารู้จักกันในชื่อไวกิ้ง เดินเรือลงมาโจมตีชุมชนต่างๆหลายครั้งจนสร้างความหวาดกลัวไปทั่วยุโรป
1
ชุมชนเล็กๆ ตามแม่น้ำเซน (Seine แม่น้ำสายหลักของประเทศฝรั่งเศส) รวมไปถึงเมองปารีสซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่สุดในขณะนั้นก็โดนไวกิ้งบุกหลายครั้งเช่นกัน
ครั้งหนึ่งกองทัพของไวกิ้งด้วยการนำของนักรบที่ชื่อ โรโล (Rollo) บุกไปยังเมืองปารีสอีกครั้ง
Rollo จากซีรีส์ Vikings ใน Netflix (ถ้า Netflix จะกรุณาให้ค่าโฆษณาก็โอนมาได้ที่เลขบัญชี XX-XXXXX ขอบคุณครับ)
ตามตำนานเล่ากันว่าโรโลตัวใหญ่มากจนไม่มีม้าตัวไหนรับน้ำหนักเขาได้ ดังนั้นเขาจึงต้องไปไหนด้วยการเดิน จนมีสมญานามว่า Rollo the Walker
อนุสาวรีย์ของ Rollo ที่แคว้น Normandy
การบุกของไวกิ้งในครั้งนั้นแม้ว่าฝรั่งเศสจะพอสู้ได้แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะ หรือขับไล่ไม่ให้ชาวไวกิ้งลงมาปล้มสดมธ์อีกเรื่อยๆได้
สุดท้ายกษัตริย์ของฝรั่งเศสที่ชื่อ ชาร์ลส์ที่ 3 หรือ Charles the Simple (simple ในที่นี้หมายถึงง่ายๆ เปิดเผย ตรงไปตรงมา) จึงตัดสินใจเจรจาขอสงบศึกและยกดินแดนทางตอนเหนือของฝรั่งเศสให้กับโรโลและพรรคพวกทำมาหากิน
Charles the Simple ของปารีส จากซีรีส์ Vikings ใน Netflix
โดยมีข้อแลกเปลี่ยนใหญ่ๆสองข้อคือ หนึ่งโรโลจะต้องช่วยต่อสู้ป้องกันไม่ให้ไวกิ้งกลุ่มอื่นเข้ามาโจมตีปารีสอีก สองโรโลจะต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์
1
เมื่อดินแดนทางตอนเหนือของฝรั่งเศสกลายเป็นของชาวไวกิ้งหรือ Norseman ดินแดนแถวนั้นต่อมาจึงมีชื่อเรียกว่า นอร์มัน (Normans) หรือแคว้นนอร์มังดี (Normandy) ในปัจจุบัน ลูกหลานของโรโลก็กลายเป็น Duke of Normandy ที่พูดภาษาฝรั่งเศสไป
แต่ก็เป็นฝรั่งเศสแบบนอร์มังดีซึ่งมีคำและสำเนียงแตกต่างไปจากภาษาฝรั่งเศสของปารีสบ้าง
1
บริเวณสีขาวคือฝรั่งเศส สีแดงคือแคว้นนอร์มังดี
2.
ประมาณ 150 ปีผ่านไป…
ในปี ค.ศ. 1066 กษัตริย์เอ็ดเวิร์ด หรือ Edward the Confessor ของเกาะอังกฤษสิ้นพระชนม์ลง
กษัตริย์ Edward the Confessor ซึ่งตอนเด็กเติบโตที่นอร์มังดี เพราะมีแม่เป็นเจ้าหญิงแห่งนอร์มังดี
ด้วยความที่กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดไม่มีรัชทายาทสืบราชบัลลังก์ต่อ ขุนนางคนสำคัญที่ชื่อ แฮโรลด์ ก็อดวินสัน (Harold Godwinson) จึงถือโอกาสตั้งตัวเองขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ต่อไป
เมื่อข่าวนี้เดินทางข้ามทะเลไปถึงแคว้นนอร์มังดีในประเทศฝรั่งเศส วิลเลียม (William, Duke of Normandy) ซึ่งเป็นลื่อ (หมายถึงเป็นลูกของหลานของหลาน) ของโรโลก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เพราะก่อนหน้านั้นสองปี ขุนนางแฮโรลด์ คนนี้เคยเดินทางไปฝรั่งเศส (ไม่มีใครรู้ว่าไปทำอะไร) แล้วจู่ๆ เรือก็อับปางลง
แม้ว่าแฮโรลด์จะรอดชีวิตเข้าฝั่งมาได้แต่ก็ตกเป็นนักโทษของขุนนางฝรั่งเศสคนหนึ่ง
William the Bastard (เพราะเป็นลูกนอกสมรส) หรือที่ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ William the Conqueror มีตำแหน่งเป็น Duke of Normandy
เมื่อวิลเลียม Duke of Normandy ทราบข่าวก็ช่วยเหลือแฮโรลด์ให้พ้นจากการเป็นนักโทษแล้วต้อนรับเขาอย่างดี ในครั้งนั้นวิลเลียมแห่งนอร์มังดีได้ให้แฮโรลด์สาบานว่าจะช่วยสนับสนุนตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดของอังกฤษ
ในภาพ ที่นั่งชี้นิ้วคือ William ส่วนคนที่กางแขนสองข้ามบนศพของเซนต์เพื่อสาบานว่าจะช่วย William ให้ได้เป็นกษัตริย์ของอังกฤษคือ Harold Godwinson
งงไหมครับว่าทำไมจู่ๆ วิลเลียมแห่งนอร์มังดีจึงมาอ้างสิทธิ์เป็นกษัติรย์ของอังกฤษ?
