11 ต.ค. 2019 เวลา 06:03 • ไลฟ์สไตล์
ท่ายืนที่ดี ยืนอย่างไร?
ท่าทางที่ดีบ่งบอกถึงสุขภาพของร่างกายส่วนต่างๆ ทั้งข้อต่อ กล้ามเนื้อ กระดูก การไหลเวียนเลือด และมีความสำคัญต่อความเชื่อมั่นในตัวเอง ท่าทางที่ดีคือการควบคุมร่างกายให้อยู่ในท่านั่ง ยืน เดิน แม้กระทั่งท่าพัก เป็นอย่างดี โดยไม่ทำให้เกิดความเครียดต่อกล้ามเนื้อและเอ็น
ท่ายืนที่ไม่ถูกต้อง ที่พบได้บ่อยได้แก่
1.ก้นยื่นออกมาหรือหลังส่วนล่างแอ่นอย่างเด่นชัด เรียกว่ามีภาวะ Hyperlordosis มักจะพบในผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูง คนที่มีหน้าท้องใหญ่มาก และในผู้หญิงตั้งครรรภ์
2.หลังแบน (flat back) หมายถึงสะโพกถูกดึงเข้าด้านใน และหลังส่วนล่างเป็นแนวตรงแทนที่จะโค้งตามธรรมชาติ ทำให้ต้องก้มตัวไปข้างหน้า คนที่มีหลังแบนมักจะยืนหรือนั่งเป็นเวลานานไม่ได้ และมีแนวโน้มที่จะทำให้ก้มคอไปข้างหน้าซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อคอและหลังส่วนบนตึงได้
3.ยืนลงน้ำหนักขาข้างเดียว ซึ่งเป็นท่าที่รู้สึกสบายเมื่อยืนระยะสั้นๆ แต่ท่านี้ทำให้น้ำหนักกดลงบนหลังส่วนล่างและสะโพกข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป เมื่อยืนในท่านี้บ่อยๆและเป็นเวลานานอาจทำให้กล้ามเนื้อรอบๆสะโพกทำงานไม่สมดุล ซึ่งอาจทำให้ปวดหลังและก้นได้
สาเหตุอื่นของการลงน้ำหนักที่สะโพกไม่สมดุล คือการแบกเป้สะพายหลังหนัก ๆ ไว้บนไหล่ข้างหนึ่งและผู้ปกครองที่อุ้มเด็กไว้ที่สะโพกข้างเดียว
4.ไหล่ห่อ (Rounded shoulders) สังเกตได้โดยยืนหน้ากระจกและปล่อยแขนตามธรรมชาติ หากมือมาอยู่ด้านหน้า แสดงว่ามีไหล่ห่อ ซึ่งภาวะนี้เกิดจากกล้ามเนื้อส่วนหน้าอกหดสั้น และกล้ามเนื้อหลังส่วนบนอ่อนแรง สาเหตุของท่ายืนไหล่ห่อมักเกิดจากพฤติกรรมในการทรงท่าที่ไม่ดี กล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุล รวมถึงการเน้นการออกกำลังกายมากเกินไปโดยเน้นความแข็งแรงของหน้าอกมากเกินไปในขณะที่ละเลยการออกกำลังหลังส่วนบน
การปรับท่ายืนให้ถูกต้อง โดยใช้หลักการ“ยืนให้สูง” ด้วยการยืดศีรษะขึ้นด้านบน เก็บคาง ศีรษะอยู่ในแนวตรงไม่เอียง ก้มหรือยื่นไปด้านหน้า ใบหูอยู่ในแนวเดียวกับกึ่งกลางไหล่ หลังตรง เข่าตรง(ไม่ล็อค)
ปล่อยแขนอยู่ข้างลำตัวอย่างผ่อนคลาย กางขากว้างเท่าช่วงไหล่ น้ำหนักตัวอยู่ตรงกลางฝ่าเท้าทั้งสองข้างอย่างสมดุล ถ้ายืนเป็นเวลานานให้ถ่ายน้ำหนักสับจากเท้าข้างหนึ่งไปอีกข้างหนึ่ง
วิธีการตรวจสอบท่ายืนอย่างง่าย โดยยืนพิงกำแพงให้ไหล่และก้นสัมผัสกำแพง ด้านหลังศีรษะควรสัมผัสกับผนังเบาๆ ขณะยืนตรวจสอบแล้วเกิดความรู้สึกไม่สบาย อาจเกิดจากการจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อต่อ เอ็น หรือกล้ามเนื้อ
โฆษณา