เรื่องมันซับซ้อนนิดนึง คืออย่างนี้ครับ แม่ของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดแห่งอังกฤษนั้นเดิมทีเดียวเป็นเจ้าหญิงแห่งนอร์มังดี (และเป็นเหลนของโรโล) ที่เดินทางมาแต่งกับราชวงศ์อังกฤษ
ดังนั้นถ้านับญาติกันแล้ววิลเลียมแห่งนอร์มังดีจึงมีสายเลือดร่วมกับกษัติรย์เอ็ดเวิร์ดของอังกฤษอยู่บ้าง (และต่างก็สืบสายเลือดไวกิ้งมาจากโรโลทั้งคู่)
หรือจะพูดว่าวิลเลียมแห่งนอร์มันดีเป็นหลานห่างๆ ของกษัติรย์เอ็ดเวิร์ดแห่งอังกฤษก็พอได้ (วันหลังผมจะเล่าเรื่องนี้แยกต่างหากให้ฟัง)
โดยสรุปเราจึงเห็นว่าเมื่อเทียบกับแฮโรลด์ซึ่งเป็นขุนนางและไม่ได้ดองทางสายเลือดแล้ว วิลเลียมก็ถือว่ามีสิทธิ์อันชอบธรรมมากกว่า
กลับมาเข้าเรื่องกันต่อ
3.
เมื่อรู้ข่าวว่าแฮโรลด์หักหลัง วิลเลียมจึงจัดกองทัพเดินทางข้ามทะเลมาบุกเกาะอังกฤษ
ภายในการรบเพียงแค่หนึ่งวันวิลเลียมก็สังหารแฮโรลด์ได้ แล้วตั้งตัวขึ้นเป็นกษัตริย์คนใหม่ของอังกฤษ
Battle of Hasting ซึ่งเป็นการรบครั้งสำคัญที่สุดครั้งนึงในประวัติศาสตร์อังกฤษ
เรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมดนี้สำคัญสำหรับเราตรงที่ว่า กษัตริย์วิลเลียมผู้พิชิต หรือ William the Conqueror คนนี้เกิดและเติบโตในราชสำนักของฝรั่งเศส
1
ดังนั้นเมื่อเขาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ของอังกฤษเขาจึงขนพรรคพวกคนสนิททั้งหลายจากฝรั่งเศสมาทำงานในราชสำนักของอังกฤษด้วย ภาษาที่ใช้ในราชสำนักและภาษาราชการของเกาะอังกฤษจึงเป็นภาษาฝรั่งเศสทั้งหมด
ถึงตอนนี้เกาะอังกฤษจึงมีภาษาที่ใช้หลักๆ อย่างน้อย 3 ภาษาด้วยกัน
กษัตริย์ ขุนนาง ภาษาทางราชการและคนไฮโซทั้งหลายใช้ภาษาฝรั่งเศส
พระนักบวชใช้ภาษาละตินของโรมัน
ส่วนชาวบ้านทั่วไปก็ยังคงใช้ภาษาอังกฤษ (ซึ่งก็คือภาษา Anglo-Saxon ซึ่งเป็นภาษาในตระกูลเยอรมันหรือเจอร์มานิก + ภาษา Old Norse ของไวกิ้ง + ละตินนิดหน่อย + เคลท์ที่แทบจะไม่เหลือแล้ว)
กษัตริย์ นักบวช และชาวบ้านใช้ภาษาคนละภาษา
อย่างไรก็ตามแม้ว่าชนชั้นสูงและพระจะใช้ภาษาที่ต่างไปจากชาวบ้าน แต่เมื่อจะสั่งงานหรือคุยกับชาวบ้านก็ยังต้องใช้ภาษาอังกฤษสื่อสาร
ผลก็คือ ภาษาฝรั่งเศสและละติน (รอบสองจากศาสนาคริสต์) จึงค่อยๆ แทรกซึมปะปนเข้ากับภาษา Old English มากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นภาษาอังกฤษเวอร์ชั่นใหม่ที่ปัจจุบันเราเรียกว่า Middle English
ซับซ้อนไหมครับ? ผมให้พักนิดนึงก่อนจะไปกันต่อ เพราะเรื่องราวจะซับซ้อนขึ้นไปอีกเมื่อเราตั้งคำถามต่อว่า ???
4.
ภาษาฝรั่งเศสมาจากไหน?
เรื่องราวก็กลับไปเริ่มต้นที่โรมันกันอีกครั้งครับ
ในยุครุ่งเรืองของโรมันนั้น กองทัพโรมันสามารถครอบครองดินแดนของยุโรปได้มากมาย ซึ่งก็รวมไปถึงดินแดนส่วนหนึ่งที่เป็นประเทศฝรั่งเศสและสเปนในปัจจุบันด้วย เมื่อโรมันปกครองที่ไหน คนที่นั่นก็ต้องเรียนรู้ที่จะใช้ภาษาละติน
ต่อมาเมื่ออาณาจักรโรมันสลายตัวลง ดินแดนที่เคยอยู่ใต้อำนาจของโรมันก็แตกตัวออกเป็นกลุ่มๆ
เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ภาษาที่ใช้ก็เริ่มเพี้ยนจากกันไปเรื่อยๆ จากภาษาละตินก็กลายเป็นภาษา Vulgar Latin ซึ่งมีความหมายว่า ละตินที่เพี้ยนไป (Vulgar คำนี้ไม่ได้แปลตรงตัวว่าหยาบคาย)
สุดท้ายเมื่อภาษาเพี้ยนต่างกันมากจนถึงจุดหนึ่งก็เกิดเป็นภาษาใหม่ขึ้นมาหลายภาษา ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาโปรตุเกส ภาษาสเปน ภาษาคาตาลัน (หรือบาร์เซโลนา) ภาษาโรมาเนียน ฯลฯ
เนื่องจากภาษาเหล่านี้วิวัฒนาการมาจากภาษาของโรมัน (Roman) เราจึงเรียกภาษาเหล่านี้รวมๆ กันว่า ภาษาตระกูลโรแมนซ์ (Romance)
ประเด็นของเรื่องคืออย่างนี้ครับ
จะเห็นว่าเมื่อวิลเลียมนำภาษาฝรั่งเศสเข้ามาใช้ในประเทศอังกฤษนั้น การเข้ามาของภาษาฝรั่งเศสจึงหมายถึงการนำละติน (ที่เพี้ยนเป็นฝรั่งเศส) กับละติน (ของศาสนาที่ไม่ค่อยเพี้ยน) กลับเข้ามาปะปนกับภาษา Old English (ซึ่งมีภาษาละตินสมัยที่โรมันปกครองอยู่เดิม)
1
ดังนั้นแม้ว่าภาษาอังกฤษจะมีรากที่มาจากตระกูลภาษาเยอรมันโดยตรง แต่ก็มีความเป็นละติน (และฝรั่งเศส) ปนอยู่ไม่ใช่น้อย
แต่ปัจจุบันนี้เชื้อพระวงศ์และขุนนางของอังกฤษใช้ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาฝรั่งเศสดังเช่นกษัตริย์ วิลเลียมผู้พิชิต
5.
คำถามคือ ภาษาราชการของอังกฤษเปลี่ยนจากภาษาฝรั่งเศสมาเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างไร?
จะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องกลับไปคุยประวัติศาสตร์อังกฤษกันอีกสักเล็กน้อย
หลังจากที่วิลเลียมแห่งนอร์มังดีพิชิตเกาะอังกฤษได้ ความเป็นประเทศเอกราชของอังกฤษจึงอยู่ในสภาพอีหลักอีเหลื่อ
คำถามที่สำคัญคือ แล้วตอนนี้ประเทศอังกฤษกับประเทศฝรั่งเศสเป็นอะไรต่อกัน?
ในมุมมองของกษัตริย์อังกฤษ (ที่ยังคงครอบครองดินแดนนอร์มังดีและอื่นๆ ในประเทศฝรั่งเศส) มองว่าตัวเองเป็นกษัตริย์ของประเทศอังกฤษ ดังนั้นควรจะมีฐานะเทียบเท่ากษัตริย์ของฝรั่งเศส
แต่ในมุมมองของกษัตริย์ฝรั่งเศสมองว่าตำแหน่ง Duke of Normandy ขึ้นตรงต่อกษัตริย์ของฝรั่งเศส (ภาษาทางการเรียกว่าเป็น แวสเซิลส์ หรือ vassals ของกษัตริย์ฝรั่งเศส)
ดังนั้นแม้ว่า Duke of Normandy จะเป็นกษัตริย์ของอังกฤษแล้วก็ตาม แต่ก็ควรจะยังอยู่ใต้อำนาจของกษัตริย์ฝรั่งเศส
1
ด้วยมุมมองที่ต่างกันนี้ราชวงศ์ของอังกฤษและราชวงศ์ของฝรั่งเศส จึงแอบเคืองๆ กันอยู่และเป็นอยู่เช่นนี้อีกหลายปี จนวันหนึ่งสงครามที่เรียกว่า Hundred Years’ War ก็อุบัติขึ้น
หนึ่งในการสู้รบในสงครามร้อยปีระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส
เรื่องราวมันเริ่มต้นขึ้นอย่างนี้ครับ
เมื่อกษัตริย์วิลเลียมผู้พิชิตแห่งอังกฤษและแคว้นนอร์มังดี (William the Conquer) สิ้นพระชนม์ลงดินแดนในฝรั่งเศสและอังกฤษก็ถูกแบ่งให้ลูกๆ ของพระองค์
จากนั้นมาลูกหลานก็แย่งชิงดินแดนกันเองบ้าง ไปอภิเษกสมรสกับราชวงศ์ (ซึ่งมีที่ดินมากมาย) ของฝรั่งเศสบ้าง ทำให้สายเลือดราชวงศ์ของอังกฤษและฝรั่งเศสเกี่ยวดองกันซับซ้อนขึ้น ที่ดินในสองประเทศก็ทับซ้อนกันมากขึ้น
ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส (มองในมุมมองของชนชั้นปกครอง) จึงเหมือนประเทศเดียวกันที่ยังงงๆ กับความเป็นตัวของตัวเอง
แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อบัลลังก์ของฝรั่งเศสว่างลงโดยไม่มีรัชทายาทสืบบัลลังก์ต่อ สงครามแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างราชวงศ์ทางอังกฤษและทางฝรั่งเศสก็เริ่มต้นขึ้น
สงครามแย่งชิงบัลลังก์ฝรั่งเศสครั้งนี้จะว่าไปแล้วเรียกว่าสงครามก็ไม่เชิง เพราะเป็นการรบแบบรบๆเลิกๆ บางช่วงก็ไม่ได้รบกันเป็นปีๆ แต่ความขัดแย้งในเรื่องเดิมก็ดำเนินมานานกว่าหนึ่งร้อยปี ทุกวันนี้เราจึงรู้จักสงครามครั้งนั้นในชื่อว่าสงครามร้อยปีหรือ Hundred Years’ War
2
สงครามครั้งนั้นผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะจนสุดท้ายสิ้นสุดลงแบบงงๆ โดยไม่รู้ว่าใครแพ้หรือใครชนะชัดเจน เพราะต่างฝ่ายต่างก็หมดแรง หมดเงินจะต่อสู้กัน
1
แม้ว่าราชวงศ์อังกฤษจะสูญเสียที่ดินซึ่งเคยปกครองในประเทศฝรั่งเศสไปจนเกือบหมดสิ้น (มองในแง่นี้ก็ถือว่าฝรั่งเศสชนะ)
แต่ราชวงศ์อังกฤษก็สามารถสลัดตัวเองหลุดจากอำนาจของราชวงศ์ฝรั่งเศสอย่างสิ้นเชิงเช่นเดียวกัน (มองในแง่นี้ถือว่าอังกฤษชนะ)
นี่ยังไม่นับรวมที่ประชาชนของฝรั่งเศสเสียชีวิตจากผลของสงครามไปประมาณครึ่งประเทศที่เป็นเช่นนั้นเพราะการรบเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส (มองในแง่นี้ก็ถือว่าอังกฤษชนะ)
แต่ที่แน่ชัดคือ สงครามที่รบกันอย่างยาวนานนี้ ทำให้ประเทศทั้งสองต่างฝ่ายต่างก็อยากจะมีอัตลักษณ์ของตัวเองที่ไม่เหมือนกันอีกต่อไป
และเมื่อสงครามยุติลงอังกฤษและฝรั่งเศสจึงกลายเป็นคนละประเทศไปอย่างถาวร อังกฤษเลิกใช้ภาษาและวัฒนธรรมของฝรั่งเศสแล้วนำภาษาอังกฤษ Middle English (ที่มีรากดั้งเดิมมาจาก Anglo-Saxon) กลับมาใช้เป็นภาษาราชการอีกครั้ง
6.
ภาษาอังกฤษยังไม่ได้สิ้นสุดอยู่เพียงแค่ Middle English เท่านั้น แต่เหมือนทุกภาษาในโลกคือ ภาษามีการวิวัฒนาการของมันไปเรื่อยๆ ตามยุคสมัย
1
จาก Middle English เมื่อมีการนำแท่นพิมพ์มาใช้พิมพ์หนังสือเป็นครั้งแรกก็ต้องมีการกำหนดมาตรฐานการสะกดขึ้นมาใหม่ (ใครสนใจว่าแท่นพิมพ์เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลกได้อย่างไร ดูได้จากที่ผมเล่าไว้ใน YouTube จะแปะลิงก์ไว้ให้ด้านล่างบทความครับ) ภาษาก็วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค Early Modern English ที่วิลเลียม เชกสเปียร์ใช้ (แม้ว่าจะ Modern แต่เราอ่านก็ยังไม่เข้าใจ) แล้วก็กลายมาเป็นภาษาอังกฤษที่เราคุ้นเคย
1
ต่อมาเมื่อ Britain สร้าง British Empire และนำภาษาอังกฤษไปใช้ในทั่วทุกทวีปของโลก ภาษาอังกฤษเมื่อไปที่ไหนก็จะวิวัฒนาการต่อเพื่อให้เหมาะกับการสื่อสารในสิ่งแวดล้อมใหม่ เกิดเป็น American English, Canadian English, Australian English, New Zealand English, South African English, Singlish ที่ใช้กันในสิงค์โปร์ และอื่นๆ อีกมาก
มีคำศัพท์ภาษาอังกฤษใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในหลายแห่งทั่วโลกและมีหลายครั้งที่คำศัพท์ใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นในต่างแดนเดินทางกลับมาผนวกเข้ากับภาษาอังกฤษในเกาะแม่อีกครั้ง เช่น คำว่าบังกะโลจากอินเดีย หรือบูมเมอแรงจากออสเตรเลีย เป็นต้น
1
7.
โดยสรุปทั้งหมดที่คุยกันมาเราจะเห็นได้ว่าภาษาอังกฤษที่เรารู้สึกว่าเป็นภาษาเดียวนั้น จริงๆ แล้วเป็นเหมือนขนมเปี๊ยะที่สอดไส้ภาษาอื่นๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นไส้ละตินของโรมัน ไส้เยอรมันหรือเจอร์มานิกแบบ Anglo-Saxon ไส้ Old Norse ของไวกิ้ง (ซึ่งจริงๆ ถ้าย้อนกลับไปในอดีตก็ถือเป็นสายหนึ่งของภาษา Germanic เช่นกัน) ไส้ภาษาฝรั่งเศส (ซึ่งก็คือละตินแปลงร่างอีกที) อ้อ แล้วก็อาจจะยังมีเคลท์ปนเปื้อนอยู่เล็กน้อย
นอกจากนั้นเมื่อภาษาอังกฤษถูกใช้ไปเรื่อยๆ ก็มีการวิวัฒนาการเปลี่ยนไป มีการยืมคำใหม่ ลืมคำเก่า คิดคำเอง เกิดขึ้นตลอดเวลา ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาที่มีความแปลกสะสมไว้มากมาย
แต่ภายใต้ความแปลกนั้น กลับมาประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจซ่อนอยู่ให้เราได้ค้นหา ...
1
(Ads)
ชอบเรื่องราวแบบนี้ อย่าลืมอ่านหนังสือ ทำไมเราเลี้ยง pig แต่กิน pork และ ทำไมแฮมเบอร์เกอร์จึงไม่มีแฮม
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์
อ่านบทความประวัติศาสตร์อื่นๆเพิ่มเติมได้ที่
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
คลิปวีดีโอ เล่าว่าแท่นพิมพ์เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลกได้อย่างไร https://www.youtube.com/chatchapolbook
เพิ่งเริ่มทำนะครับ ช้านิดแต่จะมีคลิปใหม่ๆตามมาอีกแน่นอน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา